งานวิจัยคำแนะนำเรื่องโรคอ้วนที่ตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ของแคนาดาระบุว่า โรคอ้วนนั้นเป็นโรคเรื้อรังที่ควรได้รับการรักษาในระยะยาว และแพทย์ควรให้คำแนะนำในการรักษามากกว่าวิธีการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย โดยแพทย์ที่รักษาควรคำนึงถึงสาเหตุของน้ำหนักที่ขึ้นมาและใช้วิธีการรักษาแบบองค์รวม
งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ว่า แนวคิดเรื่องการรักษาโรคอ้วนนั้นถูกครอบงำด้วยการอ้างถึงการขาดความรับผิดชอบและความตั้งใจในการลดน้ำหนักของผู้ที่มีภาวะอ้วน ดังนั้น การรักษาโรคอ้วนควรใช้วิธีการรักษาที่เข้าใจถึงพื้นฐานการรักษาทางกายภาพและการรักษาโรคอ้วนที่สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้
'ไซเมนา รามอส ซาลาส' ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนโยบายภาวะความอ้วนของแคนาดากล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นแพทย์จำนวนมากเลือกปฏิบัติกับผู้ป่วยที่เป็นโรคอ้วนและเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การรักษาที่มีผลเสียต่อสุขภาพ
"ความอคติที่มีต่อน้ำหนักนั้นไม่ได้เป็นเพียงความเชื่อที่ผิดสำหรับโรคอ้วน แต่อคติเรื่องน้ำหนักส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วย" รามอส ซาลาสกล่าว
ในคำแนะนำฉบับนี้ยังกล่าวว่า หมอควรให้คำแนะนำในแนวทางการรักษาโรคอ้วนด้วยแนวทางจิตวิทยา การรักษาทางการแพทย์รวมถึงการผ่าตัดกระเพาะอาหาร มากกว่าการให้คำแนะนำผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนให้กินน้อยลงและขยับตัวมากขึ้น
รามอส ซาลาสกล่าวว่า "คนที่มีภาวะโรคอ้วนต้องการกำลังใจเช่นเดียวกับคนที่มีโรคเรื้อรังอื่นๆ"
ที่ผ่านมางานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า คนจำนวนมากที่ลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารนั้น น้ำหนักจะกลับมาอีกครั้งหากกลับไปมีพฤติกรรมการกินที่เหมือนเดิม
ขณะที่งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า การควบคุมอาหารนั้นไม่ได้ผลกับการลดความอ้วน โดยชี้ว่าการลดอาหารที่รับประทานและเพิ่มการออกกำลังกายที่มากขึ้นนั้นจะนำไปสู่การใช้ที่พลังงานที่ไม่สมดุลรวมถึงกระตุ้นการเผาผลาญและการปรับสมดุลของระบบสมองและประสาทอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวต่อการจัดการภาวะโรคอ้วนของร่างกาย
งานวิจันชิ้นนี้ยังกล่าวว่า สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้นการลดน้ำหนักเพียงแค่ 3- 5% ก็สามารถฟื้นฟูสุขภาพร่างกายได้และอาจจะเป็นน้ำหนักที่เหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของบุคคลนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำหนักตามอุดมคติของตารางดัชนีมวลกาย (BMI)
องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำนิยามโรคอ้วนระบุว่า ภาวะโรคอ้วนและน้ำหนักเกิน เป็นนิยามของภาวะความผิดปกติหรือการมีไขมันส่วนเกินที่อาจส่งผลเสียสุขภาพ
ทั้งนี้ WHO ระบุว่า ภาวะอ้วนในผู้ใหญ่นั้นมีดัชนีชี้วัดจาก ดัชนีมวลร่างการ หรือ BMI ที่ต้องเท่ากับหรือมากกว่า 30 ขณะที่หากเป็นภาวะน้ำหนักเกินจะมีค่า BMI อยู่ที่เท่ากับหรือมากกว่า 25 โดยค่า BMI นี้วัดจาก น้ำหนัก หารด้วย ส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลัง 2 (kg/m2)
ที่มา BBC