ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียออกมาเตือนว่า ช่วงที่ผ่านมาพบความพยายามโจมตีทางไซเบอร์ในหน่วยงานรัฐบาลในทุกระดับ รวมถึงบริการและธุรกิจที่จำเป็น นักวิเคราะห์สันนิฐาน จีนอาจอยู่เบื้องหลังการโจมตีรอบนี้

สก็อตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเปิดเผยว่า รัฐบาลและสถาบันต่างๆ ของออสเตรเลียถูกโจมตีทางไซเบอร์ที่ซับซ้อน เขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายชื่อหน่วยงานที่ถูกโจมตี แต่ระบุว่าการโจมตีครอบคลุมทุกระดับของหน่วยงานรัฐบาล หน่วยงานทางการเมือง อุตสาหกรรม หน่วยงานด้านการศึกษา ระบบสาธารณสุข บริการที่จำเป็นอย่าง และธุรกิจต่างๆ ด้วย แต่ยังไม่มีข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลครั้งใหญแต่อย่างใด

มอร์ริสันกล่าวว่า การโจมตีทางไซเบอร์ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายเดือนและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงต้องการเตือนให้สาธารณะได้ตระหนักและให้ธุรกิจต่างๆ ปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยของตัวเอง แต่เขาก็ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์ลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นกับออสเตรเลียเท่านั้น

ทั้งนี้ มอร์ริสันกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียระบุได้ว่า การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นเป็นการแฮ็กในระดับประเทศ สังเกตจาก “ขนาดการโจมตี ลักษณะการโจมตี และเทคนิคที่ใช้” และแม้เขาจะปฏิเสธที่จะระบุว่าประเทศใดอยู่เบื้องหลังจากโจมตี เพียงแต่เปิดเผยว่า “มีผู้โจมตีระดับรัฐเพียงไม่กี่ราย” 

ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองไซเบอร์มองว่าจีน รัสเซีย อิหร่าน เกาหลีเหนือมีความสามารถที่จะโจมตีระดับประเทศได้ และประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับออสเตรเลีย แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาจีนมีความเกี่ยวข้องกับการโจมตีทางไซเบอร์ในออสเตรเลีย เช่น การแฮ็กรัฐสภาในปี 2562 อย่างไรก็ตาม การสอดแนมทางไซเบอร์ระหว่างประเทศถือเป็นเรื่องพบเห็นได้ทั่วไป แม้แต่ในกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรกัน

หลังจากที่ออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการสอบสวนต้นกำเนิดของไวรัสโคโรนา จีนได้ตั้งกำแพงภาษีข้าวบาร์เลย์ และยกเลิกการนำเข้าเนื้อจากออสเตรเลีย อีกทั้งยังเตือนประชาชนและนักเรียนว่าอาจมี “ความเสี่ยง” ในการเดินทางไปออสเตรเลียเพื่อท่องเที่ยวหรือเรียน เพราะมีการเหยียดเชื้อชาติ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศของจีนปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์หน่วยงานรัฐบาลและเอกชนของออสเตรเลีย พร้อมกล่าวหาว่า สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลียสร้างข้อกล่าวหาจีนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีไซเบอร์


ที่มา : BBC, The Guardian