ไม่พบผลการค้นหา
พ.ค.67 สว.แต่งตั้งจะพ้นวาระ รับ ‘ทุนเลี้ยงชีพ’ เป็นรายเดือนต่อ 9,000-35,600 บาท ตามแต่อายุงาน

‘ทุนเลี้ยงชีพ’ เป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งของ ‘กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา’ ซึ่งครอบคลุมทั้ง สว.และ สส. ซึ่งจะต้องหักไม่เกิน 5% ของเงินประจำตำแหน่งเข้ากองทุนทุกเดือนระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง แล้วจากนั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ (ดังจะกล่าวต่อไป)

ทุนเลี้ยงชีพ จะให้เป็นรายเดือนครอบคลุมระยะเวลา 2 เท่าของเวลาที่ดำรงตำแหน่งมาทั้งหมดไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ ใครจะได้เท่าไรคำนวณดังนี้

  • เคยดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 เดือน แต่ไม่ถึง 2 ปี จะได้ทุนเลี้ยงชีพ 9,000 บาท
  • เคยดำรงตำแหน่ง 4 ปี แต่ไม่ถึง 8 ปี จะได้ 12,000 บาท
  • เคยดำรงตำแหน่ง 8 ปี แต่ไม่ถึง 12 ปี จะได้ 14,300 บาท
  • เคยดำรงตำแหน่ง 12 ปี แต่ไม่ถึง 16 ปี จะได้ 17,800 บาท
  • เคยดำรงตำแหน่ง 16 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี จะได้ 21,400 บาท

ไล่ไปเรื่อยๆ จนสุดที่ 35,600 บาท

เหตุที่กล่าวถึง สว.แต่งตั้ง 250 คนเป็นการเฉพาะ เนื่องจากเป็น ‘สว.พิเศษ’ ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง ถือกำเนิดโดยรัฐธรรมนูญ 2560 โดยไม่ได้ผ่าน ‘การเลือกตั้ง’ แต่ผ่านช่องทางดังนี้

1. กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งกันเองจาก 10 กลุ่มอาชีพ ให้ได้ 200 คน

2. คสช.ตั้งคณะกรรมการสรรหา 12 คน เลือกมาอีก 400 คน

3. คสช.เลือกคนใน 10 กลุ่มอาชีพ ให้เหลือ 50 คน (คัดทิ้ง 150 คน)

4. คสช.เลือกต่อจากกรรมการสรรหา ให้เหลือ 194 คน (คัดทิ้ง 206 คน)

5. มี 6 คนที่เป็น สว.ได้เลยโดยตำแหน่ง คือ ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร. และปลัดกลาโหม

ผลลัพธ์ออกมาปรากฏว่า 250 สว. แบ่งเป็น พลเรือน 58% ทหารและตำรวจ 42%

เฉพาะ 10 กลุ่มอาชีพที่ต้องเลือกกันเองเฟ้นหาตัวแทนมาเป็น สว.นั้น กกต.เคยเปิดเผยว่า หมดค่าใช้จ่ายในการเลือกส่วนนี้ไปทั้งสิ้น 486 ล้านเศษ

ส่วนที่ คสช.คัดเลือก ไม่มีรายงานค่าใช้จ่าย คาดว่าเป็นเพราะ คสช.มีเพียงไม่กี่คนในการหารือ และสามารถจิ้มเลือกได้จากรายชื่อในกระดาษ หรือ excel


รายได้ สว.

สว.ผู้ทรงเกียรติ ทั้ง 250 คน ได้เงินเดือนคนละ 113,560 บาท

+มีสิทธิตั้งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวได้ 1 คน เงินเดือน 24,000 บาท

+มีสิทธิตั้งผู้ชำนาญการประจำตัวได้ 2 คน เงินเดือนคนละ 15,000 บาท

+ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวได้ 5 คน เงินเดือนคนละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ เงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ สว.และสส.นั้นคล้ายคลึงกัน


เบี้ยประชุม
  • เบี้ยประชุมกรรมาธิการ 1,500 บาทต่อครั้ง
  • เบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการ 800 บาทต่อครั้ง

(วันหนึ่งเบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)


ไปราชการ : (ต่อคน ต่อวัน)

ในประเทศ - ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 270 บาท / ค่าเดินทางตามจริง เครื่องบินชั้นธุรกิจ / ค่าที่พักตามจริงไม่เกิน 2,500 (เหมาจ่าย 1,200)

ต่างประเทศ - ค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 3,100 บาท / ที่พักไม่เกิน 12,500 บาท (ขึ้นอยู่กับประเทศที่ไป) / ค่าเดินทางตามจริง / ค่าเครื่องแต่งตัว เหมาจ่าย 9,000 บาท / ค่ารับรอง ไม่เกิน 67,000 บาท (หากไปไม่เกิน 2 สัปดาห์) 


กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา

สมาชิกรัฐสภาคือ สส. และ สว. ต้องส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือน ไม่เกิน 5% ของเงินประจำตำแหน่ง เมื่อสิ้นสมาชิกภาพจะได้รับการดูแลหลายอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 เท่าของเวลาที่ดำรงตำแหน่ง แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ผู้ถูกถอดถอนหรือต้องห้ามมิให้ตำแหน่งทางการเมือง

การดูแลจากกองทุนมีหลายเรื่อง คือ

1. 'ทุนเลี้ยงชีพ' เป็นรายเดือน ดังที่กล่าวไปข้างต้น

2. ค่ารักษาพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ผู้ป่วยใน 50,000 บาท/ปี ผู้ป่วยนอก 30,000 บาท/ปี

3. ค่าเล่าเรียนบุตร ประถม-ปริญญาตรี ทั้งรัฐและเอกชน ไม่เกินที่กรมบัญชีกลางกำหนด

4. ทุพพลภาพ ได้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/เดือน

5. ถึงแก่กรรม ได้เงินช่วยเหลือ 100,000 บาท / พวงหรีด 1,000 บาท

 

ที่มาข้อมูล

  • LIRT : คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร