ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ สภาผู้แทนราษฎรจะมีวาระสำคัญพิจารณาพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท
พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 18 พ.ค. 2564 เดิมทีตั้งเป้าจะกู้มากถึง 700,000 ล้านบาท แต่ต่อมาเปลี่ยนใจกู้น้อยลงเหลือ 500,000 ล้านบาท
โดยเงินกู้ 500,000 ล้านบาท มีแผนการใช้งาน 3 ส่วนดังนี้
1.แผนงานหรือโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท ดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุง สถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
2.แผนงานหรือโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท ดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
3.แผนงานหรือโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท ดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน หรือโครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุน และการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
กระทรวงการคลัง รายงานเหตุผลความจำเป็นในการต้องกู้เงิน 500,000 ล้านบาทว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกยังมีความยืดเยื้อ อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค.2564 มีลักษณะการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) หลายจุด ทั้งในแหล่งที่พักอาศัย สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สาธารณะ และในชุมชนอย่างต่อเนื่องและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลพยายามจัดหาและกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ยังมีความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ของไวรัส จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันว่าจะสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการกระจายวัคซีนของหลายประเทศ เป็นอีกปัจจัยสาคัญที่ส่งผลต่อรายได้หลักของประเทศซึ่งมาจากภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารสภาพคล่องทางการคลังในกรณีที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลได้รับ รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับความเสียหาย และเตรียมการรองรับความเสียหายใหม่ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ โดยการเตรียมความพร้อมด้านการเงินล่วงหน้า เพื่อให้ทันต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวและยากต่อการแก้ไข
การกู้เงิน 500,000 ล้านบาทนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2564 ว่าจะอยู่ที่ 58.56% ยืนยันจะยังคงดำเนินการบริหารหนี้สาธารณะด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ภายหลัง พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ชี้แจงการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา อันเป็นเหตุผลในการออกพระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติมอีก 5 แสนล้านบาท
โดยเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เดิมทีแบ่งเป็น 3 ส่วน
1.แผนงานด้านการสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท
2.แผนงานด้านการเยียวยาประชาชน วงเงิน 550,000 ล้านบาท
3.การฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 400,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการโอนวงเงินกู้ส่วนที่ 2 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไปใช้ในการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติม ทำให้ต้องมีการแยกส่วนของวงเงินกู้ใหม่ เป็นดังนี้
1.ด้านการสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท
2.ด้านการเยียวยาประชาชน วงเงิน 685,000 ล้านบาท
3.การฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 270,000 ล้านบาท
ดนุชา เปิดเผยว่า สำหรับบการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้าน ช่วงที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติวงเงินไปแล้ว ดังนี้
1.ด้านการสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 25,825 ล้านบาท คงเหลือ 19,174 ล้านบาท
ส่วนที่เหลือนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอโครงการเข้ามาแล้ว โดยเป็นโครงการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา ปรับปรุงสถานพยาบาลต่างๆ ฯลฯ
2.ด้านการเยียวยาประชาชน วงเงิน 685,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 662,243 ล้านบาท มีทั้งโครงการเราไม่ทิ้งกัน การช่วยเหลือเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ในแต่ละรอบการเยียวยา ประชาชนได้รับการช่วยเหลือประมาณ 40 ล้านคน
3.การฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 270,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 125,000 ล้านบาท คงเหลือ 144,846 ล้าน
ส่วนที่เหลือที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ได้เห็นชอบในหลักการโครงการเยียวยาประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจจนถึงปลายปี จำนวน 4 โครงการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินส่วนนี้
“ดังนั้น วงเงินกู้ 1 ล้านล้าน มีแผนการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว อาจเหลืออยู่บ้างเล็กน้อยเท่านั้น ประเมินจากเงินที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว จะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์” เลขาธิการ สศช. กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับการชี้แจงต่อสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นผู้ชี้แจง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจงเพิ่มเติมด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง