ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีกลุ่มพันธมิตรบุกยึดสนามบินดอนเมือง เมื่อ 15 ปีก่อน จำเลยมาครบ เว้น 'จำลอง' ป่วยฟังลับหลัง แกนนำรับสภาพ หากศาลพิพากษา พร้อมปฏิบัติตาม

วันที่ 17 ม.ค. 67 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสนามบินดอนเมือง คดีหมายเลขดำ อ.973/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับพวกรวม 32 คน ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิด ฐานเป็นกบฏ-ก่อการร้ายฯ โดยในวันนี้เป็นการนัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2551 หรือเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว 

โดยจำเลยทั้ง 32 คน ได้ร่วมกันโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาร่วมกันชุมนุมใหญ่โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพีท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นของบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด(มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 และทำลายทรัพย์สินเสียหายเป็นเงิน 627,080 บาท แล้วนำจานรับสัญญาณของพวกจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์ ของ บริษัท วิทยุการบินฯ ผู้เสียหายที่ 3 ทำการปิดกั้นสะพานกลับรถของกรมทางหลวง ผู้เสียหายที่ 4 ตรวจค้นตัวเจ้าหน้าที่ของบริษัทการบินไทยฯ ผู้เสียหายที่ 5 ปิดกั้นการบริการสื่อสารบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ผู้เสียหายที่ 6 และร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน เพื่อกดดันให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นลาออกจากตําแหน่ง 

สมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่ 4 กล่าวว่า ที่ได้กระทำมาทั้งหมดถือว่าเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และเป็นที่ปรากฏชัดว่ารัฐบาลที่เราต่อต้านศาลได้พิพากษาแล้วว่าเขามีความผิดจริง

“แม้แต่นักโทษชั้น 14 ก็สารภาพแล้วว่าผิดจริง แล้วจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ ฉะนั้น ในส่วนที่เราถูกดำเนินคดี เรายินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด่วยความเต็มใจ และการที่ศาลจะพิจารณาอย่างไร ก็เคารพอำนาจของศาล ทุกคนพร้อมปฏิบัติโดยไม่มีเงื่อนไข” นายสมศักดิ์ กล่าว

สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปกติศาลก็รับฟังอยู่แล้ว ผลข้อกฎหมายออกมาอย่างไรเราก็รับได้ทั้งหมด แต่ที่เราร่วมกันต่อสู้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญตอนนั้นให้อำนาจประชาชาชนในการต่อต้านโดยสันติวิธี เพื่อต่อค้านนรัฐบาลที่มาโดยมิชอบ ใข้อำนาจโดยมิชอบ รัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 68 และมาตรา 69 ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 60 มีการแก้ไขมาตราดังกล่าวไปแล้ว แสดงว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง จึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเราเชื่อโดยสุจริตว่าประชาชนมีสิทธิทำได้ และศาลก็พิจารณาแล้วว่าการชุมนุมของเราสันติ ปราศจากอาวุธ

ด้าน ปานเทพ ระบุว่า คดีนี้มีจำเลยเยอะ ทำให้ศาลต้องแบ่งออกเป็น 2 ชุด ตนเองเป็นชุดที่ 2 ซึ่งจะพิพากษาในช่วงเดือนมีนาคม 67 เป็นการต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 16 ปี กว่าจะมีการพิสูจน์ ตนเองเชื่อว่าเรื่องข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทนายความ จำเลย และโจทก์ ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว ที่เหลือก็แล้วแต่ศาลจะพิจารณา ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็เชื่อว่าไม่น่าจะจบที่ศาลชั้นต้น น่าจะจบที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แต่เราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2550 เหตุแห่งการชุมนุมทั้งการทุจริตคอรัปชั่น การโกงการเลือกตั้ง มีขึ้นจริง ๆ จากคำพิพากษาศาลฎีกาในเวลาต่อมา ดังนั้นสิ่งที่เราต่อสู้เป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ 

“เราคาดหวังว่าสิ่งที่เราสู้ในขณะนี้จะได้รับการพิสูจน์ เพราะตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาจำเลยทั้งหมดมีพันธนาการ ไปต่างประเทศก็มีประกัน เงื่อนไข ต้องนำเงินประกันมาวาง จากอิสรภาพ และถูกสังคมเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ก่อการร้าย หรือเป็นผู้ที่กระทำความผิดแล้ว อย่างน้อยกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินมาจรถึงตอนนี้ก็แสดงให้เห็นว่าพันธมิตรเป็นฝ่ายเคารพในกระบวนการยุติธรรม น้อมรับในกระบวนการยุติธรรม และพร้อมรับบทลงโทษทุกกรณี ก่อนหน้านี้ก็จำคุกจริง ไม่เคยขออภิสิทธิ์จนถึงขั้นไม่ติดคุก และหวังว่าจะเป็นบรรทัดฐานว่าสังคม ควรเดินหน้าในกระบวนการยุติธรรมที่เท่ากัน ได้รับบทลงโทษที่เสมอกันจึงจะสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมได้” ปานเทพ กล่าว

โดยบรรยากาศก่อนการเข้าฟังคำพิพากษา ได้มีกลุ่มสหภาพแรงงานและวิสาหกิจ เดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมต่อแถวและมอบดอกไม้ให้กับแกนนำ และเมื่อเวลา 9:15 น. สนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในแกนนำพันธมิตรได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา ส่วน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตร มีอาการป่วยทำให้ไม่สามารถมาฟังคำพิพากษาได้ ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง เฉพาะของพล.ต.จำลอง