ไม่พบผลการค้นหา
'พิจารณ์' บี้กลาโหมเปิดรายได้ธุรกิจกองทัพ หลังรอมา 202 วันยังเงียบ วอนลดงบซื้ออาวุธ ด้าน 'ประยุทธ์' แจง "จัดซื้อเพื่อทดแทนของเก่า"

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศกำลังเจอกับภัยคุกคามทางโรคระบาด ไม่ใช่ภัยคุกคามทางทหาร รัฐบาลจำเป็นต้องปรับความคิดเรื่องความมั่นคงจากทางทหาร เป็นความมั่นคงในชีวิตของพี่น้องประชาชน การจัดทำงบประมาณต้องปรับงบกองทัพลง เพื่อให้มีงบประมาณรองรับปัญหาเศรษฐกิจ สาธารณสุข และเยียวยาประชาชนมากขึ้น

เมื่อมาดูงบประมาณกระทรวงกลาโหม ตนขอเรียกว่า 'งบ ลวง พราง' ซึ่งมีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ 1.ลวงว่าลดแต่ไม่ได้ลด จากงบประมาณของกระทรวง 2.23 แสนล้านบาท เหมือนกับสัดส่วนของปีก่อนๆ แต่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 แม้ว่าปีนี้จะดูเหมือนว่าลดลงไป 8,200 ล้านบาท ขณะเดียวกัน เมื่อไปดูที่การโอนงบประมาณจากปี 2563 จำนวน 17,700 ล้านบาท เหลืองบประมาณของกระทรวงกลาโหมเดิมเหลือ 2.13 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2564 ก็จะเห็นว่าได้เพิ่มขึ้นจากงบประมาณที่ใช้ไปเมื่อปีที่แล้วหลักหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน งบประมาณเรือดำน้ำ งบซื้อเครื่องบินของกองทัพอากาศ ก็ยังมีอยู่ ทั้งที่ถูกตัดงบโอนคืนไปเมื่อปีที่แล้ว 

2.การตัดงบอำพราง กระทรวงกลาโหมก่อหนี้ผูกพันข้ามปีถึง 173,144 ล้านบาท หรือ 77.46 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ ขณะที่ทั้งรัฐบาลมีหนี้ผูกพัน 1,199,000 ล้านบาท หรือเพียง 36.33 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยกว่าเท่าตัว นั่นหมายความว่ารัฐบาลไหนเข้ามาก็ต้องใช้หนี้ส่วนนี้ ซึ่งงบผูกพันเหล่านี้ยังเบียดบังโครงการที่จำเป็น ซึ่งงบผูกพันเหล่านี้มี 22 โครงการเป็นงบการจัดซื้ออาวุธ และ 2 โครงการบำรุงและซ่อมอากาศยาน ซึ่งควรชะลอออกไปก่อน

3.เงินนอกงบประมาณที่ไม่ได้รายงานจากรายได้ที่เป็นธุรกิจของกองทัพ เช่น ปั๊มน้ำมัน, สนามม้า, สนามมวย ฯลฯ ทั้งที่เคยบอกว่าจะปฏิรูปกองทัพแต่ไม่นำเงินจำนวนนี้ขึ้นมาบนโต๊ะ ทำธุรกิจโดยไม่เปิดเผยรายได้ งบการเงิน หรือผลการตอบแทนให้ใคร หรือว่าเป็นธุรกิจผิดกฎหมาย มีการจัดสรรแบ่งปันกัน เหมือนกันในการชั้นกรรมาธิการเมื่อปี 2563 ถามเกี่ยวกับธุรกิจกองทัพก็ไม่มีคำตอบ ตนเคยถามนายกรัฐมนตรีในกระทู้ถามสดเมื่อเดือนธันวาคม รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมก็ตอบเพียงว่าอยู่ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลแต่วันนี้ผ่านมา 202 วันแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบ

นายพิจารณ์ กล่าวต่อว่าจาก 3 ข้อสังเกตในเบื้องต้น นำมาสู่ 3 ข้อเสนอ คือ 1.ตัดลดงบประมาณ 11,840 ล้านบาทจากการชะลอ 6 โครงการผูกพันใหม่ 22 โครงการซื้ออาวุธใหม่ และ 2 โครงการซ่อมบำรุงอากาศยาน 2.ลดหนี้ผูกพันให้เหลือไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณประจำปี และ 3. เปิดเผยผลการดำเนินงานธุรกิจทุกอย่างของกองทัพ เพื่อให้รายได้กลับมาสมทบคลัง เพื่อนำไปใช้จ่ายในด้านที่จำเป็น แล้วค่อยทำโครงการขอมาหากมีโครงการที่จำเป็นเหมือนกระทรวงอื่นๆ

‘ชัยชาญ’ แจงงบกองทัพ ลดลง 8,281 ล้านบาท

ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นตอบข้ออภิปรายของฝ่ายค้านถึงกรณีบทบาทและหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณว่า ในบทบาทหน้าที่ของกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบด้านความมั่นคง โดยกองทัพมีภารกิจ 2 ประการ คือ การเตรียมกำลังกองทัพ โดยต้องให้มีความพร้อมในยามปกติ เรื่องกำลังพลการฝึกศึกษา และการเตรียมพร้อมเรื่องยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมต่อการปฏิบัติภารกิจในเรื่องการใช้กำลังพล

นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมและกองทัพทราบดีว่าในสถานการณ์ในอนาคตและปัจจุบัน นอกจากภัยคุกคามและการใช้กำลังพลแล้ว ภัยคุกคามแบบใหม่ ทั้งยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ การหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึงภัยพิบัติ กองทัพก็เข้าไปมีบทบาทดูแลช่วยเหลือประชาชน ซึ่งในปัจจุบันเองก็มีโรคระบาดโควิด-19 กองทัพก็ได้มีการปรับโครงสร้างให้รองรับกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยมีการปรับหน่วยแพทย์กองทัพ ตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข จัดทีมแพทย์และทีมรักษาความปลอดภัยลงไปดูแลช่วยเหลือประชาชน พร้อมจัดทำ state quarantine ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 32 แห่ง

ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญ ยังระบุอีกว่า ขออย่าลืมว่าประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อกับต่างประเทศ ซึ่งบางพื้นที่อาจมีปัญหาไม่ชัดเจน ทั้งการทับซ้อนทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งต้องจัดกำลังพลส่วนหนึ่งให้มีความพร้อม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยการจัดเตรียมกำลังคนให้พร้อมและคล่องแคล่วต่อภัยคุกคามหรือสงครามแบบจำกัด โดยหากกำลังพลไม่มีความพร้อมก็อาจจะดำเนินการเพลี่ยงพล้ำ

ส่วนข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ รมช.กลาโหม ได้มีการชี้แจงว่า งบประมาณส่วนใหญ่ใช้เพื่อซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ซึ่งมีอายุใช้งานเก่าแก่กว่า 30 ปี ส่วนอากาศยานเองที่ใช้ฝึกอยู่ก็มีอายุการใช้งาน 40-50 ปี จึงจำเป็นต้องจัดซื้อจัดจ้างเพื่อทดแทน เนื่องจากต้องเป็นห่วงความปลอดภัยของกำลังพลฝึกและครูฝึกด้วย ส่วนการจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ จะจัดหาเท่าที่จำเป็น เท่าที่ยอมรับในเกณฑ์เสี่ยงได้ ควบคู่กับการวิจัยพัฒนาพึ่งพาตนเองและลดการนำเข้า

ส่วนงบประมาณปี 2563 ที่มีการโอนงบกว่า 1.8 พันล้านล้านบาทเพื่อไปใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งงบประมาณปี 2564 ลดลง 8,281 ล้านบาทหรือกว่า ร้อยละ 3.57 ของปี 2563 แล้วเรื่องงบที่ได้รับของปี 2560 นั้นก็ลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่มีการลดลงกว่าร้อยละ 12 

ด้านงบประมาณผูกพัน การจัดหายุทโธปกรณ์มีความจำเป็น ซึ่งมีระยะเวลาในการผลิตและส่งมอบไม่ต่ำกว่า 3 ปี บางอย่างต้องใช้เวลา 5-6 ปี เพราะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงส่งกำลังวนไปเรียนรู้ ทำให้มีงบประมาณผูกพันรายจ่ายอยู่

