ไม่พบผลการค้นหา
'เจินเจิน บุญสูงเนิน' เปิดประสบการณ์ส่วนตัวและความในใจ กับสิ่งที่บุคคลข้ามเพศต้องพบเจอมาตลอดหลายปี เตรียมผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองบุคคลข้ามเพศ โดยให้ผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้วสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้

นักร้องสาวข้ามเพศ เจ้าของเสียงร้องอันโดดเด่น วัย 62 ปี เจินเจิน บุญสูงเนิน เล่าประสบการณ์ และชีวิตการเป็นนักร้องข้ามเพศคนแรกของประเทศไทยที่มีการเปิดเผยตัวอย่างจริงจัง เธอเล่าย้อนความไปเมื่ออายุประมาณ 18 ปี สมัยนั้นยังเป็นนักศึกษา ต้องหาเงินเรียนหนังสือและด้วยความที่ชอบร้องเพลงตั้งแต่เด็ก เธอจึงรับจ้างร้องเพลงตามห้องอาหาร โรงแรม และไนท์คลับต่างๆ ในกรุงเทพมหานครฯ

"สมัยที่เริ่มร้องเพลงตั้งแต่แรกก็ไม่เคยปิดบังตัวตนเลย ว่าเป็นใคร แล้วคนก็จะไปพูดกันปากต่อปากว่ามีนักร้องกะเทยคนหนึ่ง ร้องเพลงตรงนี้ๆ คนก็จะแห่กันมาดู นั่นกลับกลายเป็นผลดีที่ทำให้เราเป็นนักร้องที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น แตกต่างจากคนอื่น" คุณแม่เจินเจิน กล่าว

หลังจากนั้นพออายุประมาณ 33 ปี คุณวิศาล เลาแก้วหนู ซึ่งเป็นเจ้าของค่ายเพลง ต้องการหานักร้อง เพื่อจะให้มาเป็นนักร้องคนแรกของบริษัท เขาได้ตระเวนหาไปทั่วประเทศไทย และมาพบกับเจินเจิน ในที่สุด โดยนายห้างใหญ่บอกว่า ต้องการให้เจินเจิน เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงกับประชาชนทุกคน ซึ่งเธอยอมรับได้ในจุดนี้ และตรงนี้เองส่งผลให้เจินเจิน กลายเป็นนักร้องสาวข้ามเพศคนแรกของประเทศไทยที่ออกเทป คุณแม่เจินเจิน บอกว่า การที่เธอได้เปิดเผยตัวเองเรื่องเพศต่อสาธารณชน เป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่ต้องลำบากใจ ไม่ต้องมาคอยตอบคำถามว่าเป็นอะไร ส่วนข้อเสีย ณ ตอนนั้น เธอบอกว่าไม่มี เนื่องจากตอนนั้นไม่เคยคาดหวังอะไรจากสังคม เพราะเธอถือว่าเป็นคนหนึ่ง ที่มีที่เรียน มีที่ทำงาน มีที่ยืนในสังคมแล้ว

แต่ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มคนข้ามเพศอีกมาก ที่ในสมัยก่อน ได้รับการดูถูก ดูหมิ่น จากสังคม รวมถึงไม่ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกับชายจริงหญิงแท้ด้วย เจินเจิน เล่าให้ฟังว่า

“สมัยก่อน ยุคของคุณแม่ (เจินเจิน) เนี่ย คนที่เป็นอย่างนี้ถูกรังเกียจอย่างมาก มีอยู่วันหนึ่งคุณแม่กับเพื่อน 3-4 คน ซึ่งเป็นเหมือนกัน เราจะไปทานข้าวที่ร้านอาหารร้านหนึ่ง พอลงรถเสร็จจะเข้าไปในร้าน เจ้าของร้านบอกว่า ฉันไม่ขายให้กะเทย ซึ่งเหตุการณ์นี้มันไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทยถูกไหมคะ นั่นน่ะคือสมัยก่อน ถือว่าเรามีปัญหาเยอะ เราต้องต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ต่อสู้กับสิ่งแวดล้อม ต่อสู้กับสังคม แล้วยังต้องต่อสู้กับตัวเองด้วย เพราะทำยังไงจะให้ตัวเองยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคง อย่างถาวร”

สัม เจิน เจิน

นอกจากนี้เธอยังบอกอีกว่า การที่สังคมไม่ยอมรับกลุ่มบุคคลข้ามเพศ ทำให้เสียทรัพยากรดีๆ หรือคนที่มีความสามารถ ที่จะมาช่วยพัฒนาประเทศได้ เจินเจิน เล่าเรื่องราวคนใกล้ตัว ที่ไม่สามารถใช้ความรู้ความสามารถในการทำงานอยากที่ปราถนาได้ เพียงเพราะคุณเป็น “คนข้ามเพศ”

“มีเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยด้วยกัน เขาเรียนเก่งมาก สอบเข้าแพทย์ฯ ได้ แต่เรียนได้ไม่กี่ปี ก็ต้องลาออกจากคณะแพทย์ฯ เพราะถูกคนในคณะเหยียด คือถ้าเขาไม่ลาออก เขาต้องฆ่าตัวตาย เขาเลยเลือกลาออก แล้วก็ย้ายคณะใหม่เป็นคณะมนุษยศาสตร์ แต่จบก็ยังได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ไปเรียนปริญญาโทก็ยังได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ไปสอบสมัครงานบริษัทหนึ่ง สอบได้ที่ 1 แต่ตกสัมภาษณ์ เพราะแต่งหญิง คือ เขาเสียใจมาก”

เธอเล่าต่อไปว่า “มีเพื่อนคุณแม่คนหนึ่งจบจากอเมริกา แล้วก็เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยชื่อดังที่สุดในประเทศไทย สอนได้อยู่ประมาณ 3 ปี เธอก็แปลงเพศ พอแปลงเพศเสร็จก็มีจดหมายเวียนทั่วมหาวิทยาลัยเลย ว่าอาจารย์ของเราคนหนึ่งเนี่ยแปลงเพศเรียบร้อยแล้ว ขอเสียงประชามติว่าจะอย่างไร จนในที่สุดเพื่อนต้องลาออก แล้วก็มาสอนพิเศษในโรงเรียนสอนพิเศษภาษา ได้แค่นั้น ดูสิ คือสังคมบอกว่ายอมรับ แต่จริงๆ แล้วบางส่วนยังไม่ยอมรับ มีส่วนน้อยที่ยอมรับ แต่ถามว่าเปิดกว้างขึ้นไหม กว้างกว่าเดิมเยอะค่ะ”

แม้เจินเจิน จะไม่ได้รับประสบการณ์เหล่านี้จากสังคม แต่เธอเองก็ยังมีปมในใจเกี่ยวกับการเป็นสาวข้ามเพศ นั่นก็คือคำพูดยอดฮิตของพ่อแม่ที่คอยบอกกับลูกตัวเอง เมื่อพบว่าพวกเขาไม่ได้เป็นเพศเดียวกันกับเพศกำเนิด

“ตอนแรกคุณแม่เข้าใจว่า คุณพ่อคุณแม่ยอมรับในความเป็นเรา เพราะว่าสมัยเด็ก เราเป็นเด็กที่เรียบร้อย ตั้งใจเรียนหนังสือ ดูแลบ้านดูแลน้อง ดูแลทุกอย่างในครอบครัว นึกว่าเขาคงจะรับได้ที่เราเป็นอย่างนี้ แต่มีอยู่วันหนึ่งเนี่ยหลังจากที่เราแปลงเพศแล้ว คุณพ่อก็บอกว่า จะเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะนะ พ่อไม่ว่าอะไรหรอก แต่ขอให้เป็นคนดี คือคำนี้เนี่ยมันเหมือนกับว่าเขารับเราได้ แต่ลึกๆ เขาก็คงเสียใจที่เราเป็นอย่างนี้ ประโยคนี้มันติดอยู่ในใจคุณแม่มาตั้งแต่ตอนนั้นจนบัดนี้นะ คือพอเจอหน้าเขาแล้วนึกถึงคำนี้มาตลอดเลย มันตีความได้หลายความ เหมือนกับประชดประชันก็ได้ เหมือนกับยอมรับก็ได้ แต่ในความที่เราเป็นลูกเนี่ย เราพยายามมองในภาพดีว่าเขายอมรับเรา”

เธอยอมรับว่า ความรู้สึกขณะนั้น คือสะอึก แต่ไม่ได้พูดอะไรออกมา แต่พอขับรถออกมาจากบ้านมายังที่พัก ก็ร้องไห้ตลอดทาง ซึ่งก็เข้าใจว่าพ่อแม่คงไม่รู้ว่าจะพูดยังไงกับลูก ประโยคนี้อาจจะเป็นประโยคที่ง่ายที่สุดเพื่อไม่ให้ลูกเสียใจ แต่มันแสดงออกว่าลึกๆ แล้วเขาคงอยากให้เราเป็นผู้ชายเต็มตัว

สัม เจิน เจิน

ขณะเดียวกัน เจินเจิน ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหว และผลักดันให้ออกกฎหมายคุ้มครองกลุ่มคนข้ามเพศ กับการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ สำหรับกลุ่มคนข้ามเพศที่แปลงเพศแล้ว เนื่องจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังคงต้องเผชิญหลายๆ ข้อจำกัดในการใช้ชีวิต เช่น การทำนิติกรรมต่างๆ การแต่งกาย การประกอบอาชีพ การเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ การใช้ชีวิตคู่ การเกณฑ์ทหาร การถูกกระทำ เธอยังเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องคำนำหน้าชื่อ ในการเดินทางต่างประเทศให้ฟังด้วยว่า

“ทุกครั้งที่ไปต่างประเทศจะเจอปัญหาตลอด แต่ถ้าเป็น เวียดนาม ลาว เขมร พม่า แค่ 4 ประเทศนี้ เราสามารถเข้าได้โดยที่ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น เคยโดนหนักสุดคือต้องแก้ผ้าตรวจ อธิบายยังไงก็ไม่เข้าใจ ขนาดเราเอาใบรับรองแพทย์ซึ่งรับรองผ่าตัดไปให้เขาดู ไม่เข้าใจ ต้องเข้าแก้ผ้าให้ดู แล้วบางประเทศแทนที่จะให้ผู้หญิงไปแก้ผ้าดูเรา เปล่าค่ะ เอาผู้ชายไปตรวจ อันนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง”

นักร้องสาวเชื่อว่า การมีกฎหมายคำนำหน้าชื่อ จะไม่ส่งผลเสียอะไรให้กับสังคม เศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างไรก็ตามประเทศของเราก็จะได้มีทรัพยากรดีๆ คนเก่งๆ อยู่ช่วยพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันนักธุรกิจข้ามเพศก็จะสามารถทำธุรกิจระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น รวมถึงคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเสมอภาคให้กับคนไทยทุกคน ได้มีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนที่มองเห็นคุณค่าการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายในสังคม

“กลุ่มข้ามเพศทุกคนเราต้องการเพียงแค่คำนำหน้า เพื่อให้มีสิทธิเท่าเทียมกับทุกคนในสังคม การเดินทาง การใช้ชีวิตในปัจจุบัน อีกอย่างหนึ่งคือพอเราได้เปลี่ยนเป็นนางสาวแล้วเนี่ย เรามีโอกาสที่จะแต่งงานได้ง่ายขึ้น พอแต่งงานได้ง่ายขึ้น ทรัพย์สมบัติ พินัยกรรมที่เราจะทำต่อคนอื่นๆ และการจะทำต่อสามี ดูแลคนรอบข้างมันก็จะง่ายขึ้น คือทุกอย่างมันง่ายขึ้นอะถ้าได้เปลี่ยนเป็นนางสาว” เจินเจิน กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: