ไม่พบผลการค้นหา
ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ฮอดเคลื่อนไหวทวงคำตอบ “นายกนิด”หลังทำหนังสือค้านโครงการผันน้ำยวมแต่ไร้คำชี้แจงใดๆ จวกกรมชลประทานคิดเองเออเองแต่คนฮอดกำลังจะเดือดร้อน ที่ปรึกษา รมว.เกษตรนัดทุกฝ่ายร่วมถก 19 ธ.ค.นี้
ผันน้ำยวมผันน้ำยวม

17 ธ.ค.2566 บุญเลิศ พรมผัด กำนันตำบลนาหาง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอ.ฮอด เปิดเผยว่าขณะนี้มีความกังวลเกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม (โครงการผันน้ำยวม) ของกรมชลประทาน ที่ก่อนหน้านี้ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา สมาชิกชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อ.ฮฮด ได้ร่วมกันลงนามจดหมาย เรื่อง ขอแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล โดยขอให้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และยุติการดำเนินการทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง ส่งถึงนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในเดือนกันยายน 2566 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ก็ได้ทำจดหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด 


ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ฮอด กล่าวว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่จะมากกว่าที่ระบุในรายงานนอีไอเออย่างแน่นอน คนในอำเภอฮออดจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่จะเป็นผู้ที่เดือดร้อน อยากให้กรมชลประทานรับฟังความเห็นของประชน ไม่ใช่คิดเอาเอง หน่วยงานเขาเคยมาประชุมที่ อ.ดอยเต่า เราใช้พื้นที่นี้รอบๆ ทะเลสาบแม่ปิงทำมาหากิน เมื่อก่อนเป็นแม่น้ำปิง เขามาสร้างเขื่อน มาเวนคืนที่ดินสมัยรุ่นปู่ย่าตายาย เขาไม่มาดูแลเลยว่าประชาชนมีความเป็นอยู่อย่างไร 


“ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนได้พยายามส่งเอกสาร ส่งจดหมาย ทวงถามไปถึงนายกฯและหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่ก็ไม่เคยคำตอบใดๆ เลย การจัดประชาพิจารณ์กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบก็ไม่มี มีแค่นัดผู้นำชุมชนไปประชุมไกลๆ ที่เขื่อนภูมิพล ที่ อ.แม่สะเรียง ทั้งๆ ที่อุโมงค์ผันน้ำจะผ่าน อ.อมก๋อย และมาออกที่บ้านเรา อ.ฮอด” กำนันกล่าว


ทั้งนี้ในเดือนมีนาคม 2566 สมาชิกชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อ.ฮฮด รวม 62 คน ได้ร่วมกันลงนามจดหมาย เรื่องขอแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยชมรมฯ ซึ่งเป็นผู้นำทางการของประชาชนในพื้นที่มีความเห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 6 ปีที่ผ่านมา ได้มีการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการผันน้ำยวมข้ามลุ่มน้ำดังกล่าวตลอดมา เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ พร้อมทั้งขอให้มีการทบทวนราย EIA และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ให้มีการศึกษาที่ครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ และจะเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า 


ชมรมฯ มีความกังวลในหลายประเด็นสำคัญ ได้แก่ กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจน และความเห็นต่างๆ ของผู้ได้รับผลกระทบที่ได้เสนอไปกลับไม่ได้รับการพิจารณาไว้ในรายงานอีไอเอ พบว่ากระบวนการจัดทำและเนื้อหาในรายงานอีไอเอ ผิดพลาดจากข้อเท็จจริง ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความโปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยะสำคัญ การเก็บข้อมูลหลายครั้งเป็นเพียงการพบในเวลาสั้นๆ ไม่ได้มีลักษณะของการประชุมเพื่อจัดทำข้อมูลหรือข้อคิดเห็นตามมาตรฐานของกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเมื่อรายงานอีไอเอมีช่องโหว่ หรือข้อบกพร่องสำคัญในลักษณะดังกล่าว ย่อมไม่สมควรที่จะใช้เป็นฐานในการตัดสินใจผลักดันโครงการที่มีมูลค่างบประมาณสูงถึงเกือบสองแสนล้านบาท


รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ จะจัดประชุมรับฟังความเห็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก โดยมี ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และจะมีกรมชลประทานให้ข้อมูลโครงการและให้ความเห็นโดยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และประชาชนจากพื้นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อ.อมก๋อย และ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่