ไม่พบผลการค้นหา
จับตามความเคลื่อนไหวของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ว่าจะเดินหน้ามาตรการอย่างไรต่อไปเพื่อลดแรงกระแทกผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยให้ได้มากที่สุด

สถานการณ์ของหุ้นในเอเชียวันนี้แสดงถึงสัญญาณบวกอย่างชัดเจน เมื่อหุ้นทั่วทั้งเอเชียปรับขึ้นทั้งกระดาน ต้อนรับข่าวดีในความชัดเจนของนโยบายทางการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ หลังคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน หรือ FOMC มีมติให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ 'เฟด' ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นมา พร้อมปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP จากเดิม 4% เหลือที่ 2.8%

นอกจากนั้น ความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อสันติและการ 'หยุดยิง' ในวิกฤตยูเครนและรัสเซียยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อความเคลื่อนไหวในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย โดยเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับ RBC News ถึงการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนว่ายังคงมีความหวังในการประนีประนอมกันในการเจรจา 

“(เรา)กำลังมีการพูดคุยอย่างจริงจังในประเด็นสถานะความเป็นกลาง พร้อมการรับประกันความปลอดภัย นี่คือสิ่งที่กำลังถูกพูดกันอยู่ในการเจรจา มันมีถ้อยคำที่ใช้อย่างเฉพาะเจาะจงอย่างยิ่ง และในความเห็นของผม ทั้งสองฝ่ายก็เกือบจะตกลงกันได้”

การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้คาดว่าจะเป็นเพียงครั้งแรกของปีนี้เท่านั้น เพราะในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบกว่า 4 ทศวรรษ จะต้องมีนโยบายการเงินในขั้นตอนต่อไปมารองรับ โดยคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน หรือ FOMC ภายใต้เฟดระบุว่าอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้นอีกทั้งหมด 6 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นครั้งละ 0.25% และอาจปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปี 2566 จนอัตราดอกเบี้ยแตะที่ระดับ 2.8%

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด แน่นอนว่าจะกระทบไปยังระบบการเงินทั้งโลก รวมถึง 'ไทย' อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 6 ครั้งในปีเดียว สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และไทยที่มากขึ้น สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินตลาดทุน กระทบไปยังสภาพคล่องในประเทศของไทย

ขณะเดียวกัน การที่ทั้งโลกมีการใช้เงินสกุลดอลลาร์มากกว่า 60% นั้นก็หมายความว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะได้รับผลกระทบด้วยทันทีเพราะการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ก็จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์นั้นปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ 

ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไม่ได้เกิดกับคนอเมริกัน แต่เกิดกับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย เนื่องจากเมื่ออัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ สูงขึ้น นักลงทุนทั่วโลกก็จะนำเงินลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีโอกาสและทางเลือกในการลงทุนมากกว่า 

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทยจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจาก TMB ระบุว่า "ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเปรียบเสมือนการเพิ่มต้นทุนของทั้งของผู้ประกอบการหรือนักลงทุนที่มีเงินต้นทุนในรูปดอลลาร์ จึงจะนำมาซึ่งความต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้นด้วย"

"แรงขายในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำและแรงซื้อสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำแต่ผลตอบแทนสูง (Repricing) จึงมักจะเกิดขึ้นไล่ไปเรื่อยๆ ในทุกตลาด ตั้งแต่ตลาดเงิน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น" 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีความแน่นอนว่ามาตรการทางการเงินของสหรัฐฯ จะช่วยบรรเทาสถานการณ์เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปีได้มากแค่ไหน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งของโลก และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ขณะที่ไทยก็ต้องจับตามความเคลื่อนไหวของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ว่าจะเดินหน้ามาตรการอย่างไรต่อไปเพื่อลดแรงกระแทกผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยให้ได้มากที่สุด