ไม่พบผลการค้นหา
ภายใต้การนำของ วิจัย อัมราลิขิต “เมืองพนัสนิคม” ได้สลัดตัวเองจากเมืองที่ไม่มีใครรู้จักสู่เมืองน่าอยู่ระดับโลก

“ผมคิดมาตลอดว่าทำยังไงให้คนทั้งประเทศรู้จักพนัสนิคม” วิจัย อัมราลิขิต หนุ่มใหญ่วัย 70 ปี ท่าทางคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉง เอ่ยถึงเป้าหมายและความตั้งใจที่เขาได้ลงมือทำกับ ‘เมืองพนัสนิคม’ ในฐานะนายกเทศมนตรี ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา

จากเมืองผ่านที่ไม่มีใครแม้แต่จะหยุดรถหากไม่มีธุระสำคัญ กลายเป็นเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในระดับอาเซียน และติด 1 ใน 1,000 เมืองระดับโลกที่พิทักษ์คุณภาพชีวิตและสุขภาพคนเมือง จากการคัดเลือกขององค์การอนามัยโลก

น่าสนใจเหลือเกินว่า ‘วิจัย’ ทำได้อย่างไร ? 


ปัดกวาดบ้านเมือง

พนัสนิคมเป็นเมืองขนาดเล็ก ในจังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 2.76 ตารางกิโลเมตรหรือเกือบ 2,000 ไร่ และมีประชากรราว 1.1 หมื่นคน

“ในอดีตถ้าไม่มีธุระหรือไม่ตั้งใจมาก็จะมาไม่ถึง เพราะไม่มีใครรู้จักเมืองเรา” วิจัยเล่าถึงวันวาน

หลังจากเรียนจบในระดับปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแอครอน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาอยู่เมืองไทยได้ไม่นาน เขาถูกชักชวนให้ร่วมเป็นสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อทำงานให้กับบ้านเมือง

ด้วยความรู้ความสามารถโดยเฉพาะทักษะ ‘ภาษาอังกฤษ’ อันโดดเด่นทำให้เขาได้รับโอกาสแสดงฝีมือในด้านการติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาเมืองตามวาระต่างๆ อย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เป็นนายกเทศมนตรีในปี พ.ศ.2530

พนัสนิคม

(วิจัย อัมราลิขิต)

สิ่งแรกที่ ‘วิจัย’ วางแผนและลงมือทำในบทบาทพ่อเมือง คือการจัดการพื้นที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยนำรูปแบบการดำเนินธุรกิจโรงสีข้าวที่คุ้นเคยจากอาชีพของครอบครัวมาเป็นโมเดลในการพัฒนา จนประสบความเร็จได้รับรางวัลชนะเลิศเมืองที่มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยจากสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย 3 ปีซ้อน โดยทุกครั้งที่ได้รับรางวัลเขาจะปลูกฝังความเชื่อมั่นลงไปในจิตใจของประชาชนด้วยการป่าวประกาศแห่ถ้วยรอบตลาดกลางเมือง พร้อมกับจัดงานเลี้ยงฉลอง

“ผมคิดว่าการได้รับรางวัล เท่ากับเป็นการประกาศก้องไปทั่วประเทศว่าเมืองแห่งนี้มีความสะอาด มีผลให้ประชาชนตระหนักและร่วมกันรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยเอาไว้” เขาบอกต่อ

“ผมนำระบบการบริหารในโรงงานมาปรับใช้ แบ่งทีมงานออกเป็น 3 ระดับ คอยดูแลความสะอาดเรียบร้อยให้กับถนนเส้นหลักทั้ง 3 เส้น ได้แก่ กลุ่มคนงานกวาดถนน กลุ่มโฟร์แมนคอยขี่จักรยานตรวจสอบ และกลุ่มซุปเปอร์ไวเซอร์ขับมอเตอร์ไซค์ตรวจตราอีกครั้ง” 


พนัสนิคม

ชื่อเสียงเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพนัสนิคมขจรขจายไปทั่วประเทศ ได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เมืองที่มีสุขภาพดีจากกระทรวงสาธารณสุข ติดอันดับ 1 ใน 5 เมืองต้นแบบของไทย โดยมีหลายหน่วยงานมาศึกษา ไม่เว้นแม้กระทั่ง รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ที่เลือกจับมือเป็นพันธมิตรด้วย นอกจากนั้นยังคว้ารางวัลชนะเลิศ ในฐานะชุมชนเมืองเข้มแข็งและเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย จากสถาบัน LDI พัฒนาท้องถิ่น รางวัลเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

พนัสนิคม

สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพเป็นเลิศ

ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2530 ปัญหาขยะเป็นเรื่องหนักใจของเมืองพนัสนิคม เมื่อมีขยะมากถึง 25 ตันหรือ 25,000 กิโลกรัมในแต่ละวัน ทั้งที่มีประชากรเพียงแค่ 1.3 หมื่นคน

“ผมให้อย่างเก่งเลย คนบ้านเราไม่น่าจะสร้างขยะเกินคนละ 1.3 กิโลกรัมต่อวัน แต่ที่มันพุ่งไปมากขนาดนั้น เพราะมีคนจากพื้นที่อื่นมาฝากเราทิ้ง ที่เป็นแบบนั้นเพราะเราตั้งถังขนาด 200 ลิตร ไว้ตามฟุตบาททุกๆ 100 เมตร”

เขาแก้ปัญหาด้วยการสั่งปรับขนาดถังขยะจาก 200 ลิตร เป็น 20 ลิตรจำนวน 3 ใบ แบ่งสีตามประเภทของขยะ แจกจ่ายไปตามบ้านเรือน พร้อมกำหนดเวลาเก็บขยะอย่างชัดเจน จนมีผลให้แต่ละบ้านรู้จักคัดแยก หากบ้านใครไม่ยอมแยกขยะ รถเก็บขยะจะไม่เก็บขยะบ้านนั้น

วิธีดังกล่าวสามารถลดปริมาณขยะลงจาก 2.5 หมื่นกิโลกรัม เหลือเพียง 1.5 หมื่นกิโลกรัมในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าให้เหลือน้อยกว่า 1 หมื่นกิโลกรัมภายในเวลาอันใกล้

พนัสนิคม

(พื้นที่สาธารณะที่ออกแบบลักษณะยูนิเวอร์แซล ดีไซน์ โดยได้รับงบประมาณจากประเทศญี่ปุ่น)

อีกหนึ่งวิธีโน้มน้าวและสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะของ ‘วิจัย’ คือการหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้ว่างงานในชุมชน

“ผมให้ซาเล้งฟรี คุณมีหน้าที่ขับไปรับซื้อขยะรีไซเคิล เช่น กล่องกระดาษ พลาสติกตามบ้านเรือน วิธีนี้ทำให้คนว่างงานลดลง อีกด้านเป็นการช่วยให้แต่ละบ้านคัดแยกขยะนำมาขาย” เขาบอกว่าความสามารถในการแยกขยะมีประสิทธิภาพมาก จนกระทั่งบ่อทิ้งขยะเดิมพื้นที่หลายสิบไร่ แทบจะไม่ได้ใช้งานและถูกเปลี่ยนเป็นสวนผักปลอดสารพิษ


ฉลาดหาเงิน  

ในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ผู้กุมบังเหียนเมืองพนัสนิคมใช้ฝีมือในการดีลแหล่งเงินทุนจนสามารถสร้างสวนสาธารณะและลานกีฬาขนาดใหญ่ ที่ครบครันไปด้วยสระว่ายน้ำ สนามเทนนิส สนามฟุตบอล สนามเปตอง และสนามบาสเก็ตบอล นอกจากนี้ยังสามารถสร้างหอประชุมที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชลบุรีได้สำเร็จ

“เราใช้งบประมาณจากการกู้ยืมธนาคาร รวมถึงหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ มันมีช่องทางหาเงิน ขึ้นอยู่กับผู้บริหารว่าจะขวนขวายและพยายามหรือเปล่า” พ่อเมืองวัย 70 ปีกล่าว

ทั้งนี้ต้นไม้ขนาดใหญ่ในพนัสนิคมมีเลขนัมเบอร์ประจำต้นเหมือนกับประเทศสิงคโปร์ โดยมีกองช่างเป็นผู้ดูแล และเมื่อเร็วๆ นี้ ยังได้รับงบประมาณอีกราว 20 ล้านบาทจากสหภาพยุโรป นำมาพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของเทศบาลเพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองคาร์บอนต่ำในอนาคต 


พนัสนิคม


กระจายอำนาจเพื่อความเข้มแข็ง

เทศบาลเมืองพนัสนิคม แบ่งออกเป็น 12 ชุมชนย่อย กระจายอำนาจให้ดูแลกันเองผ่านคณะกรรมการบริหารชุมชนที่มีทั้งหมด 9 คน คอยดูแลในแต่ละด้าน เช่น การศึกษา การคลัง โยธา สาธารณสุข สวัสดิการปกครอง และกฎหมาย

“ทุกตำแหน่งคัดเลือกโดยประชาชน มีความสอดคล้องและผสานกับเทศบาล พูดง่ายๆ คือเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่ มีการประชุมร่วมกันทุก 2 เดือน และอบรมให้ความรู้เรื่อง SWOT Analysis หรือ การวิเคราะห์สภาพขององค์กร ให้พวกเขารู้จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของชุมชน เพื่อให้เขาสามารถแก้ไขปัญหาหรือนำเสนอโอกาสในพัฒนาชุมชนได้ดีที่สุด”

พนัสนิคม

การแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างประชาชนและผู้มีอำนาจได้อย่างใกล้ชิด นับเป็นจุดแข็งของพนัสนิคม โดยใช้วิธีการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้บริหาร กลุ่มพนักงานเทศบาล และกลุ่มประชาสัมพันธ์ ที่ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าร่วมได้

“ใครมีปัญหาแจ้งเข้ามาเลยที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ เมื่อผมเห็นก็จะรีบแจ้งไปในไลน์เทศบาล เฮ้ย..กองช่างคุณไปดูแลหน่อยสิ เมื่อแก้เสร็จแล้วก็รีบแจ้งกลับมาพร้อมถ่ายภาพเป็นหลักฐานให้ประชาชนรับทราบ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการประสานกันระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน กลายเป็นความศรัทธาในกันและกัน”

พนัสนิคม

ทั้งนี้ชุมชนย่อยแต่ละแห่งประกอบด้วยประชาชนราว 800 คน มีจุดเด่นแตกต่างกันไปตามความเข้มแข็งและความถนัดของชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น กลุ่มเครื่องจักสาน ที่สร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ยอมรับระดับประเทศ กลุ่มพัฒนาสิ่งแวดล้อม ที่นำขยะอินทรีย์จากตลาดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหลากหลายรูปแบบ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นต้น

เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนในทัศนะของวิจัยมี 4 องค์ประกอบสำคัญที่ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ คือ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และการบริหารจัดการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล

“การทำเมืองให้เกิดเป็นภาพความความสำเร็จ มันทำให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงวิธีคิด เกิดศรัทธาเชื่อมั่นในผู้บริหาร ยืนยันที่จะทำสิ่งดีๆ และกระตือรือร้นที่จะอยู่กันอย่างมีความสุข ทุกอย่างมันเดินไปในทิศทางเดียวกัน” ผู้บริหารหนุ่มใหญ่กล่าวทิ้งท้าย


ภาพประกอบโดย : เสกสรร โรจนเมธากุล

พนัสนิคม

(ผลิตภัณฑ์จักสาน)

พนัสนิคมพนัสนิคมพนัสนิคม

(สวนสาธารณะขนาดใหญ่)

พนัสนิคม


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog