ไม่พบผลการค้นหา
'ลำเพลิน วงศกร' เปิดใจไม่เคยรู้สึกเขินอายที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘นักร้องลูกทุ่งหมอลำ’ ลั่นคนที่มองไม่เห็นความสวยงามของศิลปะพื้นบ้านน่าอายมากกว่า

เพียงแค่ร้องหมอลำท่อนเดียวก็ถูกเชิญให้ออกจากห้องออดิชั่น ตกรอบเดอะสตาร์ 7 ปี 2553 ที่ยกเวทีไปค้นฟ้าคว้าดาวรอบภาคอีสาน ที่ โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น ความล้มเหลวครั้งนั้น ‘ลำเพลิน วงศกร’ หันหลังให้กับการประกวดทุกเวที แต่ไม่เคยทิ้งความฝันสักวันจะต้องเป็นนักร้องมีผลงานประทับในใจของคนฟัง โดยใช้ ‘หมอลำ’ ความชอบส่วนตัวนำทางสู่ความสำเร็จให้ได้

ภายหลังอัดคลิปร้องหมอลำกลอนใส่แคนโพสต์ลงเฟซบุ๊ก มียอดแชร์กว่า 3 แสนแชร์ในวันเดียว สิงห์-ณฐพบ ชาเนตร์ เจ้าของค่ายสิงห์ มิวสิค คว้ามาปั้นก่อนส่งต่อให้แกรมมี่ โกลด์ เจียระไน ในที่สุดหนุ่มบ้านหนองตะเคียน จ.บุรีรัมย์ ผิวขาวหน้าออกไปทางเกาหลี ก็สมหวังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จากบทเพลง ห่อหมกฮวกเอาไปฝากป้า, รำคาญกะบอกกันเด้อ, อย่าลืมกันเด้อ, เนื้อคู่, บุญเก่า ฯลฯ ที่นำเอาหมอลำและเครื่องดนตรีที่เป็นวัตถุดิบท้องถิ่นอีสาน อย่าง พิณ แคน โหวด มาหลอมรวมกับเครื่องดนตรีสากล สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานแบบฉบับอีสานบนความร่วมสมัย จนได้ฉายา ‘โอปปาหมอลำ’ ตีตั๋วสู่การเป็นนักแสดงจอแก้ว มีส่วนช่วยให้ละครมงกุฏดอกหญ้าโกยคะแนนความนิยม สมปราถนาเจ้าของเวทีประกวดเดอะสตาร์ที่เคยปฏิเสธเขาเมื่อ 10 ปีก่อน  

ลำเพลิน มีชื่อจริงว่า วงศกรณ์ โยวะราช เรียนจบปริญญาตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ว่าดีใจที่ความฝันกลายเป็นความจริง จากเด็กเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย รับจ้างขุดมัน เกี่ยวข้าว กรีดยาง เดินสายชกมวย อดมื้อกินมื้อ พอได้เป็นนักร้องมีเงินส่งให้ทางบ้าน ความเป็นอยู่ครอบครัวดีก็ขึ้น แต่กว่าจะสมหวังไม่ง่าย ระหว่างทางถูกหนามทิ่มแทงมากมาย เคยมีคนรุ่นเดียวกันพูดให้ได้ยินว่า “เป็นนักร้องลูกทุ่งหมอลำเชยๆ”  แต่ส่วนตัวไม่เคยรู้สึกเขินอายที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘นักร้องลูกทุ่งหมอลำ’ ตรงกันข้ามกลับรู้สึกภูมิใจที่สามารถทำให้องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสร้างไว้ ถูกเติมเต็มให้มีชีวิตต่อไปได้

ลำเพลิน วงศกร.jpg

“ผมไม่เคยอายกับการพูดภาษาตัวเอง ไม่เคยอายกับสิ่งที่เป็น ไม่สนใจใครจะว่าบ้านนอก ผมเกิดอยู่บ้านนอก เป็นคนบ้านนอกอยู่แล้ว ถ้าเราดูถูกหมอลำก็เท่ากับว่าดูถูกบรรพบุรุษ สิ่งที่เขาเก็บเกี่ยวเอามาใส่กลอนลำล้วนแต่เป็นวิถีชีวิตพ่อแม่เรา ฮีตสิบสองคองสิบสี่หรือประเพณีของดีภาคอีสาน อยู่ในกลอนลำหมดทุกอย่าง ถ้าดูถูกว่าเป็นสิ่งที่โบราณคร่ำครึ แสดงว่าคนนั้นดูถูกบรรพบุรุษตัวเอง สิ่งที่ทำออกไปผมมองว่า เป็นการอนุรักษ์ ได้เชิดชูบ้านเกิดตัวเอง เชิดชูบรรพบุรุษผู้ที่พาทำพาสร้างมา”

นักร้องหนุ่มวัย 26 ปี มีความสามารถทั้งร้องและแต่งเพลง เล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานได้เกือบทุกชนิด บอกต่อว่า กว่า 3 ปี ที่เป็นศิลปินในสังกัดค่ายชั้นนำของประเทศ เขามีความสุขและสนุกกับการทำงานให้ได้ผลทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาต่อยอดศิลปวัฒนธรรมบ้านเกิด ให้เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่

ลำเพลิน วงศกร.jpg

แม้บางผลงานไม่ใช่หมอลำจ๋าแต่ก็พัฒนามาจากหมอลำ มีการดัดแปลงให้มีความเป็นสมัยนิยม เพื่อให้คนภาคอื่นเกิดความสนใจและเข้าถึงศิลปะพื้นบ้านอีสานมากขึ้น ถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมอีสานให้คนวงกว้างได้รู้จัก อย่างผลงานล่าสุดโปรเจกต์ ‘วงศกร เดอะซีรีส์’ ที่ชวนเพื่อนร่วมสายอาชีพอย่าง ‘ลำไย ไหทองคำ’ นักร้องลูกทุ่งสาวลีลาแซ่บ และ ‘วันเดอร์เฟรม’ (Wonderframe) แร็พเปอร์ฮอต มาร่วมงาน ก็ตั้งใจเผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นอยู่อีสานบ้านเฮา ด้วยการนำเพลงมานำเสนอเป็นซีรีส์ให้แฟนๆ ได้ดูตลอดเดือน ก.ค. ทางช่องยูทูบ ‘ลำเพลิน วงศกร Official’ มีด้วยกันทั้งหมด 5 ตอน ประกอบด้วย เลอโฉม, โรคซึมเหล้า, สบตาได้แค่ในเฟซ, หลับยังเจ็บ และสิเอาผู้นี้

“คำว่าเพลงในนิยามของผม ต้องมีคุณค่าต่อสังคม ทำให้คนฟังแล้วจรรโลงใจ มีความสุข ได้หัวเราะได้ยิ้ม ผมว่าคุณค่าของมันอยู่ตรงนี้ ตอนทำผมไม่รู้หรอกว่ามันจะดังไหม แต่ทำด้วยหัวใจ หาเครื่องปรุงมาใส่ ทำให้ดี ถ้ามันดังขึ้นมาก็โอเคเรามีงาน ได้ไปโชว์ตัว แต่ถ้าไม่ดังก็ต้องยอมรับ” ลำเพลินบอก “เราต้องรู้จักตัวเองว่าทำได้แค่ไหน มีความพยายามมันก็ดี สกิลเราแค่นี้นับเลขได้ถึง 8 อย่าไปนับถึง 10 เลยทีเดียวมันก็ไม่ได้ต้องเป็นขั้นตอนไป คนที่นับถึง 10 พรวดเดียว จบด้วยการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกับคนอื่น เพื่อที่จะให้ตัวเองได้เปรียบระหว่างการเดินทาง มันก็เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การเอารัดเอาเปรียบคน มันทำให้คนอื่นเดือดร้อน มันไม่เจริญอยู่แล้ว มันเป็นสัจธรรม คนเราเกิดมาต้องมีศักดิ์ศรี การดำเนินชีวิตมันต้องควรเป็นอย่างนี้ สุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องกลับคืนสู่สามัญทั้งหมด”

ลำเพลิน วงศกร.jpg

ลำเพลินทิ้งท้ายด้วยการบอกว่า สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกกับทุกคน ประเทศไทยมี 4 ภาค แต่ละภาคมีศิลปวัฒนธรรม ประเพณี สวยงามแตกต่างกันไป จงภูมิใจที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นสืบทอดกันมาแล้วช่วยพัฒนาให้เกิดคุณค่า การสืบสานศิลปะพื้นบ้านไม่ใช่เรื่องเชยหรือน่าอาย คนที่มองไม่เห็นความสวยงามที่ต้นตระกูลสร้างสรรค์ไว้ให้ต่างหาก สมควรอายมากกว่า