ทั้งนี้ งบประมาณเงินนอกสวัสดิการกองทัพเกือบทุกประเทศ มีไว้ดูแลกำลังพลและครอบครัว กองทัพดำเนินการเยียวยาตามระเบียบ ซึ่งปัจจุบันกองทัพบกร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ให้เกิดสูงสุด นำรายได้เข้าประเทศและกองทัพ ในส่วนของประกันชีวิต ก็ได้มีการจัดให้กับกำลังพลครั้งตามชายแดนและประจำการตามระเบียบของกำลังพลซึ่งทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้ ส่วนศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยานของกองทัพเรือได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการอยู่ โดยจะต้องย้ายออกเพื่อจัดสร้างรันเวย์ที่ 2 โดยให้เป็นไปตามการดำเนินการในปีแรก ซึ่งกระทรวงกลาโหมได้ดำเนินการตามบทบาทและหน้าที่

ทั้งนี้ พล.อ.ชัยชาญยังระบุถึงการปฏิรูปกองทัพและกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีแผนพัฒนาและปรับโครงสร้างปัญหาของกองทัพโดยตลอดและต่อเนื่องซึ่งทุกเรื่องมีการบริหารจัดการโดยเฉพาะกำลังพลของกระทรวงกลาโหมมีการปรับเป็น 2 ระบบรับกำลังพลสำรองมาไว้ในสภาวะปกติซึ่งทำให้งบประมาณการจัดหากำลังพลและลดลง และต่อจากนี้กำลังพลของกระทรวงกลาโหมจะถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กำลังพลทหารและกำลังพลพลเรือน ซึ่งจะถือเป็นการปฏิรูปกองทัพโดยมีเป้าหมายเพื่อลดกำลังพล

‘ประยุทธ์’ ชี้จัดซื้อเพื่อทดแทนของเก่า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลุกขึ้นชี้แจงเพิ่มเติมจาก พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับการผูกพันงบประมาณข้ามปี ว่า ตนได้ตรวจสอบทั้งงบประมาณแล้วว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกประการ ในส่วนของงบผูกพันข้ามปีที่สะสมมานั้น เนื่องจากว่าการจัดซื้อยุทธโธปกรณ์ด้านต่างๆต้องใช้เวลาในการผลิต ในการผ่อนชำระและก็มีราคาแพง วันนี้จึงจำเป็นต้องปรับยุทธโธปกรณ์ของเรา ซึ่งอาจจะมองว่ามีเพียงพอหรือยัง

จึงอยากจะชี้แจงว่าที่ผ่านมานั้น เราไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนในเรื่องของการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ เลย ทำให้ยุทธโธปกรณ์ในปัจจุบันมีของเก่าประมาณ 70–80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นส่วนที่จัดหาทดแทนคือเพื่อไม่ให้ไปเสียงบในส่วนของการซ่อมบำรุงที่นับวันจะไม่สามารถใช้งานได้ เพราะมีภารกิจป้องกันอธิปไตยตามแนวชายแดน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของกำลังและยุทธโธปกรณ์ และข้อสำคัญคือวันนี้เทคโนโลยีต่างๆ นั้นก้าวไกล ดังนั้นยุทโธปกรณ์ที่ไม่ทันสมัยก็อาจจะเป็นปัญหากับเราต่อไปในอนาคต อีกทั้งการจัดซื้อยุทธโธปกรณ์นั้น ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ซื้อวันนี้แล้วจะได้ทันที เพราะต้องไปประกอบการผลิตใหม่ขึ้นมา ไม่ได้มีการสำรองไว้หน้าร้าน ส่วนการบรรจุข้าราชการทหารในปัจจุบัน มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น บนหลักการที่ควรจะต้องมี เพราะเห็นถึงความสำคัญและการขาดแคลนงบประมาณของประเทศด้วย 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยยังมีพันธกิจที่สำคัญด้านความมั่นคงกับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และโลก คือการสนับสนุนภารกิจขององค์การสหประชาชาติ จึงอยากให้ทุกคนช่วยกันดูแลว่าวันนี้สถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไรบ้าง แต่ทั้งนี้รัฐบาลก็เข้าใจถึงความห่วงใยของทุกคน ซึ่งตนในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและนายกรัฐมนตรีด้วย ก็พยายามจะทำให้ดีที่สุด เพียงแต่ขอความเข้าใจกันบ้าง และหลายๆ คนลูกหลานก็เป็นทหารทั้งสิ้น ดังนั้นคงต้องห่วงใยเขา หากเราไม่มียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ไม่สามารถป้องกันตนเองได้ ในขณะที่อาวุธต่างๆ มีความร้ายแรงมากขึ้น ก็อาจจะทำให้เกิดความสูญเสียต่อลูกหลานทุกคนได้