ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างชาติรายงานโซเชียลไทย เหยียด-เลือกปฏิบัติแรงงานเมียนมา เผยชาวเมียนมามองไทยไม่ต่างกับบ้านเกิด ชี้เป็นกำลังสำคัญฟื้นเศรษฐกิจ รัฐไม่ควรทอดทิ้ง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ตั้งแต่ไทยพบการระบาดของโควิด-19 'ระลอกใหม่' จากกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมมาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่าทีของรัฐบาลโดยเฉพาะจากคำแถลงของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งระบุในตอนหนึ่งของคำแถลงกล่าวโทษ แรงงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่ลักลอบเข้าประเทศมีส่วนในการทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จากผู้ติดเชื้อจำนวนมากในหมู่แรงงานเมียนมาที่ทำงานเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอาหารทะเล 

มินมินตุน แรงงานชาวเมียนมาผู้ขนส่งกุ้ง เผยกับเอเอฟพีว่า การที่ไทยกล่าวโทษพวกเขาโดยไม่มีหลักฐานเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม และเป็นการพูดเพียงข้างเดียว โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยไม่มีการให้ข้อมูลว่าใครบ้างที่มีผลตรวจติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่แรงงานเมียนมาด้วยกัน

ผู้ขายอาหารชาวไทยที่อยู่บริเวณใกล้ตลาดในสมุทรสาคร เผยว่า เธอจะไม่เข้าใกล้กับแรงงานเมียนมาไม่ว่ากรณีใดๆ โดยยอมรับว่ากลัวแรงงานเหล่านี้ แต่ยังคงนำอาหารบางส่วนไปให้คนงานชาวเมียนมา เนื่องจากเกรงว่าพวกเขาจะไม่มีอะไรกิน

ไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาจำนวนหลายแสน เข้ามาแสวงหางานทำทั้งรูปแบบถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายมากกว่า 2 สองล้านคน

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ เปิดเผยเช่นกันว่า หลังจากไทยพบการระบาดของโควิด-19 ในหมู่แรงงานเมียนมา ได้เกิดคำพูดสร้างความเกลียดชัง (Hate speech) ของคนไทยบางส่วนที่แสดงความคิดเห็นต่อชาวเมียนมาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย อาทิ "ถ้าเห็นคนเมียนมาที่ไหนให้ยิงทิ้ง" หนึ่งในข้อความคิดเห็นของคนไทยในยูทูบหลังพบผู้ติดเชื้อในหมู่แรงงานข้ามชาติ

ข้อมูลจากกลุ่มตรวจสอบโซเชียลมีเดียเพื่อสันติภาพ (Social Media Monitoring for Peace) เผยกับรอยเตอร์ว่า พบข้อความคิดเห็นหลายร้อยรายการที่เป็นการแสดงคำพูดเกลียดชังทั้งบน ยูทูบ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ โดยเรียกร้องไม่ให้แรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อเข้าถึงการรักษา พร้อมทั้งลงโทษที่ทำให้เกิดการระบาดในประเทศอีกระลอก สะท้อนให้เห็นการเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นและเริ่มแพร่หลายทั่วโลกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในต่างแดน

เนลินทู คนงานชาวเมียนมาเผยกับรอยเตอร์ พวกเขารู้สึกเสียใจที่ถูกตำหนิว่า คนงานเมียนมาเป็นต้นเหตุของเชื้อระบาด คนไทยบางกลุ่มโทษว่า โควิดกลับมาระบาดในไทยเพราะพวกเมียนมา คนเมียนมาส่วนใหญ่แม้ไม่ตอบโต้กลับ แต่บางคนก็ไม่อาจระงับความโกรธได้

รอยเตอร์ ยังระบุด้วยว่า แม้แต่นายกรัฐมนตรีของไทยยังกล่าวในคำแถลงที่โทษว่า การลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอยู่เบื้องหลังการแพร่ระบาดอีกระลอกในประเทศ

กลุ่มตรวจสอบโซเชียลมีเดียเพื่อสันติภาพ แสดงความกังวลวว่า ความคิดเห็นดังกล่าวรวมถึงภาษาที่เหยียดเชื้อชาติ กระตุ้นให้เกิดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมความเป็นชาตินิยม ทางกลุ่มฯ ยังกังวลอีกว่า การเลือกปฏิบัติในออนไลน์อาจส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติที่นำไปสู่ความรุนแรงในโลกแห่งความเป็นจริง 

ขณะที่เว็บไซต์อิรวดีสื่อท้องถิ่นเมียนมา แสดงความกังวลว่า การแพร่ระบาดจากกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาในจังหวัดสมุทรสาคร จนส่งผลให้ไทยต้องเข้มงวดมาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง สร้างความหวั่นเกรงว่า ชาวเมียนมาในไทยจะตกเป็นเป้าของการถูกเลือกปฏิบัติ หลังกจากที่ไทยใช้มาตรการปิดตลาดอาหารทะเล และหอพักในพื้นที่ใกล้เคียงพร้อมล้อมรั่วลวดหนาม เพื่อจำกักความเคลื่อนไหวของแรงงาน 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยซึ่งมีชาวเมียนมาหลายร้อยคนที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสาครติดเชื้อไวรัสโคโรนา สร้างความกังวลใจว่าไทยอาจต้องเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง และประชากรชาวเมียนมาในประเทศไทยจะตกเป็นเป้าหมายของการเลือกปฏิบัติ

ทางการไทยได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโลก รวมถึงการปิดล้อมพื้นที่ตลาดและหอพักด้วยลวดหนามเพื่อจำกัดพื้นที่ของแรงงานเมียนมา ขณะที่แรงงานชาวไทยสามารถเข้า-ออกได้ แต่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที

แรงงานหลายพันคนถูกบังคับให้รวมตัวในสถานที่คับแคบ และแออัด ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น รวมทั้งหน่วยงานในกรุงเทพยังเรียกร้องให้ศาสนสถานทุกแห่งห้ามชาวเมียนมาเข้าไปทำบุญจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เกิดคำถามตามมาถึงการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน

จากข้อมูลของ Mekong Migration Network (MMN) พบว่ามีแรงงานต่างชาติในประเทศไทยประมาณ 4 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากเมียนมา จำนวนนี้ราว 2.4 ล้านคนเป็นแรงงานชาวเมียนมาที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นพวกเขาจึงควรได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน และยังมีช่องโหว่อีกมากโดยเฉพาะตามพื้นที่ชายแดน 

ขณะที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประเมินว่าแรงงานข้ามชาติ 1 ใน 10 ที่ทำงานในประเทศไทย สร้างรายได้มากถึง 6.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ดังนั้นไทยควรทำอะไรให้มากกว่านี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแรงงาน และครอบครัวของพวกเขาจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

แม้แรงงานเมียนมาในไทยจะมีทั้งขึ้นทะเบียนและเป็นแรงงานเถื่อน แต่พวกเขามองประเทศไทยไม่ต่างจากชาติบ้านเกิด รัฐบาลไม่ควรทอดทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง อีกทั้งพวกเขายังเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคต