ไม่พบผลการค้นหา
จากเหตุโรงงานหมิงตี้ระเบิด เมื่อเช้ามืดวันที่ 5 ก.ค. 2564 มีข้อสังเกตว่าตั้งอยู่ในเขตชุมชน กรณีนี้ผิดกฎหมายผังเมืองหรือไม่ มาดูกัน

โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ.2556 - แม้ปัจจุบันมีการบังคับใช้ กฎกระทรวงฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 แต่เนื้อความโดยมากยังคงเหมือนกับฉบับปี 2556

ปัจจุบัน ที่ดินที่ตั้งโรงงานของ บจก.หมิงตี้ เคมีคอล อยู่ในที่ดินประเภท พ.4 โดยมีรายละเอียดตามนี้ :

"ข้อ 18 ที่ดินประเภท พ.4 ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพาณิชยกรรม การอยู่อาศัย สถานที่เก็บสินค้าซึ่งใช้เป็นที่เก็บพักหรือขนถ่ายสินค้าหรือสิ่งของเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรืออุตสาหกรรมการบริการเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้า หรือการขนส่งโดยอากาศยาน

โรงงานลำดับที่ 36 (1) ลำดับที่ 39 ลำดับที่ 51 ลำดับที่ 52 (4) ลำดับที่ 53 (4) (5) และ (8) ลำดับที่ 64 (1) ลำดับที่ 69 ลำดับที่ 81 (1) (2) และ (3) ลำดับที่ 82 ลำดับที่ 83 ลำดับที่ 84 (1) (2) (3) (4) และ (5) และ ลำดับที่ 91 (1) ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เป็นส่วนใหญ่ สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่น ให้ใช้ได้ไม่เกินร้อยละสิบของที่ดินประเภทนี้ในแต่ละบริเวณ"

หากไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากกฎกระทรวงดังกล่าว จะพบว่า โรงงานในลำดับที่ 53 (5) และ (8) จัดอยู่ในประเภท การทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่างๆ และ การอัดพลาสติกหลายๆ ชั้นเป็นแผ่น ตามลำดับ ทว่าไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนถึงกิจการประเภทการการผลิตเม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้น

โสภณ ชี้ว่า จากข้อมูลข้างต้น ประกอบกับว่าบริษัทหมิงตี้ฯ จดทะเบียนจัดตั้ง ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2532 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาก่อนที่จังหวัดสมุทรปราการจะประกาศใช้ผังเมืองรวมฉบับแรก เมื่อ 24 มิ.ย.2537 จึงถือว่าโรงงานนี้ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย 

อย่างไรก็ตามมาตรการการดูแลความปลอดภัยของวัสดุหรือสารเคมีที่มีอันตราย ควรมีการปรับปรุงให้เข้มงวดกว่านี้ เพราะในบริเวณนี้มีโครงการที่อยู่อาศัยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมีประชาชนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากเช่นกัน ยิ่งกว่านั้นผังเมืองฉบับปี 2556 ซึ่งใช้มา 8 ปีแล้ว ก็ไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเท่าที่ควร