ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยยาวไม่น้อยกว่า 2 ปี แม้จะเริ่มเห็นบวกในปี 2564 แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ชี้ม็อบกระทบเชื่อมั่น-ลงทุน-ท่องเที่ยว

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การขยายตัวเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปติดลบทุกไตรมาส ต่อเนื่องถึงปี 2564 ที่ไตรมาสแรกยังติดลบ เป็นครั้งแรกที่จะเห็นรายไตรมาสเป็นบวกเทียบปี คือไตรมาส 2/2564 เศรษฐกิจฟื้นแต่จะฟื้นช้า ๆ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง

"จะให้ระดับจีดีพีกลับมาก่อนโควิด คงไม่เห็นจนกระทั่งไตรมาส 3/2565 สื่อว่าเรื่องการฟื้นตัวไม่มาเร็ว ใช้เวลานาน และสุดท้ายการฟื้นตัวเหล่านี้จะมีความไม่แน่นอนสูงมาก" เศรษฐพุฒิ กล่าว

ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า จะมีการระบาดของโควิด-19 รอบสองหรือไม่ วัคซีนมาเมื่อไหร่ นักท่องเที่ยวจะมาเมื่อไหร่ ไม่มีใครรู้ แม้จะมีการประเมินได้เป็นการทั่วไป แต่คำถามยังไม่มีคำตอบชัดเจน ทำให้ความไม่แน่นอนมีอยู่สูงมาก ตรงนี้เป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้หลายกิจกรรมที่ควรเกิด ไม่เกิด ทุกคนอยู่ในโหมดรอคอย

S__3301758.jpg

ส่วนสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในหลายพื้นที่ต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรต้องตามดูว่าจะลากยาวแค่ไหน แต่แน่นอนว่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงกระทบความสามารถในเรื่องของการจัดการม็อบด้วย แต่สิ่งที่ ธปท. ให้ความสำคัญที่สุด คือการจัดการปัญหา โดย ธปท. จะต้องเป็นที่พึงทางใจในด้านเศรษฐกิจ เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ ในฐานะที่เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ ได้วางโจทย์สำคัญ 5 เรื่อง คือ 1. แก้วิกฤติหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติ และฟื้นตัวได้ 2. รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ 3. รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ให้โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้วิกฤติโควิด-19 และได้เน้นย้ำในข้อที่ 4. คือการสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ว่า ธปท. จะเป็นหนึ่งในองค์กรทีประชาชนเชื่อมั่นที่สุด ภายใต้แนวคิด คิดรอบ ตอบได้ และ 5. พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานของ ธปท. ที่มุ่งผลสำฤทธิ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :