การเดินทางมาเยือนไทยประเทศไทยอย่างไม่เป็นทางการของอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เกิดขึ้นภายหลังจากที่ทักษิณได้รับการพักโทษ และย้ายสถานที่พักรักษาตัวจากโรงพยาบาลตำรวจ มายังบ้านพักส่วนตัวบริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการให้กำลังใจของผู้สนับสนุน และเสียงวิจารณ์ออกไปในหลายทิศทาง
จากรายงานเบื้องต้นระบุว่า ฮุนเซนจะเดินทางมายังประเทศไทยในวันที่ 21 ก.พ.นี้ ณ ช่วงเวลา 10.30 น. และจะเดินทางเข้าเยี่ยมทักษิณที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า จากนั้นอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางกลับกัมพูชาทันที ในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น.
ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่างสองอดีตนายกรัฐมนตรีไทยและกัมพูชา ไม่ใช่ความสนิทสนมที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสองผู้นำที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ท่ามกลางมิตรภาพและวิกฤตการทางการเมืองของทั้งไทยและกัมพูชา
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงวันที่ 6 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทักษิณพร้อมด้วยน้องสาวอย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย เดินทางเข้าร่วมฉลองงานวันเกิดปีที่ 71 ของฮุนเซน หลังจากพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ชนะการเลือกตั้งของประเทศ ซึ่งนำมาสู่การประกาศก้าวลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของฮุนเซน เพื่อเปิดทางให้ลูกชายอย่าง ฮุนมาเนต ขึ้นครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาต่อจากผู้เป็นพ่อ
“ครอบครัวของผม หลานและลูกสาวของผม มาเยี่ยมบ้านของผมเพื่อฉลองวันเกิดของผมในปีนี้ และที่น่าแปลกใจเป็นพิเศษก็คือ น้องสาวและพี่ชายทูลหัวของผมก็เดินทางมาเข้าร่วมด้วย” ฮุนเซนกล่าวถึงการเดินทางมาเข้าร่วมงานวันเกิดของเขาของทักษิณและยิ่งลักษณ์ ด้วยการเรียกสองอดีตนายกรัฐมนตรีไทยในฐานะพี่น้องทูลหัว สะท้อนความสัมพันธ์ที่เป็นมากกว่าอดีตผู้นำต่อผู้นำ แต่เปรียบประหนึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกัน
ฮุนเซนให้สัมภาษณ์กับสื่อของกัมพูชาในวันรุ่งขึ้น (7 ส.ค. 2566) ว่า เขาได้ร่วมรับประทานอาหารเช้ากับสองพี่น้องตระกูลชินวัตร ก่อนที่ทั้งสองจะเดินทางออกนอกกัมพูชาไป ทั้งนี้ การปรากฏตัวของทักษิณในกัมพูชาเมื่อช่วงวันที่ 7 ส.ค. เกิดขึ้นในระหว่างการประกาศเลื่อนการเดินทางกลับไทยของทักษิณราว 2 สัปดาห์ ก่อนที่อดีตนายกรัฐมนตรีไทยจะเดินทางออกจากสิงคโปร์มาถึงประเทศไทย และถูกควบคุมตัวโดยทางการเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ในช่วงวันเดียวกันนั้นเอง โฆษกรัฐบาลกัมพูชาแถลงย้ำว่า การเข้าร่วมงานวันเกิดฮุนเซนของทักษิณและยิ่งลักษณ์ เป็นเข้าร่วมงานบนพื้นฐาน “ความสัมพันธ์ส่วนตัวอย่างรัดกุม” พร้อมกันนี้ โฆษกรัฐบาลกัมพูชาระบุว่าฮุนเซนได้พูดคุยเพื่ออธิบายกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น เพื่อการทำ “ความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ส่วนตัว” ที่ตัวเองมีต่อทักษิณและยิ่งลักษณ์ ซึ่งจะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับกัมพูชา
การเดินทางเยือนกัมพูชาของทักษิณ เกิดท่ามกลางวิกฤตการเลือกนายกรัฐมนตรีไทยในรัฐสภา ซึ่งมีการเสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่พิธากลับประสบกับการถูกขัดขวางจากวุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มีอำนาจในการร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไทยคนต่อไป ก่อนที่รัฐสภาไทยจะมีมติเลือกให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศในวันที่ 22 ส.ค. 2566 หนึ่งวันหลังจากที่ทักษิณเดินทางกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในไทย
อย่างไรก็ดี กินเพีย ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชา ให้ความเห็นว่าการเข้าพบฮุนเซนของทักษิณในวันที่ 6 ส.ค. 2566 นั้น เป็นการเข้าพบด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวเท่านั้น และเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ทางการเมืองของกัมพูชาหรือไทย นอกจากนี้ เพียเน้นย้ำว่าทั้งฮุนเซนและทักษิณหลีกเลี่ยงการออกแถลงการณ์ใดๆ ในทางการเมืองระหว่างการเข้าพบกันด้วย
ทั้งนี้ ฮุนเซนในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ครองอำนาจการเป็นผู้นำที่นานที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินนโยบายทวิภาคีกับไทยที่มีความเป็นมิตรแทบกับทุกรัฐบาลของไทย ไม่เว้นแม้แต่ว่ารัฐบาลนั้นๆ จะมาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหาร แม้ความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐของไทยกับกัมพูชาจะประสบกับวิกฤตบ้างในช่วงปี 2546 จากเหตุจลาจลสถานทูตไทยและธุรกิจไทยในกรุงพนมเปญ และปี 2551 จากเหตุการณ์ความขัดแย้งเข้าพระวิหารชายแดนไทย-กัมพูชา
อย่างไรก็ดี เพียให้การคาดการณ์เมื่อช่วงเดือน ส.ค. 2566 ที่ผ่านมาว่า แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับฮุนเซนจะเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เขามองในขณะนั้นว่าหากนายกรัฐมนตรีไทยคนต่อไปเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาอาจมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นด้านการค้า แรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการจัดการปัญหาอื่นๆ
ทั้งนี้ หลังจากเศรษฐาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาได้เลือกเดินทางเยือนกัมพูชาเป็นชาติแรกในอาเซียน เมื่อช่วงวันที่ 28 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้น ฮุนมาเนต บุตรชายของฮุนเซน ได้ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชาต่อจากผู้เป็นพ่อแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีไทยระบุว่า การเดินทางเยือนกัมพูชาเป็นชาติแรกในอาเซียนของเขานั้น เกิดจากการที่กัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับประเทศไทย นอกจากนี้ ฮุนมาเนตยังเดินทางเยือนไทยเพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์ของรัฐกัมพูชาต่อรัฐไทย เมื่อช่วงวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา นับเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของเขาเช่นกัน
จากรายงานหลายแหล่งระบุตรงกันว่า ทักษิณและฮุนเซนรู้จักกันครั้งแรกเมื่อช่วงปี 2535 หรือเมื่อ 32 ปีก่อน ขณะทักษิณยังคงเป็นนักธุรกิจในภาคไอทีและโทรคมนาคม และก่อนที่ทักษิณจะเข้าสู่วงการการเมือง ด้วยการขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีไทย เมื่อปี 2537 รองนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของ บรรหาร ศิลปอาชา เมื่อปี 2538 อดีตนายกรัฐมนตรีไทยในปี 2540 ทั้งนี้ ทักษิณขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2544
ความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและฮุนเซนได้รับการอธิบายว่าเป็น “พี่น้อง” ต่อกันและกัน โดยนับตั้งแต่ปี 2549 ภายหลังจากรัฐบาลของทักษิณถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ทักษิณได้ลี้ภัยออกนอกประเทศไทยในปี 2551 เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีจากกระยวนการยุติธรรมที่ได้รับการแต่งตั้งแต่ดำเนินจากการฝ่ายรัฐประหาร เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 16 ปีทีทักษิณใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ในดูไบ แม้เขาจะเดินทางเยือนกัมพูชา และเข้าพบกับฮุนเซนในหลายโอกาส ระหว่างการอาศัยอยู่นอกบ้านเกิดของตัวเอง ทั้งนี้ มีรายงานว่าทักษิณเข้าพบกับฮุนเซนในปี 2551 ในกัมพูชาหลังจากการลี้ภัยออกนอกไทยด้วย
ในเดือน พ.ย. 2552 ทักษิณได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา และเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของฮุนเซน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างทักษิณและฮุนเซนในขณะนั้น ส่งผลกระเทือนมาถึงรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ อภิสิทธิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยระหว่างปี 2551-2554 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไทยกับพูชาเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องชายแดนเขาพระวิหารเมื่อปี 2552
ประเทศไทยในขณะนั้นยังประสบกับเหตุการณ์การประท้วงของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยในระหว่างนั้น ฝ่ายนิยมรัฐบาลและกองทัพ มีความพยายามหยิบยกความสัมพันธ์ของทักษิณและฮุนเซนมาใช้ในการโจมตีกันในทางการเมืองอยู่เป็นระยะๆ ก่อนที่รัฐไทยจะดำเนินการปราบปรามและสังหารคนเสื้อแดงในช่วงเดือน เม.ย. และ พ.ค. 2553
ในเดือน ส.ค. 2553 หรือ 9 เดือนหลังจากการประกาศแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา ทักษิณประกาศลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว โดยอดีตนายกรัฐมนตรีไทยให้เหตุผลในการลาออกในขณะนั้นว่าเกิดจากปัจจัยในด้านส่วนตัว
มีรายงานการเดินทางเยือนกัมพูชาของทักษิณในวันที่ 16 ถึง 24 ก.ย. 2554 เพื่อเข้าร่วมงานการประชุมอนาคตเศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นในกรุงพนมเปญ ทั้งนี้ ทักษิณยังเดินทางเยือนกัมพูชาอีกครั้งในปี 2555 เพื่อร่วมงานเทศกาลสงกรานต์ ที่จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา อันเป็นที่มาของการขึ้นร้องเพลง ‘Let It Be’ หรือ “ช่างแม่มัน” ที่กลายเป็นมีมไปทั่วอินเทอร์เน็ตมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก่อนที่ทักษิณจะปรากฏตัวอีกครั้งในงานวันเกิดของฮุนเซนเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ในระหว่างช่วงการเป็นรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ในปี 2554 ก่อนที่จะถูกรัฐประหารโดย พล.อ.ประยุทธ์ในปี 2557 ความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชาปรับตัวในแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับยุคสมัยของอภิสิทธิ์ อย่างไรก็ดี ฮุนเซนยังคงดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารในไทยที่ยึดอำนาจไปจากรัฐบาลพลเรือนของยิ่งลักษณ์ แม้ฮุนเซนจะยืนยันมาโดยตลอดว่า ความสัมพันธ์ของตัวเองกับบ้านชินวัตรนั้น จะไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับกัมพูชา
การพบกันของฮุนเซนและทักษิณ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้าในวันที่ 21 ก.พ.นี้ อาจถูกจับตามองในฐานะสัญญาณในทางการเมืองระหว่างไทยกับกัมพูชา หรืออาจเป็นเพียงความสัมพันธ์ระหว่างชายทั้งสองคนที่ต่างเรียกกันและกันว่าเป็นพี่น้อง ซึ่งดำเนินมาตลอดระยะเวลา 32 ปี แต่เหตุการณ์ในวันพรุ่งนี้ย่อมถูกหยิบยกมาพูดคุยไปในอีกหลายชั่ววัน