ไม่พบผลการค้นหา
ครบรอบ 67 ปี เหตุการณ์โยนบก 'จิตร ภูมิศักดิ์' ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักคิดนักเขียนด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ ผู้ท้าทายต่อชนชั้นปกครอง เจ้าของวรรณกรรม "โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน"

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงาน '90 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์' แลกเปลี่ยนความเห็นต่อเรื่องสิทธิมนุษยชนและการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความเห็นต่าง พร้อมการแสดงดนตรีจากชมรมดนตรีสากล คณะอักษรศาสตร์ 

งาน จิตร ภูมิศักดิ์_201028_2.jpg


ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ถือเป็นบุคลากรคนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครั้งหนึ่งนักวิชาการต่างประเทศเคยเปรยกับตนว่า 100 ปี อาจจะมีคนอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์เกิดในสยามเพียง 1 หรือ 2 คน อีกหนึ่งบทบาทคือการปฏิวัติแวดวงวรรณกรรมตนเห็นว่าคุณค่าของหนังสือโฉมหน้าศักดินาในปัจจุบัน เรียกได้ว่าอมตะเรื่อยมาให้คนพูดถึงชนชั้นปกครองจนถึงปัจจุบัน 

งาน จิตร ภูมิศักดิ์_201028_1.jpg


ทั้งนี้ตัวแทนสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์ ได้อ่านประกาศขอโทษจิตร ภูมิศักดิ์ ว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาผลงานของจิตร ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรือบทเพลงต่างสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของประเทศไทย และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จิตร ภูมิศักดิ์ ต้องได้รับคำขอโทษจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะตลอด 67 ปีที่ผ่านมาไม่เคยมีคำขอโทษแต่อย่างใด ตนขอเป็นตัวแทนกล่าวขออภัยทุกการกระทำที่โหดร้ายป่าเถื่อนบนพื้นที่แห่งนี้

ElaTQXAVMAE0KoB.jpg

ต่อมาเข้าสู่ช่วงเสวนาหัวข้อ 'สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน' มี สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองกรค์ฮิวแมนไรท์วอทช์, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการไอลอว์, ศ.กิตติคุณวิทิต มันตราภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 

สุนัย กล่าวว่าการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย ไม่เคยนำไปสู่การชำระประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการเอาผิดผู้มีอำนาจที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ยกตัวอย่างล่าสุดคือการสลายการชุมนุม 16 ต.ค. ที่ปฏิบัติผิดหลักการสากล ใช้น้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบเลยว่าสารเคมีนั้นส่งผลต่อร่างกายผู้ชุมนุมหรือไม่ 

วันนี้จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันเก็บบันทึกข้อเท็จจริง ต้องไม่ยอมให้เกิดกรณีอุ้มหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองหรือใช้ความรุนแรงโดยผู้สั่งการลอยนวลพ้นผิด เพื่อเป็นสักขีพยานและหลักฐานเอาผิดในกระบวนการยุติธรรมต่อไป

วงเสวนา งานจิตร ภูมิศักดิ์.jpg


ยิ่งชีพ ได้ยกกรณี สมยศ พฤษาเกษมสุข ผู้รณรงค์ให้ยกเลิก 112 จนถูกคุมขัง 7 ปี เมื่อปี 2553 เช่นเดียว ตั้ม-สิรภพ เมื่อปี 2557 หลังรัฐประหาร ที่ถูกต้องขังด้วยข้อหา 112 และนำตัวไปพิจารณาที่ศาลทหาร และล่าสุดกรณี อานนท์ นำภา ที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สะท้อนให้เห็นว่าทุกครั้งที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เราจะมีเหยื่อผ่านการใช้กระบวนการยุติธรรม นำผู้เห็นต่างจากฝ่ายรัฐเข้าไปจองจำในคุก 

ทว่าทั้งสามคนพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้จะจับแกนนำก็ไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวบนท้องถนนของมวลชนได้ แต่การอ้างกฎหมายกลับสร้างความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น สิ่งที่สถาบันตุลาการต้องทำคือ ใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมา ตีความบังคับใช้ที่ไม่เป็นโทษต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

สุนัย ผาสุก.jpg

ขณะที่ ศ.กิตติคุณวิทิต กล่าวว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลไทย ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์บนเวทีโลกว่าใช้จำกัดสิทธิผู้คนเห็นต่าง มากกว่าควบคุมโรคระบาดโควิด-19 จึงขอให้ปล่อยตัวผู้ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติทุกกรณี และให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับประชาชน รวมถึงไม่ทำรัฐประหาร เน้นการเจรจาจากหลายฝ่าย เพื่อหาจุดร่วมกันตามครรลองประชาธิปไตย

จิตร ภูมิศักดิ์.jpg

ปิดท้ายด้วยเสวนาหัวข้อ 'การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดในสังคม' ภายในงาน 90 ปี ชาตกาล จิตร ภูมิศักดิ์ บริเวณลานประชุมกร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนักกิจกรรมทางการเมือง ศิลปิน และครอบครัวผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหาย อาทิ จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ พี่สาว วันเฉลิม , ฟลุค-พชร ธรรมมูล, สิรภพ อัตโตหิ, สิรินทร์ มุ่งเจริญ

สิตานันท์ เล่าว่าตั้งแต่วันเฉลิมถูกอุ้มหายไป 5 เดือน ตนได้ออกไปร้องเรียนในหลายหน่วยงาน มีข้าราชการหลายคนบอกว่าทำไมยังเสียเวลาตามหา ตนอยากบอกพวกเขาว่าสิ่งที่ตนออกมาเรียกร้อง อีกนัยหนึ่งมันคือปกป้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับครอบครัวของตนอีก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสังคมไทย สามารถพูดคุยและอยู่ร่วมกันได้ ด้วยการใช้สติวิเคราะห์แยกแยะข้อเท็จจริง เปิดรับข้อมูลโดยไม่มีอคติ แม้จะมีความคิดเห็นต่างขั้ว  

จ่านิว-สิรวิชญ์ เล่าว่า ตนเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกทำร้ายเพราะมีอุดมการณ์เห็นต่างจากฝ่ายผู้มีอำนาจ สังคมไทยมักหล่อหลอม ว่าผู้คนมีความหลากหลาย แต่ฝ่ายรัฐกลับใช้อำนาจปราบปรามคนแตกต่าง ในช่วงเวลานี้ประชาขนต้องร่วมมือกันเปิดเพดานความคิด เพื่อประโยชน์ของคนทุกคนอย่างเสมอหน้า อย่าตกเป็นเครื่องมือชนชั้นนำ ที่ต้องการใช้ความแตกแยกยึดกุมอำนาจต่อไป

สิรภพ อัตโตหิ แกนนำเสรีไทยพลัสและคณะประชาชนปลดแอก กล่าวว่าการต่อสู้ในปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการต่อต้านอำนาจนิยมทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผมในสถานศึกษาหรือความหลากหลายทางเพศที่ถูกกดทับ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรง คณะประชาชนปลดแอกจึงยึดถือหลักการต่อสู้ทางความคิด ที่ไม่ใช่การทำลายฝ่ายตรงข้าม