ไม่พบผลการค้นหา
ไทยพร้อมเป็นสมาชิก OECD นายกฯ ย้ำจุดยืนของไทยในการประชุมคณะกรรมการด้านกฎหมาย OECD มุ่งพัฒนาคุณภาพกฎหมายตามมาตรฐานสากล พร้อมสนับสนุนการใช้ OECD Regulatory Policy Outlook ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

วันนี้ (9 เมษายน 2568) เวลา 18.30 น. (ซึ่งตรงกับเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส 13.30 น.) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาผ่านบันทึกวีดิทัศน์ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายด้านกฎหมายขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ภายใต้หัวข้อ “ความสำคัญของการพัฒนากฎหมาย” เพื่อแสดงจุดยืนและความตั้งใจของไทยในการดำเนินกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD และสนับสนุนการเปิดตัวรายงานนโยบายด้านกฎหมายของ OECD (OECD Regulatory Policy Outlook) ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยสรุปสาระสำคัญของปาฐกถา ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเปิดตัวรายงานนโยบายด้านกฎหมายของ OECD ในวันนี้ พร้อมชื่นชม OECD ที่สามารถคงบทบาทนำในการส่งเสริมแนวปฏิบัติด้านการกำกับดูแลที่ดี ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ นวัตกรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก โดยไทยยอมรับมาตรฐานและแนวทางของ OECD ซึ่งช่วยปรับนโยบายให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าสภาพแวดล้อมการกำกับดูแลจะสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ดึดดูดการลงทุน และนำมาซึ่งผลประโยชน์ให้กับประชาชนไทย ตลอดจนช่วยให้ไทยพร้อมรับมือกับความท้าทายในระดับโลก และส่งเสริมบทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยยึดมั่นต่อการดำเนินการตามคำแนะนำของ OECD ในเรื่องนโยบายกฎระเบียบและธรรมาภิบาล (2012 Recommendation of the Council on Regulatory Policy and Governance) และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตามคำแนะนำของ OECD ต่อไป โดยไทยจะส่งเสริมความร่วมมือกับ OECD ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และมุ่งมั่นเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ซึ่งจะสนับสนุนไทยในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญกับประเทศสมาชิกมากขึ้น ตลอดจนช่วยปรับปรุงนโยบายของไทยและการรับมือกับความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณถึงนานาชาติว่า ไทยมุ่งมั่นส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงรายงานนโยบายด้านกฎหมาย ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มของโลก แนวปฏิบัติเชิงนวัตกรรม และแนวทางแก้ไขเชิงปฏิบัติเพื่อปรับปรุงระบบการกำกับดูแล โดยสำหรับไทย รายงานดังกล่าวเป็นทั้งมาตรฐานและแผนงานในการปรับปรุงและนำเสนอนโยบาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ในโลกที่มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทำให้ความสอดคล้องของกฎระเบียบมีความสำคัญต่อการค้า การลงทุน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งรายงานนี้จะเป็นเครื่องมือและความรู้ที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจที่มองไปข้างหน้าและปรับตัวได้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณ OECD สำหรับรายงานดังกล่าว พร้อมหวังว่าไทยจะได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้ เพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาของประเทศ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำความมุ่งมั่นของไทยต่อหลักความเป็นเลิศด้านการกำกับดูแล (Regulatory Excellence) และความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการเปิดตัวรายงานนโยบายด้านกฎหมายของ OECD จะเป็นโอกาสสำคัญในการทบทวนความก้าวหน้า แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับประเทศสมาชิก และกำหนดเป้าหมายสำหรับอนาคต โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณ OECD และพันธมิตร สำหรับความร่วมมือและการมีบทบาทนำ เพื่อร่วมกันสร้างระบบการกำกับดูแลที่ขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรือง ความเสมอภาค และความยั่งยืนสำหรับทุกคน