สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อประจำปี 2564 โดยระบุว่า ปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่สื่อมวลชนไทยพบกับความท้าทายหลายประการที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ซ้ำยังทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง วิกฤติการระบาดของโคโรน่าไวรัสที่คร่าชีวิตคนไทยไปแล้วกว่า 21,000 ราย และความพยายามของรัฐบาลในการจำกัดเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
สื่อในสถานการณ์การชุมนุม มีทั้งบาดเจ็บ-เครียดสะสม
สื่อมวลชนหลายสำนักส่งนักข่าวและช่างภาพลงพื้นที่ติดตามการชุมนุมทางการเมืองตลอดช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา หลายครั้งก็เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมหรือปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้มีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยได้รับบาดเจ็บระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งโดนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา รวมไปถึงน็อต พลุไฟ ลูกแก้วหรือวัตถุเทียมอาวุธอื่นๆ
ในหลายกรณี นักข่าวและช่างภาพต้องลงพื้นที่โดยที่ต้นสังกัดไม่ได้จัดสรรอุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างเพียงพอ หรือนักข่าวและช่างภาพจำนวนมากไม่ได้ผ่านการอบรมหลักความปลอดภัยในการรายงานข่าวสถานการณ์การชุมนุม กลายเป็นความเสี่ยงของคนทำงานภาคสนามที่ต้องแบกรับ นอกจากนี้ นักข่าวและช่างภาพหลายคนยังประสบกับความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ จากการลงปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างยืดเยื้อติดต่อกันหลายวัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
เจ้าหน้าที่รัฐมีความพยายามปิดกั้นการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนภาคสนาม
ในหลายเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลการชุมนุม ได้สร้างอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นไม่ให้สื่อเข้าพื้นที่หรือบันทึกภาพเหตุการณ์ การหยิบยกคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน หรือเคอร์ฟิวมาเป็นข้ออ้างในการจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อ ความไม่เข้าใจบทบาทของสื่อมวลชนในกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบางส่วน หรือพฤติกรรมอื่นๆ ที่หมิ่นเหม่ต่อการคุกคามกับผู้สื่อข่าวในพื้นที่ ถึงแม้ตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้หารือและทำความเข้าจกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายครั้ง แต่ก็ยังคงพบปัญหาการปฏิบัติที่ขาดความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่บ่อยครั้ง
รัฐบาลยกระดับการบังคับใช้ “พรก.ฉุกเฉิน” หวังคุมสื่อ
ในปี 2564 นี้ ประเทศไทยอยู่ภายใต้การใช้อำนาจตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ “พรก.ฉุกเฉิน” ของรัฐบาลตลอดหนึ่งปีเต็ม ถึงแม้รัฐบาลจะยืนยันในช่วงแรกว่าพรก.ฉุกเฉินมีไว้เพื่อแก้ไขสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เท่านั้น แต่เมื่อเสียงวิจารณ์การบริหารงานหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็มีความพยายามใช้อำนาจตามพรก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 29) สั่งห้ามสื่อมวลชนรายงานหรือเผยแพร่ข่าวใดๆที่ “สร้างความหวาดกลัว” มิหนำซ้ำยังให้อำนาจหน่วยงานรัฐบางหน่วยงานระงับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้ทันที
กรณีนี้นับเป็นการละเมิดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ ทำให้สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมส่วนอื่นๆ ออกมาร่วมกันคัดค้านอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวจาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่ใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้เพิกถอนคำสั่งของรัฐบาล จนนายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจยกเลิกข้อกำหนดดังกล่าวในที่สุด
สื่อสารสับสน แต่ซัดสื่อว่าปล่อย “ข่าวปลอม”
ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงอย่างสาหัสตลอดปีนี้ หลายครั้งหลายหนหน่วยงานรัฐได้สร้างความสับสนในสังคมเสียเองด้วยการออกข่าวที่ขัดแย้งและขาดเอกภาพ โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญต่อความเป็นและความตายของประชาชน เช่น การฉีดวัคซีน หรือการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด เป็นต้น แต่เมื่อมีเสียงทักท้วงถึงข้อมูลที่ผิดพลาดหรือขัดแย้งกันเอง หน่วยงานรัฐมักเลือกที่จะตำหนิสื่อมวลชน และป้ายสีว่าการรายงานของสื่อมวลชนว่าเป็น “เฟกนิวส์ หรือข่าวปลอม” ทั้งที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข้อมูลที่ได้มาจากหน่วยงานรัฐเอง หรือบางครั้งก็เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ต่อมาในภายหลังว่า สิ่งที่รัฐสื่อสารนั้น เป็นข่าวเท็จเสียเอง
“โควิด” ปิดช่องทางสื่อตรวจสอบผู้มีอำนาจ
การระบาดของโควิด-19 ยังกระทบต่อเสรีภาพและการทำหน้าที่ของสื่อโดยตรง โดยเฉพาะเมื่อหน่วยงานสำคัญของรัฐไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าพื้นที่ในการแถลงข่าวอย่างที่เคยกระทำเป็นธรรมเนียมมา ไม่ว่าจะเป็นทำเนียบรัฐบาล กระทรวง กรม ฯลฯ ทำให้รัฐเป็นผู้ยึดกุมการสื่อสารอยู่ฝ่ายเดียว โดยที่สื่อมวลชนไม่สามารถซักถามหรือยกข้อสงสัยต่างๆ ขึ้นมาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐในสิ่งที่ประชาชนอยากทราบได้อย่างเต็มที่
พัฒนาบทบาทสู่ "สุนัขเฝ้าบ้าน" ยุคดิจิตอล
เทคโนโลยีด้านการสื่อสารยังคงพัฒนาอย่างรวดเร็วตลอดปี 2564 โดยเฉพาะศักยภาพการรายงานข่าวแบบเรียลไทม์และแพลตฟอร์มที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงผู้รับสารรุ่นใหม่ๆ ทำให้เจ้าของธุรกิจสื่อมวลชนและผู้บริหารจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์และความพร้อมที่จะพัฒนา เปิดโลก และปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน สื่อมวลชนควรศึกษาเทคโนโลยีและพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารในรูปแบบใหม่ๆ ให้เป็นโอกาสในการผลิตผลงานข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นปากเสียงให้ประชาชน และเข้าถึงผู้รับข้อมูลข่าวสารกลุ่มต่างๆได้ครอบคลุมมากขึ้น
ตามหา “ขอบเขต” ในสภาวะ “คลุมเครือ”
ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ของฝ่ายผู้ชุมนุมและการโต้ตอบจากภาครัฐในเรื่องดังกล่าว เป็นประเด็นแหลมคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2564 และยังดูเหมือนจะไม่มีข้อยุติในเร็ววัน สื่อมวลชนเกือบทุกแห่งประสบความยากลำบากในการรายงานข่าว เพราะความคลุมเครือและไม่ชัดเจนว่า สื่อสามารถรายงานข้อมูลใดได้บ้าง ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญามาตรา 112 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ให้อำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลงโทษสื่อ ตลอดจนข้อจำกัดเชิงวัฒนธรรมของสังคมไทยที่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง “ต้องห้าม” (taboo) ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้สื่อมวลชนอาจจำเป็นต้องเลือก “เซนเซอร์ตัวเอง” เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและไม่ตกเป็นเป้าหมายในทางการเมือง ท่ามกลางเรียกร้องจากประชาชนบางส่วนที่ต้องการให้สื่อมวลชนรายงานข่าวในประเด็นนี้อย่างครบถ้วนรอบด้าน ภาวะเช่นนี้จึงเป็นโจทย์ที่สื่อมวลชนต้องร่วมกันหาคำตอบร่วมกันต่อไป