ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการปะทะกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างกองทัพเมียนมา หรือ 'ตั๊ดมะด่อ' และกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ หลังรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานออกประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ว่าจะต่อต้านกองทัพที่ใช้กำลังสังหารประชาชนบริสุทธิ์ และจะไม่หยุดโจมตีถ้ากองทัพยังเดินหน้าสังหารประชาชน
การโจมตีทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Indipendence Army : KIA) สามารถเข้ายึดฐานทัพยุทธศาสตร์ของกองทัพเมียนมาในพื้นที่อลาวบัม (Alaw Bum) เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ซึ่งเป็นบริเวณเนินเขาทางตอนเหนือของเมียนมาและมีอาณาเขตติดกับจีนแผ่นดินใหญ่
จากนั้นเริ่มมีการปะทะกันดุเดือดในวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมาเพื่อทำการยึดพื้นที่คืนจาก KIA ขณะที่การปะทะในวันที่ 15 เม.ย.ที่เมืองตะไนมีการยกระดับขึ้นไปอีกขั้น โดยหลังจากการเริ่มโจมตีก่อนของ KIA กองทัพเมียนมาตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศด้วยเครื่องบินรบ 2 ลำอย่างดุเดือด ซึ่งเป็นวิธีที่กองทัพเมียนมาใช้ติดต่อกันร่วม 4 วันในปฏิบัติการยึดพื้นที่ฐานทัพยุทธศาสตร์อลาวบัมคืน
การปะทะกันช่วงเช้ามืดราว 04.00 น.ของวันที่ 16 เม.ย. KIA เริ่มซุ่มโจมตีก่อนด้วยการใช้ทุ่นระเบิดจัดการกับขบวนรถทหารเมียนมา 16 คันบนเส้นทางที่มุ่งหน้าไปยังฐานทัพอลาวบัม ส่งผลให้รถบรรทุกบางคันระเบิดไฟลุกท่วม ทหารจากฝั่งของกองทัพเมียนมาเสียชีวิตรวมสะสมนับ 100 ศพ ซึ่งตัวเลขนี้ไม่มีการรายงานแน่ชัด คาดว่าอาจมีมากกว่านั้น
ในการปะทะตลอดช่วงสัปดาห์ของวัน 'เทศกาลปีใหม่' ที่ผ่านมา หน่วยรบพิเศษจากกองพลทหารราบเบาที่ 320 ถูกส่งเข้าร่วมปฏิบัติการ ซึ่งพันเอก นาง บู โฆษก KIA กล่าวกับผู้สื่อข่าว Kachin Waves ถึงการเสียชีวิตของ '320' ว่า "มีการรายงานว่าทหารจากกองทัพเมียนมาเสียชีวิตจำนวนมาก ผมคิดว่าทั้งกองทัพตายเรียบ มีรอดมาแค่ 2-3 นายเท่านั้น"
ตามทฤษฎีแล้ว 'หน่วยรบพิเศษจากกองพลทหารราบเบา' หรือ LIB จะประกอบไปด้วยกำลังพลราว 700 นาย แต่ในเชิงปฏิบัติจะมีกำลังพลไม่กี่ร้อยนายเท่านั้น ซึ่งในการปะทะที่ผ่านมาไม่มีรายงานแน่ชัดว่าทหารเมียนมาส่งกำลังพลเข้าร่วม LIB 320 เท่าใด
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์เผยกับสำนักข่าว Myanma Now ว่ากองทัพเมียนมาได้ส่งกำลังพลจากหน่วยรบพิเศษจากกองพลทหารราบเบาที่ 77 และ 88 เข้าร่วมชิงพื้นที่คืนด้วย ขณะที่ในวันที่ 14 เม.ย. กองทัพเมียนมาใช้เครื่องบินพาณิชย์ขนส่งกำลังพลเข้าต่อสู้กับ KIA เพิ่มราว 800 นาย
ท่ามกลางความรุนแรงและการสูญเสียชีวิตของนายทหารที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือการเสียชีวิตของผู้บัญชาการ หน่วยรบพิเศษจากกองพลทหารราบเบาที่ 387 ซึ่งท้ายที่สุดถูกนำ 'ร่าง' กลับจากพื้นที่เกิดเหตุด้วยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเมียนมาในวันที่ 12 เม.ย.
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากฝั่ง KIA แต่อย่างใด ขณะที่ฐานทัพยุทธศาสตร์ 'อลาวบัม' ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของ KIA ตามเดิม