ไม่พบผลการค้นหา
EIC ประเมินการตัดสิทธิ GSP รอบใหม่จะมีผลจำกัดต่อการส่งออกรวม แต่จะกระทบต่อสินค้าที่จะโดนภาษีเพิ่มขึ้นมาก และมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ประเมินว่า จากกรณีที่ United States Trade Representative (USTR) ได้ประกาศตัดสิทธิ GSP กับสินค้าไทยเพิ่มเติม 231 รายการ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป หลังจากที่ได้มีการยกเลิกสิทธิ GSP ในรอบแรกซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วกับสินค้าไทย 573 รายการ คาดการตัดสิทธิดังกล่าวมีผลกระทบต่อการส่งออกไทยในภาพรวมจะมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก สินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ที่จะถูกตัดสิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.2% ต่อมูลค่าการส่งออกรวม และ สินค้าที่จะโดนตัดสิทธิ GSP จะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.1% ซึ่งจะกระทบต่อยอดขายไม่มากนัก

ทั้งนี้หากวิเคราะห์โดยละเอียดจาก GSP utilization rate, อัตราภาษีที่จะมีการเก็บเพิ่ม และมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ของแต่ละสินค้า พบว่าสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ ผักดองเปรี้ยว, ผักแห้ง, ไฟประดับต้นคริสมาสต์, ปิโตรเรซิน, ซิลิคอน, ภาชนะอะลูมิเนียมทรงกระบอก, โลหะสำหรับยึดและติดตั้ง, ประแจ และตะปูควง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลกระทบจากการโดนตัดสิทธิ GSP เพิ่มเติมโดยรวมจะมีไม่มากนัก แต่จากผลกระทบสะสมของการโดนตัดสิทธิ GSP ในรอบก่อนหน้า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า กระแสการปกป้องทางการค้า (Trade Protectionism) ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าสะสมในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้ามีสูงขึ้น และยังส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อที่จะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก