เมื่อวันที่ 21 ต.ค 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 36) ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564
โดยข้อกำหนดนี้มีสาระสำคัญ ในข้อ 3 ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวซึ่งเดิมเคยกําหนดให้เป็นเขตพื้นท่ีควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากการจําแนกจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ แต่ได้มีคําสั่งกําหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่นําร่อง ด้านการท่องเที่ยวตามข้อกําหนดนี้ ทั้งนี้ ให้มีผลต้ังแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ต.ค. 2564
ข้อ 5 การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่อง ด้านการท่องเท่ียว ในระยะเริ่มแรกของการดําเนินการเปิดเขตพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยวยังคงปิดดําเนินการไว้ก่อนในช่วงเวลานี้ โดยให้หน่วยงาน และผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการตามที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกําหนด ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
“โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยมีแนวโน้มของสถานการณ์ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจํานวนในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มจํานวนมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ดําเนินการจัดหาวัคซีน และขับเคลื่อนแผนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่ประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน อัตราการได้รับวัคซีนเพิ่มข้ึนอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศ รัฐบาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็น ท่ีจะต้องมีการฟื้นฟูประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน ในเบื้องต้นจึงเห็นควรให้มีการเปิดพื้นที่นําร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยว สามารถรถเดินทางเข้ามาต่างประเทศได้มากข้ึน อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน ในภาพรวมของประเทศ” เหตุผลของการออกข้อกำหนดดังกล่าวระบุ
ลงนาม 17 จว.นำร่องท่องเที่ยว - ไทย 27 ของโลก ป่วยโควิดพุ่ง 1.82 ล้านคน
พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ยังลงนามในคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 18/2564 เรื่อง พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น
เพื่อให้การบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. โดยคำแนะนำของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด- 19 และ ศบค. กระทรวงมหาดไทย จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในกำรแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการตามข้อกำหนดฯ สำหรับเขตพื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ บัญชีรายชื่อจังหวัดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว แนบท้ายคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ 18/2564 ลงวันที่ 21 ต.ค. พ.ศ. 2564 มีดังนี้
พื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งสิ้น 17 จังหวัด
1. กรุงเทพมหานคร
2. จังหวัดกระบี่
3. จังหวัดชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อ าเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และ
อำเภอสัตหีบเฉพาะตำบลนาจอมเทียนและตำบลบางเสร่)
4. จังหวัดเชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง)
5. จังหวัดตราด (เฉพาะอำเภอเกาะช้าง)
6. จังหวัดบุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์)
7. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะตำบลหัวหินและตำบลหนองแก)
8. จังหวัดพังงา
9. จังหวัดเพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ)
10 จังหวัดภูเก็ต
11. จังหวัดระนอง (เฉพาะเกาะพยาม)
12. จังหวัดระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด)
13. จังหวัดเลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน)
14. จังหวัดสมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ)
15. จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า)
16. จังหวัดหนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และ
อำเภอท่าบ่อ)
17.จังหวัดอุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง
อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม)
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังลงนามในคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่17/2564เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17)
ไทยยอดป่วยโควิดสะสม 1.82 ล้านคน อันดับ 1 อาเซียนป่วยใหม่ทะลุแซงเพื่อนบ้าน
ขณะที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้รายงานข้อมูลวันพฤหัสบดีที่ 21 ต.ค. 2564 ถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 ผู้ป่วยรายใหม่ 9,727 ราย หายป่วยแล้ว 1,672,508 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,792,716 ราย เสียชีวิตสะสม 18,465 ราย
ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 1,699,934 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,821,579 ราย เสียชีวิตสะสม 18,559 ราย
สำหรับยอดตรวจด้วย ATK ณ วันที่ 21 ต.ค. 2564 มีจำนวน 48,808 คน โดยพบผลบวก จำนวน 2,059 ราย ทำให้มียอดผลบวกสะสมที่ตรวจด้วย ATK ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. -21 ต.ค. 2564 จำนวน 176,086 คน
โดยข้อมูลเมื่อ 21 ต.ค. 2564 ประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 27 ของโลกที่มีผู้ป่วยสะสม และอันดับที่ 1 ของอาเซียนที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด ซึ่งมากกว่าอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมจากการติดโควิด-19 จำนวน 1,821,579 ราย โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 9,727 คน มีผู้เสียชีวิตสะสม 18,559 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 73 ราย
ขณะที่สหรัฐอเมริกายังเป็นอันดับ1 ของโลกที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมสูงสุด 46,089,415 คน โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 79,442 ราย เสียชีวิตสะสม 751,792 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1,998 คน
สถานการณ์โควิด-19ประเทศในทวีปเอเชีย อินเดียเป็นที่ 2ของโลกและที่ 1 ของทวีป โดยมีผู้ป่วยสะสม 34,126,682 คน ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 18,359 คน เสียชีวิตสะสม 452,844 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 160 คน
สำหรับข้อมูลผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมดตั้งแต่ วันที่ 28 ก.พ. -20 ต.ค. 2564 จำนวน 68,503,058 โดส ทั้งนี้การให้บริการฉีดวัคซีน ณ เวลา 18.00 น. วันที่ 20 ต.ค. 2564
เข็มที่ 1 สะสม 36,269,602 คน หรือ 54.2% ของประชาชน โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 428,656 ราย
เข็มที่ 2 สะสม 26,075,526 คน เพิ่มขึ้นจำนวน 446,015 ราย หรือ 38% ของประชากร
เข็มที่ 3 สะสม 2,057,409 คน เพิ่มขึ้นจำนวน 41,285 ราย หรือ 2.9% ของประชากร
'ประยุุทธ์' เผยต้องเร่งเปิดประเทศดึงต่างชาติเข้าไทย หวั่นช้าหนีไปประเทศอื่น
พล.อ.ประยุุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "หลังจากที่ผมได้ประกาศแผน ยกเลิกการกักตัว สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย โดยจะต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศโดยทางอากาศ และเดินทางมาจากประเทศที่เราจัดว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เราจะเห็นได้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเราประกาศออกไป ประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในภูมิภาคของเรา ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย (บาหลี) ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และมาเลเซีย ต่างก็กำลังทำเช่นเดียวกัน รวมทั้งมีการผ่อนคลายมาตรการข้อบังคับต่างๆ และนอกจากนั้น หลายๆ ประเทศที่เป็นนักท่องเที่ยวของประเทศไทย ก็เพิ่งประกาศผ่อนคลายให้ประชาชนของประเทศเค้าเดินทางออกนอกประเทศได้ง่ายขึ้น"
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า "เมื่อเราเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนเป็นแบบนี้แล้ว จากที่ในเบื้องต้น ผมตัดสินใจว่า เราจะพิจารณาประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำเพื่อจะให้เดินทางเข้าไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว อยู่ที่ประมาณ 10 ประเทศแล้วจึงจะค่อยๆ เพิ่มจำนวนประเทศให้มากขึ้น ตอนนี้ผมคิดว่า ในสถานการณ์ใหม่ ถ้าเราต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยให้มากเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เดือดร้อนกันอย่างมากมานาน เราจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าเร็วกว่านั้น และทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการที่จะรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบก่อนนั้น จะทำให้เราช้าเกินไป อีกทั้งนักท่องเที่ยวอาจจะตัดสินใจเลือกเดินทางไปประเทศอื่นไปก่อน"
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า "หลังจากได้ปรึกษาหารือกับหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผมดีใจที่วันนี้ จะแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า เราจะเพิ่มจำนวนรายชื่อประเทศความเสี่ยงต่ำกลุ่มแรก ที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยไม่ต้องกักตัว เป็น 46 ประเทศ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศ และมีหลักฐานปลอดเชื้อโควิด โดยมีการตรวจก่อนออกเดินทาง และตรวจเมื่อมาถึงประเทศไทย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ทุกประเทศดังกล่าวคงต้องพิจารณาความเสี่ยงของประเทศไทยด้วยเช่นกัน ก่อนที่จะอนุญาตให้คนของประเทศเขาเดินทางมาประเทศไทยได้ ผมขอขอบคุณกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันทำภารกิจที่เต็มไปด้วยความกดดันนี้ พยายามแก้ไขและจัดการ กฏระเบียบ ขั้นตอน และกระบวนการต่างๆ มากมายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งผมรู้ว่า ทุกคนทุกฝ่ายพยายามกันอย่างเต็มที่เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถกลับมาทำมาหากินกันได้อีกครั้ง โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"
"เราต้องเร่งเครื่องเตรียมความพร้อม และผมได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งเครื่องเรื่องการฉีดวัคซีนให้เร็วมากยิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่าเราจะติดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในโลกอยู่แล้วก็ตาม เรารู้ดีว่า การเร่งเดินหน้าอย่างรวดเร็วนี้ ย่อมมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่เราต้องยอมรับ ผมคิดว่าตอนนี้ ประเทศไทยเอง รวมถึงประเทศอื่นๆ ในโลก ต่างก็มีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงของโควิด-19 ได้ดีขึ้น และเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้เราทุกคนมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาด ด้วยการ การ์ดไม่ตก ผมขอให้ทุกคนยังคงรักษามาตรการทางสาธารณสุข มีวินัยในการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้เก็บเกี่ยวเรื่องดีๆ เล็กๆ น้อยๆ จากช่วงเทศกาลวันหยุดสิ้นปีนี้กันได้บ้าง" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประกาศรายชื่อประเทศและพื้นที่ต้นทางที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวปฏิบัติในการเดินทางเข้าประเทศไทยในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ดังนี้
ศูนย์ปฏิบัติการการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ศปก.กต.) กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกประกาศ ณ วันที่ 21 ต.ค. พ.ศ. 2564 เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศและพื้นที่ต้นทางที่อนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร สำหรับบุคคลประเภท (13)
โดยระบุว่าตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 17/2564 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2564 กำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ศปก.กต.) อนุมัติประเทศและพื้นที่ที่อนุญาตให้ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรสำหรับบุคคลประเภท (13)
“ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล” ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข และการเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้า ศปก.กต. จึงประกาศรายชื่อประเทศ และพื้นที่ต้นทางสำหรับบุคคลประเภท (13) ที่ผู้เดินทางจากประเทศและพื้นที่ดังกล่าวได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้ายประกาศ
สำหรับโดยรายชื่อประเทศ/พื้นที่ ตามประกาศ ศปก. กต. ลงวันที่ 21 ต.ค. 2564 ประกอบด้วย 46 ประเทศ ดังนี้ ออสเตรเลีย ออสเตรีย บาห์เรน เบลเยียม ภูฏาน บรูไนดารุสซาลาม บัลแกเรีย กัมพูชา แคนาดา ชิลี จีน ไซปรัส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก
เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิสราเอล อิตาลี ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย มาเลเซีย มอลตา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์
โปรตุเกส กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ สโลวีเนีย สาธารณรัฐเกาหลี สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฮ่องกง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง