"เชื่อว่าผ่านวาระแรก ขึ้นอยู่กับกระแสเรียกร้องบนถนนด้วย สมมติมีการชุมนุมใหญ่แล้วคนมาเยอะขึ้น แล้วเขาไม่ทำอะไรเลย หรือถ้าหากตรงกันข้ามไม่มีการชุมนุมใหญ่ๆ แล้ว ก็เป็นไปได้ว่าเขาจะถูกถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ ถ้าหากกระแสเรียกร้องยังอยู่ก็อาจเป็นไปได้ ส.ว.จะรับวาระแรกไปก่อน 250 คนรับไปก่อนก็เข้าสู่วาระที่สองและสาม จะผ่านหรือเปล่าก็ขึ้นอยู่กับกระแสเรียกร้องเช่นกัน"
'ยิ่งชีพ อัชฌานนท์' ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งอยู่กับไอลอว์มา 10 กว่าปี เด็กหนุ่มผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ถึงเกมการเมืองในรัฐสภา ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในญัตติแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลที่ผลักดันจนบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้
'ยิ่งชีพ' ยังถือเป็นแกนนำรวบรวมรายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยชูแคมเปญ 'ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ'
เว็บไซต์ของไอลอว์ ได้ระบุถึงจุดประสงค์ของการเข้าชื่อประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองเข้าสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น ใจกลางของปัญหามาจากโครงสร้างที่รัฐธรรมนูญ 2560 วางเอาไว้เพื่อสืบทอดอำนาจให้กับคณะรัฐประหาร
"หนทางที่จะรื้อถอนอำนาจของระบอบ คสช. และสร้างโอกาสเพื่อกลับสู่ประชาธิปไตย เพื่อหาทางออกให้กับความขัดแย้งจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเท่านั้น โดยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอหนทางครั้งนี้ได้"
'ยิ่งชีพ' ระบุว่า ตามกฎหมายให้ 50,000 ชื่อ แต่เวลายื่นตามกฎหมายอาจต้องนำไปสู่การตรวจสอบความถูกต้อง ดังนั้นต้องเกิน 50,000 ชื่อ หรือ 55,000 คนก็พอ น่าจะพอ เกินไม่เสียหาย ถ้าได้ 60,000-100,000 คนก็ยิ่งดี
เขาบอกว่าผลตอบรับการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญดีมาก โดยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ และมีนักศึกษามาเช้าชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารทางการเมืองอยู่แล้ว และรู้ว่าตั้งโต๊ะอยู่ตรงไหน ล่าสุดขาดอีก 4,000 กว่ารายชื่อเท่านั้นก็จะถึงเกณฑ์ 50,000 รายชื่อ
"หากร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนเสนอไป ถูกตีตก หรือถูกทำให้ช้า อันนี้จะเป็นความไม่เป็นธรรมมากๆ ก็ฝากคนที่อยู่ในสภา หากทราบว่าเราจะมาแล้ว 50,000 ชื่อก็จะมาแล้วในเดือน ก.ย. แต่เพียงอาจตรวจสอบไม่ทัน ก็รอสักหน่อย หรือพิจารณาร่างของ ส.ส.ไปก่อนแล้วเมื่อร่างของภาคประชาชนตรวจสอบเอกสารเสร็จเอาเข้าสภาได้ ก็ค่อยเอาเข้ามาผนวกรวมพิจารณาไปพร้อมกัน ถ้าเกิดเห็นความสำคัญ คุณค่าของภาคประชาชนที่เข้าชื่อกันมา"
ถามว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ ควรรอร่างของภาคประชาชนก่อนหรือไม่ 'ยิ่งชีพ' ระบุว่า ในทางกฎหมายไม่มีอะไรบอกต้องรอ แต่ในทางปฏิบัติการพิจารณาของรัฐสภาก็อาจนำร่างกฎหมายที่คล้ายกันมาพิจารณาไปพร้อมกันเพื่อทำให้มันง่าย ถ้าจำเป็นก็ควรต้องรอ แต่หากในทางปฏิบัติยกเว้นกันได้ว่าต้องรับร่างของ ส.ส.ไปก่อน
"วันหน้าร่างของภาคประชาชนมาก็ต้องโหวตรับอีกวาระหนึ่งแล้วไปรวมทีหลังก็ได้เหมือนกัน ทำแบบนี้ก็ได้ ถ้าคุณทำแบบนี้ คุณก็รับร่างของ ส.ส.ไปก่อนก็ได้ แต่ถ้ารับร่าง ส.ส.ไปแล้ว แล้วไม่รับร่างของภาคประชาชนอันนี้ก็ไม่ได้ ถือว่าไม่เห็นคุณค่าของเสียงที่เข้าชื่อมา"
ด้วยกระแสเรียกร้องจากภาคประชาชนคนหนุ่ม-สาว คนรุ่นใหม่นอกรัฐสภา กดดันให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายให้รัฐสภายกเลิกอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ภายในเดือน ก.ย.นี้
ผนวกกับกระแสโค้งสุดท้ายก่อนถึงการชุมนุมใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 ก.ย. 2563 ภายใต้ชื่อ "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร"
ผู้จัดการไอลอว์ ระบุว่า ถ้ารัฐบาลนี้จริงใจจะแก้ไขรัฐธรรมนูญคงทำไปนานแล้ว แต่ไม่มีความจริงใจ แต่กระแสที่ชอบธรรมมากๆ ก็คือ การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วถ้าเกิดว่าถ้ารัฐบาลนิ่งเฉย ไม่รับฟัง แล้วไม่ตอบรับข้อเสนอของการชุมนุมเลย การชุมนุมก็คงเดินต่อไปแล้วมีแนวโน้มที่คนจะโกรธมากขึ้น และลงถนนกันมากขึ้น
"ก็อาจเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะทำอะไรเพื่อลดกระแสเรียกร้องบนท้องถนน ประชาชนคงไม่ได้ไม่มีความรู้ หากสิ่งที่รัฐบาลเสนอต่ำกว่าประชาชนที่เรียกร้อง ก็คงต้องเรียกร้องกันต่อไป หากเขาจะเสนออะไรมาเพื่อลดกระแสก็อาจไม่สำเร็จ แต่อาจทำให้คนโกรธมากขึ้นด้วย" ยิ่งชีพ ระบุ
เขาระบุด้วยว่าในทางปฏิบัติสามารถดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งด่วนเพื่อยกเลิก ส.ว. 250 คนตามบทเฉพาะกาลได้ โดยเห็นว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้ เพราะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เพียงพรรคเดียวก็สามารถเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แล้วเสนอต่อประธานรัฐสภา
"วิธีการไม่ต้องพิจารณารายละเอียดเยอะ ยกเลิกมาตรา 269 ยกเลิกมาตรา 272 ไม่กี่มาตรา ไม่ต้องตั้งกรรมาธิการเพื่อวินิจฉัยทีละคำ ก็แค่ยกเลิก 2 มาตราเพียงแค่ตัดทิ้ง 2 วันก็น่าจะเสร็จแล้ว ถ้าเขาจะทำ แต่ถ้าจะทำ ส.ว.ก็ต้องยกมือโหวตด้วยให้ตัวเองออกจากตำแหน่ง"
ถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ ส.ว.เกินกว่า 84 เสียงจะยกมือโหวตให้ตัวเองพ้นจากอำนาจ 'ยิ่งชีพ' บอกว่า "ผมไม่แน่ใจทางการเมืองทำอย่างไร แต่เคยเห็นในประวัติศาสตร์สมัยการชุมนุมขับไล่ คุณทักษิณ ชินวัตร เราจะเห็นคนที่เคยอยู่กับคุณทักษิณ เช่น คุณวิษณุ เครืองาม หลายๆคน ก็แตกตัวลาออกไม่ทำงานให้รัฐบาลที่ถูกประชาชนไล่แล้ว หรือช่วงที่ไล่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ต่อมาคนอยู่ในพรรคพลังประชาชน คือกลุ่มคุณเนวิน ชิดชอบ ก็ย้ายออกไปสนับสนุนคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกฯ ก็ย้ายขั้ว"
"ประวัติศาสตร์ไทย ข้างนอกเรียกร้องถ้าคนข้างในอยู่ที่เดิมจะสูญเสียความชอบธรรม ก็ย้ายไปตามเสียงเรียกร้องของประชาชน ไม่รู้เป็นไปได้ไหม ไม่รู้มีผลประโยชน์หรือไม่ แต่การเมืองเปลี่ยนแปลงได้ คุณเปลี่ยนใจอ่ะ เดิมเคยเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ไม่ได้ก็เลือกคนอื่น ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.ด้วย"
สำหรับประเด็นหลักที่ภาคประชาชนนำโดย 'ไอลอว์' จะยื่นร่างรัฐธรรมนูญ มีประเด็นที่จะยกเลิกนายกฯ คนนอก ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูปประเทศ ยกเลิกการรับรองอำนาจและการนิรโทษกรรมให้กับ คสช. ยกเลิกที่มาและอำนาจของ ส.ว.ชุดพิเศษของ คสช.
ยกเลิกที่มาของผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่ได้จากการเลือกตั้ง แก้ไขที่มาขององค์กรอิสระและให้มีการสรรหาใหม่ แก้ไขหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
"ถ้าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. แล้วจะตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ รัฐบาลยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ มี ส.ว. 250 คนอยู่ในมือ มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีองค์กรตรวจสอบทั้งหลายที่ไม่ทำงานอยู่ในมือเขาหมดเลย มันก็คงเป็นกระบวนการจัดตั้ง ส.ส.ร.ใหม่ที่ไม่ปกติ คิดดูถ้ามีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ยังมี กกต. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเดิมมันก็จะเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.ร. แปลกๆ เหมือนปี 2562 รวมถึงบรยากาศทางการเมือง เมื่อมี ส.ส.ร.มาแล้วมานั่งในห้องประชุมลงมติกันอยากจะเขียนแบบไหน ก็คงเป็นบรรยากาศที่ถูกควบคุมด้วยอำนาจของ คสช. เช่นเดิม"
ทำให้ภาคประชาชนที่นำโดย 'ไอลอว์' จึงเข้าชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ โดยเบื้องต้นจะยังไม่ต้องเลือกตั้ง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่จนกว่าจะรื้อถอนร่างรัฐธรรมนูญระบอบ คสช.ให้ได้ก่อน
ข้อเสนอของ 'ไอลอว์' จึงเป็น 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกรื้อก่อน โดยต้องรื้ออำนาจระบอบ คสช. ทั้ง ส.ว. ทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องรื้อก่อนแล้วค่อยๆ สร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย ส่วนวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะเลือกอย่างไรต้องมาออกแบบในรายละเอียด แล้วค่อยร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในบรรยากาศทางการเมืองปกติกว่านี้
"ถ้าหากเรามี ส.ส. 100 คน เราก็ทำเอกสารส่งเมื่อไหร่ก็ได้ ทำเป็นสองขั้นตอนก็ดี รื้อระบอบ คสช. แล้วค่อยแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. เพราะการแก้ไขมาตรา 256 เป็นข้อเสนอที่ต้องแก้และทำประชามติก่อน ถ้าเดินประชามติภายใต้ คสช.ยังควบคุมอยู่เราก็อาจจะเห็น ประชามติแปลกๆอีกก็ได้ ดังนั้นต้องรื้อระบอบ คสช. ออกไปก่อนแล้ว ค่อยจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่"
สำหรับท่าทีของ ส.ว.บางส่วนที่ตั้งกลุ่ม 60 ส.ว.สายอิสระ และมีท่าทีบางส่วนที่เห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น 'ยิ่งชีพ' มองท่าทีของ ส.ว.ดังกล่าวว่า "แปลกๆ ไม่ดี ผมคิดว่าหลายคนที่ออกมาพูดก็พูดเพื่อตัวเอง พูดในจุดยืนของตัวเองก็รู้ว่า ถ้าหากไม่พูดเลยก็จะอยู่ลำบาก เขาอาจจะกลับบ้านแล้วเจอลูก ลูกก็จะด่า หรือเจอพี่น้อง เดินไปตลาด โดนคนก่นด่า เขาอาจจะพูดอะไรบ้างเพื่อลดกระแส แต่คงเป็นการพูดในนามส่วนบุคคล ตอนก่อนเลือกนายกฯ มีส.ว.ออกมาพูดว่าการให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ไม่ถูกต้องชอบธรรม แต่ก็โหวตสุดท้ายอยู่ที่เขาจะโหวตอะไร ผมคิดว่าไม่ต้องใส่ใจมากนัก"
ทว่าภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 'ยิ่งชีพ' ก็ยังไม่วางใจในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ มากนัก
"วางใจไม่ได้เลย โอกาสไม่ได้แก้มีอยู่เยอะมาก โอกาสที่รัฐบาลจะพยายามเล่นเกมเหมือนจะแก้แต่ไม่แก้ ก็มีอยู่เยอะมาก เราเห็น 1 ปีมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ถ่วงเวลา แล้วใครทำตามข้อเสนอ ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะทำตามไหม แต่มีกระบวนการเล็กๆ เพื่อลดกระแสสังคม จึงยังไว้ใจไม่ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้น"
ถามว่าหากมีการยุบสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ 'ยิ่งชีพ' บอกว่าจะแปลกมาก เพราะจะมีการเลือกตั้งที่แปลกๆ เหมือนปี 2562 ถ้ายุบสภาก็จะวัดกันว่าแต่ละพรรคการเมืองที่ลงสมัครจะเสนอว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นอีกสนามที่ได้ลองดูคนที่อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเยอะแค่ไหน ยุบสภาเสร็จ ส.ว.ก็ยังเลือกนายกฯ อยู่ เป็นคนนี้แหละ (พล.อ.ประยุทธ์)
ถ้าพูดต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ได้จะสื่ออะไรถึง พล.อ.ประยุทธ์ ผู้จัดการไอลอว์นิ่งคิดและตอบว่า "ไม่มีอะไร ก็ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าเหนื่อย พล.อ.ประยุทธ์ก็ควรพักได้แล้ว บางทีก็ชอบอ้างว่าจำเป็นต้องเข้ามา เพราะปี 2557 มีเหตุจำเป็น แต่ตอนนี้ไม่มีเหตุจำเป็นแล้วก็ไปพักได้แล้ว"
เมื่อถามว่า ถ้าให้พูดถึง ส.ส.ฝ่ายค้านนาทีนี้ 'ยิ่งชีพ' บอกว่าความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ตนได้โตขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2548-2549 เหตุผลหลักๆ คือพื้นที่ในรัฐสภาไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชน และรัฐสภาไม่ได้ทำหน้าที่ต่อรองผลประโยชน์หรือว่าความต้องการที่ประชาชนอยากจะเห็นได้ พอรัฐสภาทำหน้าที่นั้นไม่ได้อาจถูกครอบงำโดยกลุ่มอิทธิพลในพรรค ผู้ใหญ่ในพรรคหรือใครก็แล้วแต่ แต่ว่า ส.ส.ไม่ได้เป็นตัวแทนเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน กระบวนการแก้ปัญหาในประเทศจึงเดินหน้าไม่ได้
"วันนี้ประชาชนต้องการอย่างหนึ่ง แต่สภาฯ ดูเกมการเมืองแล้วเอาอีกแบบหนึ่ง แต่คนที่เราโหวตไม่ได้โหวตไว้ตามหาเสียงแต่แรก ทำให้คนอึดอัดไม่มีตัวแทนไม่นำไปโหวต ตัวแทนในสภาฯ ไม่สะท้อนจำนวนคนที่คิดภายนอก คนก็ต้องลงถนน มีการชุมนุมแบบนี้เรื่อยมาเรื่อยไป ถ้าหากว่า ส.ส. นักการเมืองไม่พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นตัวแทนประชาชนได้จริงๆ แต่ว่าไปโหวตตามนายทุนพรรค ไปโหวตตามเจ้าของพรรค หรือโหวตตามเกมการเมืองปัจจุบัน ต่อรองกัน มันก็ขัดแย้งอยู่อย่างนั้น แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ได้ชุดใหม่ก็เดินขบวนอีก อยู่ที่ว่าคุณจะกล้าทำตามที่คุณปราศรัยไว้ก่อนเลือกตั้งอย่างแข็งกร้าวหรือเปล่า หรือเล่นเกมเพื่อให้คุณอยู่รอดอยู่ในตำแหน่งได้นาน"
'ยิ่งชีพ' ยังระบุถึง ส.ว. 250 คนที่คลอดโดย คสช.จะปลดล็อกวิกฤตขัดแย้งทางการเมืองได้ว่า ส.ว. 1 คนจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างก็ลำบากต่อให้งดออกเสียง หรือโหวตอีกทางก็อาจจะไม่ชนะก็ได้ อาจถูกคุกคามกดดันมา แต่ถ้าละอายแก่ใจ รู้ว่าตัวเองไม่มีความชอบธรรมในการรับเงินเดือนแสนกว่าบาท พร้อมผู้ช่วยอีกหลายคนก็ลาออกแค่นั้นเอง
"รู้ว่าอยู่ไปคนก็ด่า ตัวเองก็ทำอะไรไม่ได้เป็นมือเป็นไม้ให้เขา ถ้าคุณลาออกเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ถูกต้องก็ลาออกไปซะ"
ยิ่งชีพ ยังบอกว่าไม่แน่ใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ ที่จะเปิดทางให้มีการตั้ง ส.ส.ร. เพราะหากตั้งสำเร็จก็จะเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ว่า ส.ส.ร.ชุดที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเป็นชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
ภายในก่อนวันที่ 23-24 ก.ย. คนทั้งประเทศก็จะได้เห็นภาคประชาชนนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 50,000 ชื่อเข้าสู่รัฐสภา!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง