ที่เหมืองหินดงมะไฟ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดประกอบด้วย สมควร เรียงโหน่ง วิลัย อนุเวช สุนี อนุเวช มณีนุช อุทัยเรือง นวลละออง ไชยช่วย ได้ร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ลงมาพูดคุยกับชาวบ้านตามหนังสือร้องเรียนที่ชาวบ้านและองค์กรสิทธิมนุษยชนได้ยื่นให้กับกรรมการสิทธิเพื่อให้ประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู หน่วยงานฝ่ายปกครอง หน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการหามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้มีความปลอดภัยและปราศจากการคุกคาม
วิลัย ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ กล่าวว่า พวกเราได้รับผลกระทบจากการอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ของบริษัทเอกชนมาเป็นเวลา 26 ปีมาแล้ว โดยใช้สิทธิในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิในการแสดงออกถึงเจตจำนงในการคัดค้านการทำเหมืองหินอุตสาหกรรมของบริษัทเอกชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูทรัพยากรให้กลับสู่สภาพเดิม โดยที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยุติการต่อใบอนุญาตประทานบัตรของบริษัทเหมืองแร่เอกชนที่เข้ามาทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง พร้อมทั้งการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรแร่
ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่ กล่าวว่า ซึ่งตลอดการต่อสู้ของพวกเราที่ผ่านมาเราถูกข่มขู่คุกคามจากหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การติดตามตรวจตราสอดส่อง ปล่อยข่าวลือสร้างความไม่ชอบธรรมให้กับเรา และมีการปล่อยข่าวจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีว่าจะมีการสังหารชาวบ้านและนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษากลุ่มที่มาร่วมกันชุมนุมปิดเหมืองเป็นศพที่ 5 ซึ่งในระหว่างที่มีการปล่อยข่าวว่าจะมีการลอบสังหารพวกเราและนายเลิศศักดิ์ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนลงมาดูแลหรือสอบถามเราแม้แต่นิดเดียวและล่าสุดกับการให้สัมภาษณ์ของรองผู้ว่าราชการจังหวัด และตัวแทนกอ.รมน. ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโจมตีพวกเราด้วยทัศนคติที่ไม่ดีกับเราก็ถือว่าเป็นการข่มขู่คุกคามพวกเราผ่านสื่อซึ่งในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องคุ้มครองและดูแลประชาชนแต่กลับให้สัมภาษณ์โจมตีพวกเรากับสื่อมวลชนทั้ง ๆ ที่รองผู้ว่าไม่เคยลงมาในพื้นที่เลยคิดว่าชาวบ้านจะรู้สึกเช่นไร ซึ่งการให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยการโจมตีพวกเราแบบนั้นเสมือนหนึ่งเป็นใบอนุญาตให้คนที่ไม่หวังดีใช้ความรุนแรงกับพวกเราได้ ซึ่งทำให้พวกเรารู้สึกไม่ปลอดภัยและถือว่าเป็นการข่มขู่คุกคามพวกเราในรูปแบบหนึ่งด้วย ดังนั้นในวันนี้เราจึงมี 5 ข้อเรียกร้องเพื่อขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้มีการข่มขู่คุกคามหรือสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นอีกเป็นศพที่ 5 หรือศพที่ 6 ดังนี้
1.ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประสานงานกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูซึ่งในฐานะหนึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยและอีกด้านหนึ่งเป็นหัวหน้าของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)ระดับจังหวัด เพื่อขอให้ท่านได้ตรวจสอบหรือได้หาข้อมูล เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ได้รับข้อมูลหรือจะมีผู้ใดความสงสัยว่าผู้ใดจะเป็นผู้ที่ทำร้ายนักปกป้องสิทธิหรือไม่ และหามาตรการในการป้องกันในฐานะรัฐที่ต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิที่ปกป้องผลประโยชนของสาธารณะโดย
2.ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเข้าถึงกลไก กระบวนยุติธรรม และสร้างหลักประกันให้กับนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ว่าจะไม่ถูกสังหารและคุกคามทุกรูปแบบ
3.ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรสุวรรณคูหา เพื่อติดตามและสอบถามความคืบหน้า กรณีที่นายเลิศศักดิ์ ไปลงบันทึกปะจำวันในเหตุการณ์การถูกคุกคาม และมีการแจ้งความที่มีชายถืออาวุธปืนที่พยายามสอดส่องและพยายามเข้าไปในบ้านพักชั่วคราวของนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เมื่อวันที่ 18กันยายน 2563
4.ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประสานและหามาตรการอื่น ๆ ที่จำเป็นอย่างสูงสุดในการป้องกันมิให้มีการสังหารนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนที่เกี่ยวข้อง
5.กลุ่มอนุรักษณ์ต้องการฟื้นความยุติธรรมให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกลอบสังหารไปแล้ว 4 ศพ โดยขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนรื้อคดีที่เกิดขึ้นและผลักดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการสอบสวนคดี 4 ศพที่ถูกลอบสังหารใหม่อีกรอบ
“นอกจากนี้เราอยากรู้ว่าหากเกิดเหตุจำเป็นเร่งด่วนใครจะเป็นคนที่เราสามารถติดต่อได้อย่างเร่งด่วนเบอร์โทรอะไร และกระบวนการในการคุ้มครองและปกป้องพวกเราอย่างเป็นรูปธรรมจะเป็นอย่างไร”ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได้ระบุ
ขณะที่ ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวภายหลังจากรับข้อร้องเรียนจากชาวบ้านว่า กสม.พยายามเสนอแนวทางเพื่อให้มีการพูดคุยกันเพื่อที่จะหาแนวทางเรื่องข้อพิพาทเรื่องความไม่เข้าใจอยากให้ประชาชนในพื้นที่นี้อยู่เย็นเป็นสุข และในส่วนของนักธุรกิจหากจะทำธุรกิจก็อยากให้เคารพสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเราได้เข้าร่วมหารือกับเจ้าหน้าทีรัฐหลายหน่วยงานในประเด็นการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิด้วย นอกจากนี้เรายังได้เข้าร่วมพูดคุยกับอุตสาหกรรมจังหวัดในเรื่องการขอต่ออายุใบประทานบัตร แต่ตนไม่สามารถพูดรายละเอียดมากกว่านี้ได้
และในส่วนกรณีที่ชาวบ้านต้องการให้ กสม รื้อคดี 4 ศพ ของแกนนำชาวบ้านดงมะไฟที่ถูกสังหารไปก่อนหน้านี้นั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ให้อำนาจ กสม. ฟ้องคดีร่วมกับผู้เสียหายได้ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้อำนาจ กสม ไว้ แต่ กสม.สามารถนำความเห็นไปแจ้งความได้ แต่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้มากกว่านี้ ซึ่งภรรยาของกำนันทองม้วนซึ่งยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นหน้าที่ของกรมคุ้มครองสิทธิฯที่จะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้ สิ่งที่ กสม ทำได้ตอนนี้คือ จะรีบกลับไปประสานงานกับหน่วยงานรัฐและเสนอแนะไปยัง รัฐบาล กอรมน ให้รีบดำเนินการในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งกม ใหม่ ให้อำนาจ กสม เมื่อ กสม เสนอข้อเรียกร้องไปยังหน่วยรัฐแล้ว เมื่อหน่วยงานรัฐทราบแล้วต้องไปดำเนินการตามเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการต้องแจ้งกลับมายัง กสม เมื่อดำเนินการตามข้อเสนอไม่ได้ เพราะอะไร ซึ่งจะทำให้เรามาบอกประชาชนได้ ตามที่ได้คุยกับเครือข่าย วันที่ 7 ตุลาคมนี้ก็จะมีคำตอบให้ประชาชน
ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านพยายามสอบถามกับ กสม.ว่าเมื่อช่วงเช้าที่ กสม.ได้เดินทางหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐมีการพูดคุยกันในรายละเอียดอะไรบ้าง เพราะทราบว่าไม่ได้ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการประชุมด้วย แต่กรรมการกสม.แจ้งกับชาวบ้านเพียงการพูดคุยในภาพกว้างๆและไม่สามารถลงรายละเอียดเนื้อหาการพูดคุยได้มาก ทำใหชาวบ้านเกิดความกังขา เพราะก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัฐเช่นรองผู้ว่าราชการจังหวัดและ กอรมน.ได้ให้สัมภาษณ์โจมตีกลุ่มชาวบ้าน และภายหลังจาก กสม.เดินทางกลับไปแล้วนั้น ตัวแทนชาวบ้านได้ร่วมกันประเมินถึงการทำงานของ กสม.ในการลงพื้นที่ โดยเบื้องต้นรู้สึกขอบคุณที่ กสม.ได้เดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ แต่ไม่คิดว่าการทำงานของ กสม.จะช่วยอะไรชาวบ้านได้ สุดท้ายแล้วชาวบ้านก็ต้องช่วยเหลือตนเอง ต้องใช้สองมือสองเท้าปิดเหมืองด้วยตนเองบนความเสี่ยงต่อการถูกคุกคาม
ขณะที่ ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection International ซึ่งทำงานด้านปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีความเสี่ยง และประสานการลงพื้นที่ของกสม.ในครั้งนี้กล่าวว่าก่อนอื่นต้องขอขอบคุณคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ได้ลงมาพื้นที่มาพบกับนักปกป้องสิทธิในวันนี้ แต่เรายังไม่ได้เห็นมาตรการในทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องนักปกป้องสิทธิที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะกรณีของคุณเลิศศักดิ์และคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะมีกลไกอะไรที่ชัดเจนในการให้แน่ใจว่า จะเป็นการป้องกันเหตุร้ายที่เกิดขึ้น ถึงเราจะขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาตรวจตราดูแลความปลอดภัยในตอนกลางวัน แต่นั่นเป็นแค่มาตรการเบื้องต้น เราต้องการให้เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานความมั่นคงจะต้องสอดส่อง สืบสวน ว่าใครเกี่ยวข้องหรือน่าจะเกี่ยวข้องกับการข่มขู่คุกคามที่เกิดขึ้น รวมไปถึงจะต้องรื้อฟืนคืนความยุติธรรมคดีสังหารนักปกป้องสิทธิ 4 ท่านที่ได้เสียชีวิตไปแล้วเพราะผู้กระทำผิดยังคงลอยนวลพ้นผิดอยู่ ในส่วนของหน่วยงานอื่น ๆที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่โดยตรงเช่นกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ยังมิได้จัดการปรึกษาหารือหรือแม้กระทั่งการพบปะกับนักปกป้องสิทธิฯที่มีความเสี่ยง เพราะการใช้มาตรการคุ้มครองแบบเดิมๆเช่นการคุ้มครองพยานที่ไม่มีประสิทธิภาพไม่สามารถให้การคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพและทำให้นักปกป้องสิทธิฯปลอดภัยได้จริงๆรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะพื้นที่นี้คือ กอ.รมน. ต้องเข้าใจการทำงานที่ชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิฯ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน