ทางการรัสเซียได้ออกมายอมรับว่า ตนได้เสียเมืองสำคัญหลายแห่งในพื้นที่ภูมิภาคคาร์คีฟทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของสงครามในระยะล่าสุด อย่างไรก็ดี รัสเซียอ้างว่าการถอนกองทัพของตนเองออกจากพื้นที่ดังกล่าว เป็นไปเพื่อ “การจัดทัพใหม่” เพื่อมุ่งเป้าไปที่ปฏิบัติการในภูมิภาคลูฮานสก์และโดเนตสก์ของยูเครนทางตะวันออก
ชาวรัสเซียผู้สนับสนุนสงครามจำนวนมากออกมาวิจารณ์ว่า การถอนทัพออกจากคาร์คีฟในครั้งนี้ของประเทศตนเป็น “ความอัปยศ” ในขณะที่มีรายงานพบว่า ทหารรัสเซียจำนวนมากรีบล่าถอยจนทิ้งอาวุธของตนเองเอาไว้ ทั้งนี้ การถอนทัพของรัสเซียในครั้งนี้ เป็นการถอนทัพครั้งใหญ่ของรัสเซียในพื้นที่ยูเครน นับตั้งแต่การถอนกำลังออกจากรอบกรุงเคียฟเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เริ่มสั่งการรุกรานยูเครนเมื่อ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 ก.ย.) ว่า กองกำลังของยูเครนมี “ความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ” ในการตอบโต้การโจมตี แต่กล่าวเสริมว่ายังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ผลลัพธ์ “รัสเซียยังคงรักษากองกำลังที่สำคัญอย่างมากในยูเครน เช่นเดียวกับอุปกรณ์ อาวุธ และยุทโธปกรณ์ พวกเขายังคงใช้มันอย่างไม่เลือกปฏิบัติเพื่อต่อต้านกองทัพยูเครนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนอย่างที่เราเคยเห็น” บลิงเคนกล่าว
ในการแถลงผ่านวิดีโอเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เซเลนสกีกล่าวว่า “ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. จนถึงวันนี้ กองทัพของเราได้ปลดปล่อยดินแดนยูเครนไปแล้วกว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งทางตะวันออกและทางใต้” ก่อนระบุเสริมว่า “การเคลื่อนทัพของกองกำลังของเรายังคงดำเนินต่อไป” ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีก่อน (8 ก.ย.) เซเลนสกีชี้ว่า กองกำลังยูเครนยึดได้คืนพื้นที่กว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร แต่ในวันอาทิตย์ (11 ก.ย.) ตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นสามเท่าถึง 3,000 ตารางกิโลเมตร สะท้อนให้เห็นว่ายูเครนสามารถตีพื้นที่คืนได้อย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
ก่อนหน้านี้ กองทัพรัสเซียยอมรับว่ากองกำลังของตนต้องถอนตัวออกจากเมืองสำคัญอย่าง บาลาคลิยา อิเซียม และคูเปียนสก์ในภูมิภาคคาร์คีฟ โดยในตอนนี้ รัสเซียสามารถควบคุมพื้นที่ได้เพียงส่วนเล็กๆ ทางตะวันออกของภูมิภาคนี้เท่านั้น ในขณะที่กองกำลังยูเครนได้รับรายงานการเดินทัพอย่างช้าๆ ในภูมิภาคเคอร์ซอนทางใต้ซึ่งมีพรมแดนติดกับแหลมไครเมีย คาบสมุทรยูเครนที่รัสเซียยึดครองในปี 2557
ที่มา: