ไม่พบผลการค้นหา
ผลวิจัยชี้การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในการทำงานเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็อาจช่วยลดอัตราการฆ่าตัวได้มากกว่า 1,000 คดีในแต่ละปี โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีวุฒิเพียงแค่มัธยมปลายหรือต่ำกว่า

วารสารระบาดวิทยาและสุขภาวะชุมชน ( Journal of Epidemiology and Community Health) ตีพิมพ์รายงาน 'ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราการฆ่าตัวตาย' พบว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 30 บาทในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปีจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้ถึง 3.4-5.9 เปอร์เซ็นต์ และหากเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2000-2015 จะป้องกันการฆ่าตัวตายได้ถึง 40,000 คดี

งานวิจัยชิ้นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำและการฆ่าตัวตายของประชากรวัยทำงาน โดยมีสมมติฐานว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดทางการเงินของประชาชนจากอัตราการว่างงาน การจัดการหนี้และการจัดการสถานะทางการเงินของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำทั้งสิ้น

ในปี 2017 มีการประเมินว่า ประชากรอเมริกันวัยผู้ใหญ่ประมาณ 1.4 ล้านคนพยายามฆ่าตัวตาย และฆ่าตัวตายสำเร็จ 47,173 คน และ 1.7 เปอร์เซ็นของการฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน

ปัจจุบันสหรัฐฯ นโยบายกลางในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของสหรัฐฯ ประกาศค่าจ้างอยู่ที่ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง (ประมาณ 220 บาท) แต่มี 29 รัฐในสหรัฐฯ และเขตโคลัมเบียที่ให้ค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่านโยบายกลางกำหนด 

ทั้งนี้ในรายงานระบุว่า หากมีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2009-2015 ซึ่งปี 2009 เป็นช่วงที่การว่างงานเยอะที่สุด นักวิจัยประเมินว่าอาจป้องกันการฆ่าตัวตายในกลุ่มแรงงานที่มีวุฒิการศึกษาในระดับมัธยมปลายหรือต่ำกว่าได้ถึง 13,800 กรณี และหากเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ อาจจะสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายได้ถึง 25,900 กรณีในช่วงเวลาเดียวกัน

รายงานเมื่อปี 2019 ระบุว่า ในช่วงปี 1990-2015 พบว่า ประชากรวัยแรงงานที่วุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือต่ำกว่ามีการฆ่าตัวตายถึง 399,206 คนเมื่อเทียบกับผู้ที่มีวุฒิการศึกษาในระดับวิทยาลัยหรือสูงกว่ามีอัตราการฆ่าตัวตาย 140,176 คน

ผู้ร่วมวิจัยคนหนึ่งกล่าวว่า ผลของการวิจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นเป็นสิ่งสำคัญในช่วงเวลาที่อัตราการว่างงานสูง โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่ต่ำที่มีความเสี่ยงสูงและเป็นผลร้ายต่อสุขภาพจิต ซึ่งนโยบายต่างๆ ที่ออกมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรอาจจะลดความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายได้เช่นกัน

ทั้งนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมางานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมีผลต่อสุขภาพของประชากรวัยทำงานเช่นกัน

ที่มา CNN