วันนี้ (4 เม.ย.67) นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 อภิปรายถึงการดำเนินงานนโยบายการต่างประเทศในด้านการทูตของรัฐบาล ยอมรับว่ารู้สึกเศร้าใจและผิดหวังในการดำเนินงานด้านการทูตของรัฐบาลชุดนี้ ที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยพูดว่ารัฐบาลมองไปข้างหน้า แต่การดำเนินนโยบายต่างประเทศยังไม่ก้าวข้ามสิ่งในอดีต และยังใช้นโยบายการต่างประเทศตั้งแต่สมัยสงครามเย็น
เมื่อดูคำแถลงนโยบายและนโยบายของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สะท้อนว่า 7 เดือนที่ผ่านมาถือเป็นการทูต 3 หลง “หลงผิด หลงทาง หลงตนเอง”
วันที่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตนเองพยายามจับคำแถลงนโยบายด้านการต่างประเทศ แต่กลับมองไม่เห็น พบว่าแอบ ๆ อยู่ในทุกส่วน เรียกได้ว่าเป็น “อีแอบนโยบายด้านการต่างประเทศ” ก็ รัฐบาลชุดนี้ยังมองไปข้างหลัง เนื่องจากนโยบายการต่างประเทศของนายเศรษฐา เน้นแต่เรื่องการค้า การลงทุน ความมั่นคง ซึ่งใช้มาแล้วกว่า 100 ปี โดยนโยบายการต่างประเทศที่จำเป็นในปี 2567 คือนโยบายจุดยืนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และการส่งเสริมสันติภาพ
นายกัณวีร์ กล่าวถึงคำแถลงนโยบายด้านการต่างประเทศต่อรัฐสภา ระบุว่าจะพัฒนาบริการทุกขั้นตอนเพื่อสร้างประตูสู่ประเทศไทย เศรษฐกิจการค้าชายแดน การสร้างเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ สนับสนุนตลาดทุนเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน เศรษฐกิจเชิงรุกเป็นเซลล์แมนไปเรื่อย ๆ แต่ทุกเรื่องแอบซ่อนอยู่ จึงมองไม่เห็นว่าเดินข้างหน้าไปอย่างไร
นายกัณวีร์ ขยายความการทูต 3 หลง
หลงแรกคือ 'หลงผิด (เวลา)' เมื่อวันที่ 20 พ.ย.66 นายปานปรีย์ เรียกเอกอัครราชทูต และกงสุลใหญ่ทั่วโลกมาประชุม มอบโอวาทแจ้งนโยบาย บอกว่าต่อไปประเทศไทยต้องดำเนินนโยบายดังนี้ “นโยบายต่างประเทศเป็นส่วนต่อขยายของนโยบายภายในประเทศ” ซึ่งชาร์ล เดอ โกล ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เคยพูดไว้ตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว ท่านบอกว่าประเทศไทยอยู่แค่ตรงกลาง เรามองไปที่การทูตเชิงรุก มองไปข้างหน้า แต่ไม่ยอมมองว่าข้างนอกเป็นอย่างไร
'หลงทาง' การกลัดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาดมองว่านโยบายภายในประเทศต้องออกไปข้างนอก จึงสร้างบันได 5 ขั้นของการทูตปานปรีย์ ประกอบด้วยเชิงรุกมองไปข้างหน้าแต่แท้ที่จริงยังย่ำอยู่ข้างหลัง, ตอบสนองผลประโยชน์ภายใน, มีเกียรติภูมิที่มีความหมาย, บทบาทโดดเด่นยกระดับเศรษฐกิจและตอบสนองผลประโยชน์ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่ยังไม่พอ เพราะรัฐบาลเศรษฐา มองจากวงแคบไปสู่วงกว้าง เน้นแต่เรื่องการค้า การลงทุน ตอบโจทย์ไม่ได้
'หลงตนเอง' ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง เรียกว่าการทูตเน้นตนเองพื้นที่ปลอดภัย (Self-Focused Diplomacy) เน้นแต่ความมั่นคงของตนเอง มองแค่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน เราจะขายของอย่างไร เดินไปประเทศอื่นแล้วจะขายของได้เท่าไร เราจำเป็นต้องมองนโยบายการต่างประเทศที่ถูกต้อง ทั้งการทูตสาธารณะ และการทูตสองด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการ ทั้งยังต้องมองความคาดหวังของเวทีระหว่างประเทศว่าต้องการอะไร
นายกัณวีร์ กล่าวถึงการทูตสาธารณะที่จะต้องมีส่วนร่วมจากประชาชน ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในเวทีระหว่างประเทศ พร้อมแสดง 5 ข้อสันนิษฐานต่อนโยบายการต่างประเทศนายปานปรีย์ ที่ยังเป็นอนุรักษ์นิยมกระแสหลัก เกลียดกลัวคนที่ไม่ใช่คนไทย (Xenophobia) เอนเอียงเข้าหาประเทศมหาอำนาจตลอดเวลา มุ่งเน้นแต่การค้าการลงทุน ใช้จุดยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด เพราะมองความสัมพันธ์ทุกอย่างเป็น Win-Win Solution ทุกความสัมพันธ์ต้องได้อะไรบางอย่าง แต่สุดท้ายกลายเป็น Zero Sum Game
ขอตัดเกรดรัฐบาลให้สอบตกทุกเรื่อง ระยะเวลาเดือนกว่าที่ผ่านมา นายกฯ เดินทางไปประเทศจีน เป็นเซลล์แมน ขอให้พิจารณาโครงการแลนด์บริดจ์ให้อยู่ใน BRI หรือเส้นทางสายไหม ซึ่งเส้นทางดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเวทีระหว่างประเทศ มีปัญหาตั้งแต่เรื่องเงินกู้ ทำถนนโรงไฟฟ้า ท่าเรือ สะพาน รางรถไฟอินเตอร์เน็ต 5G Fibre Optic และการวางท่อก๊าซ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาด้านการทูตแบบขุดหลุมติดกับดักด้วยหนี้ เกิดการคอรัปชั่น การแทรกแซงภายในประเทศ เงินกู้ดอกเบี้ยสูง และการสูญเสียอธิปไตยอำนาจทางเศรษฐกิจในประเทศ
เรามี "ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ไม่ถึงใจ ร่วมกันกดปราบผู้ลี้ภัยข้ามชาติดีกว่า" เรามีผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศ ซึ่งได้รับความคุ้มครองจากองค์การสหประชาชาติ ซึ่งกำลังจะเดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม แต่ปลายปีที่แล้วมีการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มีการจับกุมนักกิจกรรมชาวกัมพูชาที่อยู่ในไทย บอกกี่ครั้งแล้วว่าอย่าจับเขา
วีซ่าฟรีฉ่ำ ค้ามนุษย์ก็ฉ่ำ คนจีนได้ฟรีฉ่ำเข้ามาที่ประเทศไทย แล้วนั่งเครื่องบินไป อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แต่พอไปถึงหายไปที่ KK Place และชเวโก๊กโก่ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร ด่านต่าง ๆ ก็มี แต่คนจีนหายไป
การทูตลู่ลม ไร้ราก จนปลิวไม่มีจุดยืน ประเทศไทยชอบอยู่กับสถานการณ์ที่รู้สึกว่าตนเองอยู่นิ่ง ๆ ดีกว่า มีลมมาตรงไหนก็เอนไปตรงไหน ยึดหลักการทูตสมดุล แต่แท้ที่จริงรัฐบาลเลือกข้างตลอดเวลา โดยยกตัวอย่างสถานการณ์อิสราเอล นายกรัฐมนตรีประณามเหตุโจมตีที่อิสราเอล การพูดเช่นนี้หรือที่เรียกว่าไม่เอนเอียง ไทยต้องเปลี่ยนเป็นการแทรกแซงแบบสร้างสรรค์ จะทำให้ประเทศไทยมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศ สามารถยืนอย่างเปิดเผยไม่อายใคร
สันติภาพที่เป็นสากลของปาตานี ในนโยบายการต่างประเทศที่ได้ยินจากนายเศรษฐา บอกว่าจะเป็นผู้นำร่วมสร้างเสรีภาพโลก เสรีภาพในประเทศยังไม่มี ยังไม่กล้าสร้างสันติภาพให้เป็นสากล หน่วยงานความมั่นคงมักเลือกใช้คำว่า “สันติสุข” แทนคำว่า “สันติภาพ” หากตนเองเป็นรัฐบาลจะเสนอการคุ้มครองพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้อง เพื่อเอาประชาชนมาเป็นศูนย์กลางในการแก้ปัญหา ขออย่าเกรงกลัวต่อการสร้างเสรีภาพ
แค่หวังดีก็ยังไม่พอต่อสถานการณ์เมียนมา ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลรู้จักคำว่ามนุษยธรรมหรือไม่ ไม่ใช่การกุศล หรือการเอาของไปให้ แบบนั้นเรียกว่าการสร้างความพึ่งพา รัฐบาลต้องวิเคราะห์ว่าผู้ได้รับผลกระทบต้องการอะไร รัฐบาลหวังดีประสงค์ดี แต่ผลเลวร้าย รัฐบาลจึงต้องเข้าใจความหมายของมนุษยธรรมก่อน
นายกัณวีร์ กล่าวว่าหากรัฐบาลอยากมีจุดยืนทางการทูตอย่างสง่าผ่าเผย ต้องแสดงจุดยืนในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา มองให้กว้างใช้ ทุกองคาพยพในการแก้ปัญหา ไม่ควรยืนหยัดในหลักการไม่แทรกแซง ของอาเซียน เราต้องแสดงจุดยืนเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหา การสร้าง Safety Zone ในประเทศเมียนมาโดยใช้กลไกทางทหาร ห้ามปฏิบัติการทางอาหารทั้งบนอากาศและพื้นดินทั้งหมดตนเองเคยพูดไปในสภาฯ 3-4 ครั้ง แต่ทำไม่ได้ ส่วนเรื่องระเบียงมนุษยธรรมถือว่าเริ่มต้นดีแล้ว แต่ต้องทำอย่างถูกต้อง ยึดหลักมนุษยธรรม มองเห็นความต้องการของคนเป็นหลักไม่เอนเอียง เป็นกลางมีอิสรภาพในการทำงาน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลทำงานด้านมนุษยธรรมโดยไม่ใช่การกุศล
ทั้งยังต้องจับมือกับประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา 5 ประเทศ เพื่อสร้างระเบียงมนุษยธรรม และประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น หากทำแล้วท่านจะดูเด่น ดูดี ดูสวย ดูหล่อ พร้อมย้ำว่าการทูตไม่ใช่แค่เรื่องของชนชั้นนำ แต่ต้องมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกคนด้วย