ไม่พบผลการค้นหา
'เอกชัย ไชยนุวัติ' นักวิชาการด้านนิติศาสตร์เชื่อเงื่อนไขพรรคประชาธิปัตย์ ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้ออ้างร่วมรัฐบาล มอง ส.ว. ร่วมเลือกนายกฯ สร้างความไม่ชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย

นายเอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสยาม ระบุว่าวุฒิสมาชิก ซึ่งไม่ได้มาจากประชาชนจะเข้ามามีสิทธิ์ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ขั้นตอนแรก ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น และสมาชิกวุฒิสภาก็ไม่ใช่ตัวแทนของปวงชนชาวไทย สร้างความไม่ชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย ที่บุคคลคนเดียว ตั้ง 250 คนเพื่อเข้ามาเลือกผู้นำฝ่ายบริหารต่างจากประชาชนที่ มี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเลือกตัวแทน ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเข้ามาเลือกนายกรัฐมนตรี

ทั้งหมดเป็นผลจาก ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชามติ ที่ถูกควบคุม การรณรงค์ ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปอย่างเสรี คำถามพ่วงประชามติ ก็ไม่มีความชัดเจน ดังนั้นการเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้นทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จะต้องเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยจะต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำใดๆ และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆในการลงมติ 

สมาชิกวุฒิสภาต้องตระหนักว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จะต้องไว้ใจเสียงส่วนใหญ่ ที่มาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกวุฒิสภา จะต้องไม่ใช้เสียงทั้งหมดที่มีอยู่รวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วน เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภา ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ซึ่งก็คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 500 คน

นายเอกชัย ย้ำว่าการเลือกนายกรัฐมนตรี บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องกระทำโดยเปิดเผย ซึ่งเจตนารมณ์ ดังกล่าว เพื่อต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับผิดชอบต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่มีงูเห่า เพราะจะต้องลงมติโดยเปิดเผย พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่าหากสมาชิกของพรรคการเมืองจะลงมติต่างจากมติของพรรคสามารถกระทำได้

แต่มีข้อจำกัดโดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (9) ระบุว่า กรณีที่มีการลงมติ สวนมติของพรรค หากพรรคการเมืองนั้นไปประชุม แล้วมีมติ 3 ใน 4 ของ กรรมการบริหาร ก็สามารถขับไล่ ส.ส.คนดังกล่าว ออกจากพรรคได้ทันที

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้ ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรค สามารถหาสังกัดใหม่ได้ภายใน 30 วัน จึงจะสามารถเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไปได้

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ วิจารณ์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ใช้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นข้ออ้างเพื่อเข้าร่วมรัฐบาล เพราะก่อนการเลือกตั้ง อดีตหัวหน้าพรรค รวมถึงสมาชิกหลายคน ประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่วาระเร่งด่วนแต่จนถึงขณะนี้กลับมีแนวโน้มว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเห็นว่าเงื่อนไขการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเพียงข้ออ้าง