ไทยและอินโดนีเซียต่างระงับเที่ยวบินเข้า-ออก เพื่อสกัดการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 นี่ทำให้มีนักศึกษาไทยจำนวนนับร้อยคนตกค้างอยู่ในอินโดนีเซีย โดยหนึ่งในนั้นคือ 'เกษม ดาโต๊ะ' ชาวจังหวัดยะลา ซึ่งได้รับทุนรัฐบาลอินโดนีเซียศึกษาในระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยมูฮัมมาดียะห์มาลัง ในเมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก รวมถึงยังเป็นกรรมการสมาคมนักศึกษาไทยในเมืองมาลัง (Thai Student Associating in Malang)
'เกษม' ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า ในเมืองมาลังมีนักศึกษาไทย 120 คน ส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศแล้ว แต่ยังมีที่ติดค้างอยู่ 79 คน สถานการณ์ในพื้นที่ตอนนี้คือมีการประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 4 ทุ่มถึงตี 5 เวลากลางวันยังสามารถออกไปหาซื้ออาหารได้โดยต้องป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยและจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำอยู่ตามเส้นทางต่างๆ คอยตรวจสอบ
แต่ปัญหาที่นักศึกษาไทยที่นี่หลายคนกำลังเผชิญ คือ 'ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต' และ 'อุปสรรคในการเดินทางกลับประเทศ'
นักศึกษาคนนี้เผยว่า เด็กไทยจำนวนมาก มาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ มาเรียนต่อในเมืองมาลังด้วยทุนที่แตกต่างกัน ทั้งทุนรัฐบาลไทย รัฐบาลอินโดนีเซีย ทุนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และอีกจำนวนมากที่มาด้วยทุนครอบครัว ซึ่งทุกคนล้วนได้รับผลกระทบในแง่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะนักศึกษาที่มาด้วยทุนที่ให้เพียงค่าเทอมและผู้ที่มาด้วยทุนครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่ซึ่งอยู่ในประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากพิษของโควิด-19 เช่นกัน ทำให้ยิ่งลำบากในการส่งเงินมาให้ลูกใช้เพื่อดูแลตัวเองในช่วงวิกฤตนี้
เกษมเปิดเผยว่า ตอนนี้บ้านพักของเขาในเมืองมาลังมีเพื่อนนักศึกษาและน้องๆ ที่มาเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียเข้ามาพักอยู่ด้วยกันรวม 9 คน เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและช่วยเหลือกันเท่าที่ทำได้ในยามยาก โดยเขายังบอกว่าตอนนี้ทุกคนติดตามข่าวสารจากเพจสถานเอกอัครราชทูตไทยในอินโดนีเซียเป็นหลักเพื่อรอฟังข่าวเกี่ยวกับการช่วยเหลือกลับประเทศ ก่อนหน้านี้สถานทูตไทยในอินโดนีเซียได้ให้ความช่วยเหลือผ่านทางสมาคมนักศึกษาไทยเมืองมาลังด้วยการแจกถุงยังชีพให้ 1 ครั้งเมื่อช่วงปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความช่วยเหลือจากคนไทยในอินโดนีเซียที่ช่วยเรื่องข้าวสารอาหารแห้งให้กับนักศึกษา
เกษมบอกว่าตอนนี้การใช้ชีวิตในเมืองมาลังเป็นไปอย่างลำบาก ถ้าเป็นไปได้เพื่อนๆ น้องๆ ทุกคนรวมถึงเขาเองก็อยากกลับบ้าน ก่อนหน้านี้สถานเอกอัครราชทูตไทยในอินโดนีเซียได้มีประกาศว่าจะจัดเที่ยวบินพิเศษเดินทางไปยังประเทศไทยในวันที่ 17, 23 และ 27 พ.ค. โดยขอให้ผู้ที่เดือดร้อนหรือจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการเดินทางกลับลงทะเบียนในเว็บไซต์ ซึ่งเกษมบอกว่าเขาและน้องๆ ทุกคนก็ลงทะเบียนในเว็บดังกล่าวแล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทุกคนกังวลคือเรื่องค่าตั๋วเครื่องบินในการเดินทางกลับประเทศที่ต้องออกเอง เนื่องจากนักศึกษาจำนวนมากไม่ได้มาจากครอบครัวร่ำรวย พ่อแม่มีอาชีพหาเช้ากินค่ำที่ได้รับผลกระทบและยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจึงไม่แน่ใจว่าจะมีเงินซื้อตั๋วเพื่อเดินทางกลับหรือไม่ อย่างตัวเขาเองก็ทำใจไว้ว่าหากไม่สามารถหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ก็อาจยังต้องอยู่ในอินโดนีเซียต่อไป เนื่องจากทางครอบครัวเองก็ลำบาก ส่วนทุนการศึกษาที่ได้มาหักจากค่ากินก็ต้องเก็บไว้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ และจ่ายค่าบ้านในแต่ละปีได้อย่างเดียว
“สำหรับน้องที่อยู่กับผมสวนมากน้องพ่อแม่มีเกษตรกร กรีดยางและอาชีพค้าขายหาเช้ากินค่ำ ด้วยโรคระบาดไม่สามารถส่งค่าเล่าเรียนได้ช่วงนี้หมุนเงินไม่ทัน ส่วนมากก็รอเงินเยียวจากรัฐบาลเพื่อส่งให้ลูก ก็อยากให้ช่วยเหลือข้าวสารอาหารแห้งในเบื้องต้น สำหรับการเดินทางกลับบ้านก็ยังตัดสินใจไม่ได้เพราะปัญหาทางบ้าน แต่พวกเราก็ลงทะเบียนตามขั้นตอนไปก่อนตอนนี้” เกษมกล่าว ขณะเดียวกันก็เผยว่า สำหรับขอใบรับรองแพทย์ Fit to Fly สามารถขอได้จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย มีค่าใช้จ่ายสำหรับนักศึกษาประมาณ 100 บาทซึ่งหักส่วนลดแล้ว แต่สำหรับนักเรียนโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นไม่มีส่วนลด ซึ่งอาจเป็นปัญหาเช่นกันสำหรับน้องๆ ที่พักอยู่ด้วยกัน
ด้าน 'ยุสรี บินยูโซ๊ะ' นักศึกษาปี 4 ของมหาวิทยาลัยอิสลามอินโดนีเซียในเมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งเป็นนักศึกษาไทยอีกคนที่ยังตกค้างในอินโดนีเซีย บอกว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากกลับบ้านเช่นกัน เพราะกังวลต่อสถานการณ์ในอินโดนีเซียที่ตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 10,000 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 800 ราย แต่ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วมีเพียงแค่กว่า 1,500 รายเท่านั้น จึงกังวลว่า หากตัวเองติดเชื้อจะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา รวมถึงไม่มั่นใจในโรงพยาบาลและการรักษาของอินโดนีเซีย
นอกจากนี้การติดอยู่ที่อินโดนีเซียช่วงล็อกดาวน์ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะมหาวิทยาลัยปิด การได้กลับบ้านน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว ทำให้ไม่ต้องส่งเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายที่นี่ โดยยุสรีบอกว่าเขาอยากทราบว่าค่าตั๋วที่แน่นอนในการเดินทางกลับประเทศด้วยเที่ยวบินพิเศษว่าเป็นเงินเท่าไร เพื่อจะได้ประเมินว่าจ่ายไหวหรือไม่ โดยยังเล่าว่านักศึกษาไทยแต่ละคนที่มาเรียนในอินโดนีเซียมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจที่ต่างกันไป หากค่าตั๋วแพงก็อาจมีบางคนที่จ่ายทั้งหมดไหว หรือจ่ายได้บางส่วน หรือบางคนก็อาจไม่สามารถจ่ายได้ด้วยครอบครัวก็เจอปัญหาเรื่องรายได้ในช่วงวิกฤตเช่นกัน โดยตัวเขาเองได้ลงชื่อแจ้งความประสงค์กลับบ้านไปแล้ว 3 ครั้ง
ยุสรีบอกว่าทุกมหาวิทยาลัยในเมืองยอกยาการ์ตาปิดหมด หลัง 4 ทุ่มจะห้ามออกนอกบ้านยกเว้นขออนุญาต เช่นเดียวกับที่ตามตรอกซอยต่างๆ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำการตรวจสอบ ทำให้การเดินทางออกไปซื้อหาอาหารเป็นเรื่องลำบากพอสมควร ในช่วงนี้ซึ่งเป็นเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิมก็ทำให้นักศึกษาหลายคนตุนอาหารแห้งเอาไว้เพื่อรับประทานหลังละศีลอด ตัวเขาเองบางครั้งก็จะออกไปซื้ออาหารช่วงเที่ยงแล้วเก็บเอาไว้กินตอนพระอาทิตย์ตกแล้ว
ก่อนหน้านี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซียได้จ่ายเงินช่วยเหลือนักศึกษาคนละ 300 บาท และมอบถุงยังชีพมาให้ 1 ครั้ง
สอดคล้องกับ 'อาแอเสาะ ปูแทน' คุณแม่ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีลูกชายเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในเมืองยอกยาการ์ตาเช่นกันเผยว่า ลูกชายได้ส่งภาพมื้ออาหารละศีลอดเป็นภาพล้อมวงกับเพื่อนนักศึกษาไทยรับประทานไข่เจียวเพียงจานเดียวร่วมกันเป็นมื้อละศีลอด โดยลูกชายบอกว่าออกไปซื้ออาหารยากมากเนื่องจากมีการปิดพื้นที่เข้าออก ทำให้บางครั้งต้องอาศัยอาหารจากถุงยังชีพเป็นหลัก 'อาแอเสาะ' หวังว่าหากสามารถเดินทางกลับประเทศได้ตามประกาศของสถานเอกอัครราชทูต ก็พร้อมจะจ่ายค่าตั๋วให้ลูกได้เดินทางกลับบ้าน
ทั้งนี้ ประกาศสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ระบุว่าจำเป็นต้องจัดลำดับความเดือดร้อนเร่งด่วนของผู้ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยตาม “แนวทางการช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศของหน่วยราชการไทย” ซึ่งระบุให้นักศึกษาอยู่ในกลุ่มนี้เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่ตกค้าง ผู้สูงอายุ นักเรียน นักศึกษา เด็ก เยาวชน และคนตกงาน
ขณะที่บีบีซีไทยได้รายงานว่า 'เชิดเกียรติ อัตถากร' อธิบดีกรมสารนิเทศให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า "สำหรับกรณีคนไทยที่ไม่มีค่าตั๋วเครื่องบิน ขอให้ติดต่อสถานทูตเพื่อขอยืมเงินได้ก่อน"
ด้าน 'พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา' สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทยเผยกับวอยซ์ออนไลน์ว่า ศูนย์ประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 จะเข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศคบ. ในวันที่ 5 พ.ค. เพื่อสอบถามแนวทางการสื่อสารและความคืบหน้าต่างๆ ในการช่วยคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศ
พญ.เพชรดาวเปิดเผยว่า ผู้แทนทุกคนได้รับข้อความทางโซเชียลมีเดียจากประชาชนที่ตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เข้ามาสะท้อนความเดือดร้อนและสอบถามข้อมูลมากมาย แต่ไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากต้องรอจากส่วนกลางหรือประกาศสถานทูต และเผยว่ายังต้องพูดคุยกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศถึงขอบเขตเวลาที่แน่ชัดในการช่วยคนไทยกลับประเทศ และหากยังไม่สามารถกลับได้จะมีการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไรระหว่างนั้น