ไม่พบผลการค้นหา
คนดนตรีผู้สืบสานจารีตประเพณีอีสาน หลงใหลและเทิดทูนวัฒนธรรมหมอลำในวันที่โลกถูกกลืนกินจากการเมืองและเงินตรา

"ย้อนความรู้ที่เรียนมา ย้อนวิซาที่ครูให่ได้มาโกงกินบ้านได่มาผานภาษีเอาเปรียบน้องพี่ อยากเอาขี่ใส่พานไหว้คุณครูกูมี รับผิดชอบลูกศิษย์ของเจ้าเด้อตอนนี้ ไทยเป็นหนี้อีกแล้ว...ลูกศิษย์เจ้าเอาอีกแล้ว...."

กลอนลำท่อนหนึ่งที่สะท้อนการศึกษาและการเมืองไทย จาก 'ลำซิ่งปลดแอก โบว์รักสีขาว' ที่ถูกถ่ายทอดออกมาตามสไตล์ดั้งเดิมของชนอีสาน กอรปกับคลังคำที่เต็มไปด้วยความแหลมคมทางด้านวาทศิลป์ ที่ร้อยเรียงผ่านสายตาของ 'ก้องศิลป์ ฟ้าล่วงบน' จากวงดนตรี 'กู่แคนสคูล' ไทบ้านผู้สร้างงานศิลป์ ในห้วงการเคลื่อนไหวของพลังคนรุ่นใหม่  

'อัฐ-จิรายุ สูตรไชย' บัณทิตจากรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) หนุ่มผมยาว วัย 28 ปี ผู้สาดงานศิลป์ผ่านการจรดปากกา ส่งต่อความงามของรากเหง้าจารีตประเพณี จากบทเพลงฮิตอย่าง ยังฮัก, แคนฮ้างนางฟ้า, บ่ได้ฮัก ที่สอดแทรกเนื้อหาความเรียบง่ายแต่แฝงด้วยกุศโลบาย ตามครรลอง 'ฮีตสิบสอง คองสิบสี่' ขนบธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบสานมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน

"ถ้าการเมืองมันดี เศรษฐกิจมันไปได้ทุกคนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยส่งเงินกลับบ้าน ไม่ต้องมีใครถูกกดขี่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายทุกคนเท่าเทียมกัน ศิลปะเสียดสีการเมืองมันก็ไม่เกิดขึ้นกับผม"

"ที่ผมแต่งขึ้นมาเพราะพี่น้องประชาชนมันอยู่ไม่ได้ ทุกคนได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้เกิดแรงผลักดันให้เราออกมาป่าวประกาศว่าคนอีสานอยู่ไม่ได้แล้วนะ ถ้าอยู่ดีกินดีก็คงเอาไปเขียนเพลงม่วนๆไม่ต้องมีเนื้อหาซีเรียส อาจจะมีเพลงแคนฮ้างนางฟ้าสัก 8 ฉบับแล้วก็ได้ "

หมอลำก้องศิลป์ ฟ้าล่วงบน วงกู่แคน
  • อัฐ-จิรายุ สูตรไชย หรือ ก้องศิลป์ ฟ้าล่วงบน

นักร้องนำวงกู่แคน ฉายภาพให้เห็นชัดอีกว่า มันเป็นวิถีเดิมที่ถูกคุกคามด้วยการเมือง ที่เดิมทีผู้คนต่างใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติ แต่มาวันหนึ่งกลับออกไปพบเจอผู้คนไม่ได้เพราะภาวะโควิด-19 จึงสัมผัสถึงความอึดอัดของคนที่ได้รับผลกระทบจากตรงนี้ อัฐ จึงหยิบมานำเสนอผ่านรูปแบบของกลอนลำจาก 'พลังของคนรุ่นใหม่' ที่ออกมาต่อสู้เพราะมองว่าถ้าเป็นอย่างนี้ "มันไม่ไหวแล้ว" 

"ผมมองว่าสังคมไทยอยู่ในยุคที่ตกต่ำมาก แม้แต่สัญลักษณ์ของความดีกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ความเกลียดชัง การกระทำของคนที่มีเจตนาดีกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความชังชาติ การที่คนออกมาเรียนร้องเพื่อคนส่วนใหญ่ เพื่อที่จะปกป้องสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาควรจะได้รับ และถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ผมว่ามันแย่นะ ถ้าคนดีอยู่ไม่ได้ไม่ต้องห่วงว่าคนชั่วจะอยู่เยอะเพียงใดในประเทศไทย" 

มันจึงกลายเป็นแรงบันดาลให้เขาเขียนกลอนลำที่เสียดสีการสังคมการเมืองขึ้นมา แม้ว่าจะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างซีเรียส แต่ก้องศิลป์อธิบายว่า 'แก่นแท้' ของหมอลำคือการนำเรื่องราวเล่านั้นมาปรุงแต่งใหม่ เพื่อให้ผู้รับสารเข้าถึงง่ายทำให้มนต์เสน่ห์ศิลปะสมัยก่อน มันเลยมีความดีงามมีจารีตประเพณีแก่นสารและสาระแฝง ในขณะที่มีความเพลินเพลินสนุกสนาน 


จุดกำเนิดวง 'กู่แคนสคูล' 

อัฐ เติบโตขึ้นมาในแผ่นดินอีสาน โดยมีโอกาสได้เรียนรู้ดนตรีพื้นบ้านเมื่อครั้งเยาว์วัยด้วยวิถีวงโปงลาง แต่ส่วนตัวยังไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ จึงเกิดแนวคิดว่าอยากทำสิ่งใหม่ๆ ที่ใช้ดนตรีอีสานขับเคลื่อนนำเสนอด้วยรูปแบบใหม่ ให้เชื่อมร้อยกับโลกปัจจุบัน ด้วยการเพิ่มดนตรีสากลเข้ามาให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย และเพิ่มมิติให้กับดนตรีอีสาน เลยระดมความคิดกับเพื่อนด้วยการตั้งวงแต่ยังคิดชื่อไม่ได้

จึงเป็นที่มาของคำว่า 'กู่แคน' โดยได้รับความเมตตาจาก ผศ.ดร.สนอง คลังพระศรี จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่นับถือ เป็นผู้สรรค์สร้างชื่อให้ เช่นเดียวกับชื่อหมอลำ 'ก้องศิลป์ ฟ้าล่วงบน' ที่ถือกำเนิดมาจากอาจารย์ผู้นี้ 

ภาษาใจ

ดนตรีอีสานมันเคยถูกเหยียด ถูกมองว่าล้าหลังไม่ทันสมัยและไม่มีการพัฒนา "เราจึงค่อนขัางเจ็บปวด" ก้องศิลป์ เล่าความในใจเพราะเป็นสิ่งที่เขาเทิดทูน เลยเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เขาอยากนำเสนอสู่คนฟัง เพื่อให้มันดูไม่เชยและเป็นสิ่งที่เท่ในโลกศตวรรษที่ 21 ด้วยกลิ่นอายของความเป็นอีสาน สำหรับเรื่องราวของบทเพลงไม่จำกัดว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องสมมติ เพราะมันขึ้นกับช่วงอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เรื่องการเมืองหรือความรัก

โดยเฉพาะเนื้องานของกู่แคนจะไม่บอกว่าคนอีสานถูกเหยียดหรือถูกข่มเหง แต่จะดึงจุดเด่นของคนอีสาน ด้วยการถ่ายทอดความงดงามของรากเหง้าจากอดีตจนมาถึงปัจจุบัน ผ่าน 'ภาษาใจ' ร้อยเรียงถ้อยคำออกมาเป็นบทเพลง 

ร่วมเวทีวงเมทัลกว่า 30 วง ในฐานที่มั่นใหม่

'ก้องศิลป์' เล่าว่าเป็นความตั้งใจแรกอยู่แล้วที่อยากจะนำรากเหง้าของคนอีสาน ออกไปอวดสู่สายตาผู้ฟังวัฒนธรรมดนตรีต่างๆ เพื่อให้พวกเขาได้เสพได้ฟังศิลปวัฒนธรรม แม้จะถูกแปรรูปจากคนรุ่นใหม่ แต่มันยังมีที่มาที่ไปที่กำเนิดจากอารยธรรมคนสมัยก่อนสร้างไว้ ส่วนตัวรู้สึกดีใจมากเพราะเป้าหมายคือการนำดนตรีอีสานไปยัง 'ฐานที่มั่นใหม่' ที่มันไม่เคยอยู่ และทำให้ผู้คนต่างวัฒนธรรม ได้ซึมซับความสวยงามจาก 'ฮีตสิบสอง คองสิบสี่' ที่ถูกปรุงแต่งในรูปแบบสมัยใหม่ จะเป็นโพรเกรสซิฟร็อกหรือเมทัลก็ดี 

"ผมคิดว่าในฐานะคนอีสาน ผมกำลังแบกศักดิ์ศรีคนอีสานไว้ ทำอย่างไรก็ได้ให้พวกเขาเห็นว่าคนอีสานไม่ใช่คนโง่" นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ก้องศิลป์พยายามจะใช้มนต์ขลังอีสานส่งต่อออกไป เพราะไม่อยากให้ถูกเหมารวมว่าวัฒธรรมมันเสื่อมไปทั้งหมดบนผืนดินเกิดนี้ เพราะมันยังมีอีกกลุ่มที่ไม่ได้ส่งเสริมให้สังคมอีสานมันแย่ลง 


อาภรณ์ไม่ใช่แก่นแท้ของหมอลำ

อีกหนึ่งสิ่งที่ 'กู่แคน' ได้ปฏิวัติวงการหมอลำ คือการทำลายภาพจำของคนทั่วไปที่มองอาภรณ์ห่อหุ้มหมอลำ ส่วนใหญ่คือการใส่สูทหรือประดับประดาด้วยเครื่องเพชรเครื่องทอง แต่เมื่อวันหนึ่งในโลกสมัยใหม่ ความบันเทิงพัฒนาจนถึงจุดพีคของหมอลำจึงคิดว่าอยากเป็นเงาสะท้อน

เพื่อเป็นทางเลือกให้คนรุ่นใหม่ได้พิจาราณาว่าแท้จริงแล้วแก่นแท้ของหมอลำไม่ใช่ยูนิฟอร์มที่สวมใส่แต่มันคือจิตวิญญาน ขณะที่ตัวเขาเองชอบใส่ชุดนักมวยไทยพันผ้าประเจียด เนื่องด้วยความชอบส่วนตัวและเพื่อคลายความสงสัยของแฟนเพลง ที่มักสับสนว่ากู่แคนเป็นวงไทยหรือวงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 

ไม่ใช่ศิลปินแต่เป็นประชาชน
หมอลำก้องศิลป์ ฟ้าล่วงบน วงกู่แคน

'อัฐ' มักปฏิเสธเสมอเวลาถูกเอ่ยถึงว่าเป็นศิลปิน เพราะเขาเข้าใจว่าคุณค่าทุกอาชีพใด ไม่ว่าจะเป็นทำไร่ทำนาหรือขายของรับจ้างทำงานก่อสร้าง "ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน" เพราะฉะนั้น "ผมไม่ต้องพูดว่าตัวเองเป็นศิลปินก็ได้ ถ้าทำให้คนที่กำลังฟังกู่แคนรู้สึกว่าผมเป็นกันเอง เป็นประชาชนเหมือนกัน" เพราะสิ่งที่เขาถนัดคือส่งความเพลิดเพลินต่อผู้ฟัง อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของกันและกัน ไม่ละเมิดต่อกันให้เกียรติกันไม่ว่าจะต่างช่วงอายุกัน ทุกคนต้องให้เกียรติศักดิ์ศรีมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน 

"ไม่มีอาชีพไหนต่ำกว่ากัน ไม่มีอาชีพไหนสูงกว่ากัน มันก็เลยไม่จำเป็นต้องพูดว่าศิลปิน เพราะผมเป็นประชาชนคนธรรมดา"

ความมั่นคงของผมคือความพออยู่ของใจ

แม้ว่าชื่อเสียงของวงกู่แคนจะได้รับการพูดถึงในวงกว้าง จนไปเตะตาจากแมวมองค่ายใหญ่ระดับประเทศ แต่ 'อัฐ' กลับมองว่าหากเดินเข้าไปในกลไก มันอาจเสมือนการตีกรอบความคิดของพวกเขา "เคยอยากไปอยู่ ไม่มีใครหรอกที่ไม่อยากเจริญ หรือก้าวหน้าในหน้าที่ที่กำลังทำอยู่แล้ว" 

แต่ขณะเดียวกันกลับมองว่า ความมั่นคงของเขาคือ 'ความพออยู่ของใจ' เขามากกว่า เพราะให้ความสำคัญว่าเราจะหายใจเพียงพอไหม ถ้าเข้าไปอยู่ก็คงไม่อดอยากเงินทอง แต่ถ้าหายใจไม่พอเพียงมันก็อยู่ไม่ได้ ถ้าเข้าไปแล้วจะสื่อสารแบบนี้ได้ไหม ทำงานที่มีอิสระเขียนกลอนลำให้ชาวบ้านฟังโดยไม่ต้องจ้าง ไม่มีเรื่องผลประโยชน์หรือว่าต้องเป็นรูปแบบที่ต้องแลกกับเงินตรา 

"เพราะผมเลือกความสุขความพอใจ มีความสุขกับการเป็นนายตัวเอง มากกว่าการไปฟังคนอื่นที่จะสั่งให้ผมทำแบบนี้ๆ ศิลปะมันเกิดขึ้นจากความพอใจ เพราะงานพวกนี้มันคือการถ่ายถอดภาษาใจออกมา" 




พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog