เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Global Times สื่อของรัฐบาลจีน รายงานว่ากองทัพไทยและจีนมีความคืบหน้าด้านความร่วมมือทางการทหารและการค้า หลังจากทั้งสองฝ่ายลงนามในข้อตกลงจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ร่วมกัน โดยตัวแทนของไทย คือ พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือไทย และตัวแทนของจีน คือ หยางจินเฉิง ผู้บริหารบริษัทต่อเรือของรัฐบาลจีน China State Shipbuilding Corporation Limited (CSSC) ซึ่งทั้งคู่ได้ลงนามร่วมกันที่กรุงปักกิ่งของจีนเมื่อวันจันทร์ที่ 9 ก.ย.2562
แถลงการณ์ของ CSSC ระบุว่า เรือลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก (Landing Platform Dock หรือ LPD) ที่จะผลิตและส่งออกไปยังไทย คือ รุ่น Type 071E ซึ่งมีระวางขับน้ำ 20,000 ตัน สามารถลำเลียงกำลังพลและบรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ได้หลายประเภท ทั้งยานเบาะอากาศ (air-cushioned landing craft: LCAC) ยานรบสะเทินน้ำสะเทนบก (amphibious assault vehicles) รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ พร้อมระบุว่าจะเป็นการส่งออกเรือ LPD จีน 'ล็อตแรก' ไปยังต่างประเทศ
เว่ยตงซู่ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงประจำกรุงปักกิ่ง เปิดเผยกับ 'โกลบัลไทม์ส' ด้วยว่า กองทัพเรือไทยสามารถใช้เรือลำเลียงพล LPD ในการปฏิบัติภารกิจได้อีกหลายด้าน และคาดว่าไทยต้องการเพิ่มศักยภาพในการแปรแถวทางทะเล รวมถึงใช้ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนในช่วงที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ เรือ LPD Type 071E มีสมรรถนะไม่แตกต่างจากเรือรบ 'อวี้จ้าว' (Yuzhao) Type 071 ซึ่งกองทัพเรือจีนใช้อยู่ในปัจจุบัน จึงมีความเป็นไปได้ว่าตัวอักษร E ที่ต่อท้ายเรือ LPD ซึ่งไทยจัดซื้อจัดหา น่าจะย่อมาจากคำว่า 'ส่งออก' หรือ Export ทั้งยังเป็นความคืบหน้าของกิจการอาวุธยุทโธปกรณ์จีน เพราะก่อนหน้านี้ กองทัพไทยก็ได้ลงนามจัดซื้อจัดหายานเกราะ VT4 จากบริษัท China North Industries Corporation หรือ NORINCO กิจการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลจีนไปแล้วรอบหนึ่ง
ส่วนเว็บไซต์ Defense News สื่อด้านความมั่นคงในสหรัฐอเมริกา รายงานว่า การลงนามระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย-จีนเพื่อผลิตและจัดซื้อจัดหาเรือ LPD จะทำให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความสนใจเรือดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น พร้อมระบุว่าเรือ LPD ของกองทัพจีนในปัจจุบันมีทั้งหมด 6 สเปก ซึ่งผลิตและประกอบที่บริษัทต่อเรือ CSSC ในย่านหู่ตง-จงหวาของจีน แต่รุ่น 071E คาดว่าจะถูกปรับหรือพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้เข้ากับความต้องการใช้งานของกองทัพเรือไทย
ดีเฟนส์นิวส์รายงานด้วยว่า ทางการไทยและจีนไม่ได้เปิดเผยตัวเลขงบประมาณในการจัดซื้อจัดหาเรือ LPD Type 071E ทั้งยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาดำเนินการที่ชัดเจน แต่ระบุเพียงว่า เรือรุ่นนี้จะมีความยาวประมาณ 689 ฟุต ระวางขับน้ำสูงสุด 25,000 ตัน และลำเลียงกำลังพลได้ประมาณ 600-800 นาย บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ได้ 4 ลำ รวมถึงลานจอดที่รองรับการขึ้นและลงของ ฮ.ได้ครั้งละ 2 ลำ แต่สื่อในประเทศไทย เช่น 'บางกอกโพสต์' รายงานว่าการจัดซื้อจัดหาเรือลำเลียงพลครั้งนี้อาจใช้เงินมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6,200 ล้านบาท)
ที่ผ่านมา กองทัพเรือไทยมีเรือสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดใหญ่อยู่ลำหนึ่ง คือ เรือหลวงอ่างทอง สังกัดกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ ซึ่งเป็นเรือชั้นเอนดูแรนซ์ (Endurance) ความยาวประมาณ 462 ฟุต จัดซื้อจัดหาจากบริษัทเอสที. เอ็นจิเนียริ่ง ของสิงคโปร์ในปี 2551 และเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2555 ส่วนเรือที่สามารถลำเลียงเฮลิคอปเตอร์ในขณะนี้หลักๆ คือ เรือหลวงจักรีนฤเบศร
รายงานของดีเฟนส์นิวส์ระบุว่า ไทยเป็นประเทศพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ที่ไม่เป็นสมาชิกนาโต แต่การลงนามร่วมจัดซื้อจัดหาเรือรบใหม่ระหว่างไทยและจีน สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ กับประเทศมหาอำนาจแถบเอเชียแห่งนี้ และไทยเพิ่งจะฝึกซ้อมรบแบบผสมร่วมกับจีนไปเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อปฏิบัติการว่า Falcon Strike 2019
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ IHS Jane's สื่อด้านความมั่นคงเก่าแก่ของโลก รายงานว่าเรือ LPD 071E ของจีน พัฒนาจากเรือ LPD Type 071 ซึ่งกองทัพจีนมีอยู่ทั้งหมด 6 ลำ โดยที่ 2 ลำถูกปล่อยลงน้ำคร้ังแรกเมื่อเดือน ธ.ค.2561 และ มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา เรือดังกล่าวมีความยาวประมาณ 210 เมตร คานรับน้ำหนักกว้าง 28 เมตร และระวางขับน้ำ 20,000 ตัน
ที่มา: Defense News/ IHS Jane's/ Global Times
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: