ไม่พบผลการค้นหา
หลายประเทศตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อสู้กับ fake news เรื่อง 'โควิด-19' แต่ยูเนสโกชี้ 'ข่าวลวง' 'ข้อมูลผิด' 'ข้อมูลบิดเบือน-แฝงเจตนาร้าย' อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และองค์กรสื่อชี้ 'ปิดกั้นข้อมูลแบบเหมารวม' น่ากังวลเช่นกัน กระทบการรับรู้ของประชาชนในการรับมือโรคระบาด

คำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) หลังประกาศว่า 'โรคโควิด-19' เข้าสู่การระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) เมื่อวันที่ 12 มี.ค. คือ การย้ำว่า อีกหลายประเทศจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 อย่างไม่มีทางเลี่ยง และจะทำให้สถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต 'เพิ่มสูงขึ้น' ในประเทศที่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับโรคดังกล่าว

ส่วนปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ และต้องหาทางรับมืออย่างเร่งด่วนเช่นกัน คือ การยับยั้ง 'ข่าวลวง' หรือ 'ข่าวปลอม' (fake news) เกี่ยวกับโควิด-19 ไม่ให้สร้างความสับสนหรือก่อความตื่นตระหนกในสังคม

กรณีของประเทศไทย กระทรวงดีอีเอสมอบอำนาจให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-fake news center รับมือกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดหรือข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่อีกหลายประเทศจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-check) และแก้ไขในกรณีที่มีการเข้าใจผิด

นอกจากนี้ ภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างยูทูบ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ประกาศตั้งแต่ระยะแรกของการแพร่ระบาดของโรคว่า บริษัทจะตรวจตราข้อมูลและจำกัดการสร้างรายได้จากข้อมูลเกี่ยวกับ 'โควิด-19' ในแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อป้องกันผู้ฉวยโอกาสเผยแพร่ข้อมูลให้คนตื่นตระหนก หรือสร้างชุดข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อหวังการแชร์และเพิ่มยอดการรับชมที่มีผลต่อการสร้างรายได้

จนกระทั่งวันที่ 13 มี.ค.2563 ยูทูบจึงได้ประกาศว่า จะยกเลิกข้อจำกัดเรื่องการสร้างรายได้ของวิดีโอที่พูดถึงโควิด-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพราะพิจารณาว่า การสร้างรายได้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตเนื้อหาหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ มีแรงจูงใจสร้างงานที่มีคุณภาพและให้ความรู้แก่ผู้รับชมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน


'ข่าวปลอม' คืออะไรกันแน่?

แม้สังคมไทยจะนิยมใช้คำว่า 'ข่าวปลอม' หรือ fake news แต่ยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน ขณะที่ 'ยูเนสโก' ซึ่งร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของไทย จัดทำและเผยแพร่เอกสาร 'การเสนอข่าว 'ข่าวลวง' และข้อมูลบิดเบือน: คู่มือเพื่อการศึกษาและอบรมด้านวารสารศาสตร์' เมื่อปี 2562 เรียก fake news ว่า 'ข่าวลวง' ในภาษาไทย

เนื้อหาในคู่มือฉบับนี้ระบุว่าถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า 'ข่าวลวง' 'ข่าวปลอม' และแม้กระทั่ง 'สื่อปลอม' เพราะเป็นคำที่มักจะ "ถูกใช้อย่างแพร่หลายกับรายงานข่าวที่ผู้ใช้คำดังกล่าวไม่เห็นด้วย" (หน้า 52) และ "คำนี้เสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้เพื่อเหตุผลทางการเมือง และเป็นอาวุธในการทำลายอุตสาหกรรมข่าว เพื่อบั่นทอนการรายงานข่าวที่ผู้มีอำนาจไม่พอใจ" พร้อมทั้งแนะนำให้ใช้คำว่า 'ข้อมูลที่ผิด' และ 'ข้อมูลที่บิดเบือน' แทน

คู่มือดังกล่าวจำแนกความผิดปกติของข้อมูลออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่:

1. 'ข้อมูลที่ผิด' misinformation คือ ข้อมูลสารสนเทศที่ปลอมขึ้นมา หรือเป็นเท็จ แต่บุคคลที่เผยแพร่ 'เชื่อว่า' เป็นความจริง

2. 'ข้อมูลบิดเบือน' disinformation คือ ข้อมูลที่บิดเบือน และบุคคลที่เผยแพร่ก็รู้แก่ใจว่าไม่เป็นความจริง เป็นการเจตนาโกหก และมีเป้าหมายคือกลุ่มคนที่ถูกหลอกได้ง่าย โดยผู้ไม่ประสงค์ดี

3. 'ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย' malinformation คือ ข้อมูลที่มีพื้นฐานของความจริง แต่ถูกนำไปใช้เพื่อทำร้ายบุคคล องค์กร หรือประเทศ หรือข้อมูลที่ถูกสร้าง ผลิต หรือเผยแพร่โดย 'ตัวแทน' ที่มีเจตนาร้าย

AFP-มือถือ-แอปพลิเคชั่น-WhatsApp-วอทแอพ-เฟซบุ๊ก-facebook-อินสตาแกรม-IG
  • การสื่อสารในปัจจุบันหลากหลายมากขึ้น และการส่งต่อข้อมูลทำได้หลายช่องทาง

นอกจากนี้ ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย ยังสามารถแบ่งออกเป็น 7 ประเภทย่อยๆ ได้แก่

  • เรื่องเสียดสีและล้อเลียน
  • การเชื่อมโยงที่เป็นเท็จ
  • เนื้อหาที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด เพื่อตั้งประเด็นหรือใส่ร้ายบุคคลให้เสียหาย ด้วยการตัดต่อภาพถ่ายหรือเลือกคำกล่าวที่จงใจคัดสรรมาให้เข้าใจผิด
  • บริบทที่เป็นเท็จ คือ ข้อมูลที่ถูกนำมาเผยแพร่นอกบริบทเดิม เช่น ภาพเหตุการณ์ในอดีต แต่ถูกนำมาส่งต่อโดยอ้างว่าเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งในปัจจุบัน
  • เนื้อหาที่เป็นการแอบอ้าง อาจจะแอบอ้างบุคคลมีชื่อเสียงหรือแอบอ้างองค์กร เพื่อความน่าเชื่อถือ แต่บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เผยแพร่เลย
  • เนื้อหาที่ถูกดัดแปลง เนื้อหาที่ถูกตัดต่อเพื่อหลอกหลวง
  • เนื้อหาที่กุขึ้นมา ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของข้อความหรือ 'เว็บข่าว' ที่ 'กุข่าวขึ้นมาเองทั้งหมด'

เมื่อ 'ข่าวลวง' กลายเป็นข้ออ้างให้รัฐปิดกั้นข้อมูล

การจำแนกข้อมูลข่าวสารในสื่อออนไลน์ว่าอะไรคือข่าวลวง ข้อมูลที่ผิด ข้อมูลบิดเบือน หรือข้อมูลที่มีเจตนาร้าย ต้องใช้วิจารณญาณอย่างมากทั้งในแง่ของผู้รับสารและผู้ที่มีอำนาจกำกับดูแล เพราะหากไม่ 'คิด วิเคราะห์ แยกแยะ' อาจนำไปสู่การปิดกั้นข้อมูลแบบเหมารวม ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อสังคม แต่ยิ่งส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการประเมินแนวทางรับมือหรือการปฏิบัติตัวของประชาชนในสถานการณ์วิกฤต

โลตัส หร่วน นักวิจัยของ Citizen Lab องค์กรเอกชนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศซึ่งติดตามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปิดกั้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันสนทนาทางสมาร์ตโฟนในประเทศจีน ยืนยันว่า การให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณชน จะช่วยให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำกว่าการไม่มีข้อมูล หรือข้อมูลไม่ชัดเจน และจะช่วยให้การป้องกันและควบคุมโรคในระดับประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

บทสัมภาษณ์ของหร่วนที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ CPJ องค์กรด้านการปกป้องสื่อ ระบุว่า การกำกับดูแลข้อมูลต่างๆ ในสื่อออนไลน์และอุปกรณ์ดิจิทัลทุกวันนี้ จำเป็นต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสและมีหลักเกณฑ์น่าเชื่อถือ ส่วนการเสนอข้อมูลของภาครัฐก็ต้องครอบคลุมและตรวจสอบได้ จะช่วยให้สังคมสามารถแยกแยะข้อมูลที่ผิด และข้อมูลบิดเบือนได้ง่ายขึ้น ช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวของสังคมอีกทางหนึ่ง

AFP หลี่เหวินเลี่ยง หมอ แพทย์ อู่ฮั่น ไวรัสโคโรนา Corona virus Li Wenliang doctor Wuhan
  • ชาวจีนวางช่อดอกไม้ไว้อาลัย นพ.หลี่เหวินเหลียง ที่โรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่น

อย่างไรก็ตาม กรณีของนายแพทย์หลี่เหวินเหลียง ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลากรการแพทย์รายแรกๆ ในเมืองอู่ฮั่นของจีนที่เตือนคนรอบตัวให้เฝ้าระวังไวรัสโคโรนาที่เขาพบในผู้ป่วยจำนวนหนึ่งตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองอู่ฮั่นกล่าวหาว่า'เผยแพร่ข่าวปลอม' สร้างความตื่นตระหนกแก่สังคม และ Citizen Lab ยังพบข้อมูลบ่งชี้ว่า หน่วยงานรัฐบาลจีนปิดกั้นไม่ให้คนส่งต่อ หรือค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสในแอปพลิเคชันสนทนาทางสมาร์ตโฟนที่ให้บริการในประเทศ

กว่ารัฐบาลจีนออกมายอมรับในเดือน ม.ค.2563 ว่าพบโรคปอดอักเสบที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในอู่ฮั่น นพ.หลี่และบุคลากรการแพทย์คนอื่นๆ รวมถึงประชาชนในเมืองอู่ฮั่น ก็ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสไปแล้ว

เมื่อ นพ.หลี่เสียชีวิตในวันที่ 6 ก.พ. 2563 จึงมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเขา แต่ไม่พอใจที่หน่วยงานรัฐบาลจีนปิดกั้นข้อมูลที่มีผลต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน และมองว่าถ้าภาครัฐฟังคำเตือนของ นพ.หลี่ และตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่แรก สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงอาจป้องกันหรือบรรเทาได้

ด้วยเหตุนี้ หร่วนจึงย้ำว่า รัฐบาลต่างๆ ไม่เฉพาะจีน มักปิดกั้นข้อมูลข่าวสารหรือช่องทางการสื่อสารของประชาชน โดยอ้างว่าทำไปเพื่อควบคุมและป้องกันการเผยแพร่ 'ข่าวลวง' แต่การจะบอกว่าอะไรคือ 'ข่าวลวง' มักขึ้นอยู่กับว่า 'ใคร' หรือ 'หน่วยงานใด' เป็นผู้ชี้ขาด และ 'ใช้หลักเกณฑ์ใดบ้าง' ในการปิดกั้นข้อมูลเหล่านั้น ถ้าหากสามารถเปิดเผยหลักเกณฑ์การตรวจสอบได้อย่างชัดเจนต่อสาธารณชนได้ ก็ดีกว่าการกำกับดูแลโดยใช้วิธี 'ปิดกั้นข้อมูลแบบเหมารวม' ทั้งหมด


ใครจะตรวจสอบ 'ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง'

กรณีของประเทศไทย เว็บไซต์ Khaosod English ในเครือมติชน รายงานข่าว ‘ANTI-FAKE NEWS CENTER’ RESPONDS AFTER RATING KHAOSOD STORY AS HOAX เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 อ้างถึงกรณีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดีอีเอส นำภาพหน้าจอเว็บไซต์ข่าวสดไปเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเฟจ โดยระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็น 'ข่าวปลอม'

พุทธิพงษ์ ศูนย์ต้านข่าวปลอม_7689928541630103552_n.jpg
  • พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดีอีเอส แถลงเปิดศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมเมื่อ 1 พ.ย.2562

การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวทำให้กองบรรณาธิการของข่าวสดโต้แย้งไปยังศูนย์ฯ และย้ำว่าข่าวดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เผยแพร่โดยเฟซบุ๊กเพจสถานทูตไทยในอังกฤษ ซึ่งเตือนว่าพลเมืองไทยที่จะเดินทางไปอังกฤษอาจถูกกักตัว 14 วัน เพราะเป็นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของอังกฤษ

กองบรรณาธิการข่าวสดได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมว่า เพจดังกล่าวที่ข่าวสดอ้างอิง 'เป็นเพจปลอม' ข่าวสดจึงรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมยืนยันว่าข้อมูลที่รายงานคือ 'ข้อเท็จจริง' จากแหล่งที่เป็นทางการ ในที่สุดเพจศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ลบข้อมูลที่พาดพิงข่าวสดทิ้งไป แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมในเพจดังกล่าว

หลังจากนั้น ข่าวสดรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ติดต่อกลับมายังกองบรรณาธิการ และแจ้งว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของสถานทูตไทยในลอนดอนเป็น 'ข้อมูลที่ยังไม่เป็นทางการ' เพราะยังไม่ได้ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี และการระบุว่าข่าวสด 'รายงานข่าวปลอม' เกิดจากข้อผิดพลาดระหว่างปฏิบัติงาน ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวหาข่าวสดแต่อย่างใด และระบุว่า "จะปรับปรุงการทำงานเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอมต่อไปในอนาคต"

ส่วนชื่อบทความดั้งเดิมของข่าวสดที่เกี่ยวกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม คือ Who fact checks the fact checkers? (ใครจะตรวจสอบผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: