เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 เม.ย. ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งเป็นการประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ในวาระ 2 โดยพิจารณาต่อในมาตรา 10 ภายหลังมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ตามที่ที่ประชุมเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อย
ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในมาตรา 11 ว่า ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดจำนวนผู้เข้าชื่อในการเสนอจัดทำประชามติ ที่กำหนดไว้ 5 หมื่นคน เพราะในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายยังใช้รายชื่อประชาชนเพียง 1 หมื่นคนเท่านั้น โดยการรวบรวมรายชื่อประชาชนหลักหมื่นนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น คิดว่าแค่ 1 หมื่นคน ก็เพียงพอ
ชูศักดิ์ ศิรินิล กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า แม้ประชาชนจะมีสิทธ์เข้าชื่อเสนอให้จัดทำประชามติ แต่ผู้ที่จะอนุมัติให้สามารถจัดทำประชามติได้นั้น อยู่ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ดังนั้น จำนวนรายชื่อของประชาชนเพียง 1 หมื่นชื่อก็เพียงพอแล้ว โดยที่ประชาชนเข้าชื่อกันนี้ เป็นเพียงการริเริ่มให้มีการทำประชามติ ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำประชามติได้ทันที ไม่เหมื่อนการเสนอกฎหมาย ที่เมื่อประชาชนเข้าชื่อเสนอเข้ามาแล้ว ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรรมาธิการ กล่าวว่า เดิมทีกรรมาธิการเสนอให้ใช้เสียงประชาชน 1 หมื่นรายชื่อในการเสนอจัดทำประชามติ แต่ภายหลังมีการทบทวนปรับปรุงตัวเลขเพื่อความเหมาะสม จึงสรุปได้ที่ 5 หมื่นรายชื่อ เพราะกฎหมายนี้เราต้องการให้การออกเสียงประชามติเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องระดับชาติ ความเหมาะสมของตัวเลขในการเข้าชื่อเสนอจึงต้องมาก
พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าวว่า มีข้อมูลอ้างอิงจากทั่วโลก ว่าหากต้องการให้การเสนอจัดทำประชามติเป็นภาคบังคับ ต้องใช้ชื่อประชาชนจำนวนมาก แต่ถ้าต้องการให้เป็นเพียงภาคให้คำปรึกษาต่อรัฐบาล ตัวเลขก็จะลดลงมา แต่ไม่น้อยกว่า 4-5 หมื่นคน นอกจากนี้ ตัวเลขยิ่งน้อย ในชุมชน หรือสังคม ก็ยิ่งจะเกิดการทะเลาะกัน ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว
“1 หมื่นคนที่ท่านเสนอเข้ามา เมื่อเสนอเรื่องเข้า ครม.แล้ว 1 หมื่นคนนั้น จะยกพวกกันมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อดูว่า ครม.จะยอมให้ทำประชามติตามที่เขาเสนอเข้ามาหรือไม่ ทั้งนี้ ในทางสายกลาง 5 หมื่นคน เป็นตัวเลขที่มีความเหมาะสมตามบริบทของสังคมไทย” พล.อ.ต.เฉลิมชัย
ต่อมาที่ประชุมลงมติ 347 ต่อ 154 เสียง เห็นด้วยกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่กำหนดจำนวนรายชื่อประชาชนในการเสนอจัดทำประชามติที่ 5 หมื่นรายชื่อ