ไม่พบผลการค้นหา
มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวการใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ รองรับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ พร้อมรับมอบ Hapybot หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะ ผู้ช่วยแพทย์เดินเร็วเทียบเท่ามนุษย์ไม่ต้องมีคนควบคุม

มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และบริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าว “ความสำคัญของเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์ทางการแพทย์ และนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการสนับสนุนการใช้ Robot ในสถานการณ์ปัจจุบัน” ณ ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล  

โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว และ นายพิชิต วิวัฒน์รุจิราพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในโอกาสนี้ ได้มีพิธีรับมอบหุ่นยนต์ Hapybot หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัจฉริยะผู้ช่วยแพทย์ จำนวน 3 ตัว เพื่อนำไปใช้งานจริงภายในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล 3 แห่ง คือ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มียุทธศาสตร์สำคัญหลายประการที่จะช่วยขับเคลื่อนและร่วมพัฒนาประเทศ พร้อมที่จะนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อเกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid-19 รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนในการต่อยอดผลงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหา ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีงานล้นมือ ต้องปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์มีส่วนช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก จึงถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ เพื่อช่วยลดการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ สามารถใช้ในการติดตามคนไข้บนหอผู้ป่วย ใช้ในการดูแลและการพยาบาล ใช้ขนส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ยา สิ่งเหล่านี้ คือ เหตุผลความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนของการที่ต้องนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยงานมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง และช่วยแบ่งเบาภารกิจของบุคลากร

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการพัฒนาหุ่นยนต์หลายตัว โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการทดลองใช้พบว่ามีประสิทธิภาพสูง แต่เนื่องจาก มหาวิทยาลัยมีโรงพยาบาลในสังกัดหลายแห่ง การได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน จึงถือเป็นความร่วมมือช่วยเหลือการปฏิบัติงานของทีมบุคลากรทางการแพทย์อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาพยาบาลและสร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ต่อไป