ไม่พบผลการค้นหา
นักวิทยาศาสตร์ชี้การทดลองหาค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กจากบุหรี่ไฟฟ้า ของ 'ชมรมลมวิเศษ' ผิดลักษณะและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ผิดเพี้ยน หลัง "ไอน้ำ" ของบุหรี่ไฟฟ้าทำเครื่องวัดโดนหลอก

ในงานแถลงข่าว 'ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว' ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการชมรมลมวิเศษ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการทำการทดลองอัดควันบุหรี่ไฟฟ้าเข้ากล่องอะคริลิกและวัดค่า โดยผลปรากฎว่า ก่อนที่จะปล่อยไอควันบุหรี่ไฟฟ้าเข้าไป ค่าฝุ่น PM2.5 ในห้องอยู่ที่ประมาณ ราว 70 มคก./ลบ.ม. แต่เมื่อเริ่มปล่อยควันค่าฝุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 420 มคก./ลบ.ม. ทั้งที่เครื่องวัดยังอยู่ภายนอกกล่องอะคริลิก และเมื่อนำเครื่องเข้าไปในกล่อง ปรากฏว่า ขึ้นสูงสุดไปถึง 500 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าสูงสุดของเครื่องที่วัดได้

อย่างไรก็ตามล่าสุด รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊ก "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" ว่าการทดลองในลักษณะดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจากควันของบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีไอน้ำเป็นส่วนประกอบซึ่งส่งผลให้เกิดความชื้นสูง และนำไปสู่การแสดงผลอันผิดเพี้ยนของเครื่องวัดนั่นเอง

เนื้อหาทั้งหมดระบุดังนี้ 

ทำการทดลองแบบนี้ "ไม่ถูก" นะครับ เครื่องวัดฝุ่นแบบพกพามันจะแสดงค่าเพี้ยนไปมากเมื่อเจอไอน้ำครับ

เห็นมีคลิปการทดลองของชมรมลมวิเศษ ไปพิสูจน์ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในไอบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยการเอาเอาควันจากเครื่องบุหรี่ไฟฟ้า ใส่เข้าไปในกล่อง แล้วเอาเครื่องวัดฝุ่น PM2.5 (น่าจะยี่ห้อ SNDWAY) ไปใส่ในกล่อง ค่าตัวเลขก็พุ่งขึ้นสีแดง กระพริบๆ โดยในคลิปอ้างว่า แสดงถึงการมีฝุ่น PM2.5 มากมาย ถึงเกิน 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ไม่ได้นะครับ !! คือเครื่องวัดฝุ่นแบบนี้ (รวมถึงตัวที่ผมใช้อยู่ทุกวัน) จะใช้หลักการ light scattering หรือการกระเจิงของแสงเลเซอร์ที่ยิงใส่ไดโอดวัดแสง แล้ววัดค่าการกระเจิงที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีฝุ่นมาขวางกัน ซึ่งแม้ว่ามันจะมีความแม่นยำสูงในระดับน่าพอใจ แต่ๆๆ มันมีจุดบอดที่จะมีค่าเพี้ยนสูงขึ้นเมื่อมี "ความชื้น" สูง

ดังนั้น การที่เอาเครื่องไปวัดฝุ่น จากควันบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็น "ไอน้ำ" นั้น จะทำให้เครื่องโดนหลอก และแสดงค่าเยอะเกินจริงอย่างที่เห็น .. ควรใช้วิธีมาตรฐานแบบ gravimetric ที่อาศัยแผ่นกรองดักฝุ่นไปตรวจมากกว่าครับ

แต่ๆๆ ผมไม่ได้บอกว่า ควันของบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่มีฝุ่น PM2.5 นะครับ เพราะมีงานวิจัยที่เคยศึกษาถึงปริมาณฝุ่น PM2.5 จากบุหรี่ไฟฟ้า 

(https://link.springer.com/artic…/10.1007%2Fs40572-015-0072-x) พบว่าในบ้านที่มีการสูบบุรี่มวนเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จะมีค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับมัธยฐานที่ 572.52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (คือ สูงมากๆๆ สูงมากกว่ามาตรฐานสุขภาพของไทยไปกว่า 11 เท่า) ขณะที่บ้านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับเพียง 9.88 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับบ้านที่ไม่ได้สูบบุรี่ใดๆ เลย (ทดลอง 2 หลัง) คือ 9.53 และ 9.36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

แม้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะปล่อยควันที่มีฝุ่น PM2.5 ออกมาน้อย แต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังให้สารพิษที่ไม่ดีต่อสุขภาพหลายอย่างออกมาด้วยอยู่ดี ตั้งแต่นิโคติน คาร์บอนิล โลหะหนัก และสารอินทรีย์ระเหยง่ายอีหลายชนิด ... เลิกได้ ก็เลิกเถอะครับ

ด้านนายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่าย ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า กลุ่ม "ลาขาดควันยาสูบ End Cigarette Smoke Thailand (ECST)" กล่าวกับวอยซ์ออนไลน์ว่า ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ซึ่งมีส่วนร่วมในการทดลองครั้งนี้มีเป้าหมายชัดเจนในการทดลองอยู่แล้ว ซึ่งตนเห็นว่าไม่เป็นกลาง และพยายามทำให้คนเข้าใจผิด เนื่องจากไอน้ำ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของบุหรี่ไฟฟ้า มีผลให้เครื่องวัดเเสดงผลผิดเพี้ยน 

"บิดเบือนข้อเท็จจริง หวังทำตามธงที่ตัวเองตั้งมาแบบไม่มีความเป็นกลาง" นายมาริษกล่าวและยืนยันว่า ที่ผ่านมามีงานวิจัยในต่างประเทศรองรับว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะปล่อยควันที่มีฝุ่น PM2.5 ออกมาน้อยมาก โดยบ้านที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับเพียง 9.88 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับบ้านที่ไม่ได้สูบบุรี่ใดๆ เลย 


คลิปจากทดลองจากเพจ MGR Quality Of Life