ไม่พบผลการค้นหา
'ไพบูลย์' หนุนเลื่อนญัตติด่วนของ 'ก้าวไกล' ขึ้นมาพิจารณาก่อนเข้าสู่เนื้อหาร่างแก้รัฐธรรมนูญ มั่นใจไม่ทำให้สะดุด

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) รัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมกันในวันที่ 24-25 สิงหาคม ซึ่งมีวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จว่า พรรครัฐบาลจะสนับสนุนให้เลื่อนญัตติด่วน ที่เสนอโดย ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเสนอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ให้พิจารณาก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ตามประเด็นในญัตติที่เสนอนั้น ตนเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุด

ไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับญัตติที่จะพิจารณามีประเด็นพิจารณา 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ระบุว่าอ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151 เพื่อยื่นให้รัฐสภาพิจารณาว่า ข้อบังคับข้อ 124 ตราขึ้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตนเห็นว่าข้อบังคับ ข้อ 124 ไม่มีส่วนใดที่ขัดหรือตราไม่ถูกต้องตามรัฐธรมนูญ อีกทั้งเนื้อหาของข้อบังคับที่ 124 นั้นเขียนในลักษณะดังกล่าวเพื่อบังคับใช้มานานแล้ว และ ประเด็นการตีความกรอบการใช้ข้อบังคับ ข้อ 124 จะมีขอบเขตอย่างไร ตนมองว่า ตัวบทมีความชัดเจนคือ 1. เพิ่มมาตราได้ และไม่ขัดหลักการ และ 2.มาตราที่เพิ่มอาจเกินจากหลักการได้ แต่ต้องเกี่ยวเนื่องและสอดรับกัน อย่างไรก็ดีญัตติดังกล่าวต้องใช้การลงมติของรัฐสภาตัดสินโดยเสียงข้างมาก ซึ่งการลงมตินั้นเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนจะพิจารณา

“ต่อกรณีที่ตั้งข้อสังเกตที่กมธ. เพิ่มบทเฉพาะกาล 2 มาตราขึ้นใหม่ ว่าด้วยเงื่อนเวลาให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และเพิ่มบทบัญญัติกรณีที่รัฐสภาตามกฎหมายลูกดังกล่าวไม่แล้วเสร็จ เพราะเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกัน หากการแก้ไขระบบเลือกตั้งไม่มีบทเฉพาะกาลดังกล่าวไว้หากเกิดการเลือกตั้งขึ้นก่อนที่กฎหมายลูกจะบังคับใช้อาจเป็นปัญหาได้” ไพบูลย์ กล่าว

ไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับการเขียนบทเฉพาะกาล 2 มาตรา ในสมัยปี 2554 ที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนบทเฉพาะกาลในเนื้อความที่คล้ายกันไว้เพราะมีความจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือการเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ในกฎหมายก่อนหน้านี้ในการตรากฎหมายสำคัญ เช่น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เป็นต้น

“ผมเชื่อว่าประเด็นที่ผู้เห็นต่างยกเป็นประเด็นจะไม่ทำให้ให้เป็นปัญหาตอนลงมติ ในวาระสองนั้นใช้เสียงข้างมากของที่ประชุม ส่วนวาระสามต้องใช้เสียงส.ว. 1 ใน 3 ร่วมลงมติด้วยนั้นเชื่อว่าไม่เป้นปัญหาเช่นกันเนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับส.ว. อีกทั้ง ส.ว. ต้องการแสดงตนเช่นกันว่าไม่เป็นอุปสรรค หรือขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา” ไพบูลย์ กล่าว