The New York Times เผยแพร่บทความโดย 'ดร.อิริก คลิเนนเบิร์ก' นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันซึ่งเป็นที่รู้จักในงานด้านสังคมวิทยาสาธารณะระบุว่า แม้มาตรการเว้นระยะทางสังคม ดูจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการชะลอการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่แน่นอนว่านี่เป็นยุทธศาสตร์ที่มีราคาที่ต้องจ่าย การปิดพื้นที่และสถาบันที่ใช้ร่วมกัน ครอบคลุมถึงโรงเรียนและสำนักงานต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อครอบครัวในเรื่องการดูแลลูก ค่าจ้าง และการสนับสนุนทางสังคม ส่วนที่มากกว่านั้นก็คือมาตรการนี้ไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองผู้สูงอายุ คนป่วย คนไร้บ้านและคนที่โดดเดี่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดต่อการระบาดของไวรัส โดยพวกเขาต้องการการดูแลและความสนใจที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่การถูกสังคมหันหลังให้
คลิเนนเบิร์กระบุว่า เขาได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้มาโดยตรงระหว่างการศึกษาวิกฤตคลื่นความร้อนรุนแรงในชิคาโกเมื่อปี 2538 ในครั้งนั้นก็เหมือนกับภัยพิบัติหลายเหตุการณ์อื่นๆ ในอเมริกา ที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ และความสัมพันธ์ต่างๆ ทางสังคมสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างชีวิตและความตาย
โดยในนครชิคาโก ภาวะโดดเดี่ยวในหมู่คนสูงอายุที่ยากจนไปจนถึงย่านชุมชนที่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติและถูกทิ้งร้าง ทำให้วิกฤตคลื่นความร้อนครั้งนั้นอันตรายถึงชีวิตมากกว่าที่ควรจะเป็น มีผู้เสียชีวิตถึง 739 คน ระหว่างหนึ่งสัปดาห์แห่งความเลวร้ายในเดือนกรกฎาคมปีนั้น ซึ่งคลิเนนเบิร์กชี้ว่า ในวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพ รัฐบาลที่ดีจะสามารถบรรเทาความเสียหายด้วยการสื่อสารที่ชัดเจนและจริงใจกับสาธารณชน รวมถึงจัดหาบริการและการสนับสนุนเป็นพิเศษให้กับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ แต่ว่าในเหตุการณ์คลื่นความร้อนเมืองชิคาโก นายกเทศมนตรีขณะนั้นให้ความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์มากกว่าเรื่องสาธารณสุข โดยละเลยที่จะออกภาวะฉุกเฉินอย่างเป็นทางการหรือการเรียกเจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉินเพิ่มเติมจนกระทั่งสายไป นอกจากนี้ เขายังท้าทายรายงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งระบุว่าคนหลายร้อยคนกำลังจะตายเพราะความร้อน โดยในระหว่างการแถลงข่าวนายกเทศมนตรีชิคาโกยืนยันว่ารัฐบาลของเขากำลังทำทุกอย่างที่เป็นไปได้ ขณะที่คณะกรรมการด้านสุขภาพของเขาโทษคนที่เสียชีวิตว่าเป็นเพราะไม่ดูแลตัวเอง
นอกจาก Social Distancing เรายังต้องการ Social Solidarity
เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ ผู้เขียนบทความดังกล่าวมองว่าในการรอดจากภัยพิบัติและการระบาดครั้งใหญ่ต่างๆ นอกเหนือไปจาก Social Distancing แล้ว สิ่งที่ยังจำเป็นคือ Social Solidarity หรือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม หรือการพึ่งพากันระหว่างบุคคลและกลุ่มต่างๆ โดยชี้ว่านี่เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาดและภัยคุกคามอื่นๆ เพราะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะกระตุ้นให้เราส่งเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ของส่วนรวมให้ดี ไม่ใช่เพียงแค่ความมั่นคงส่วนตัวเท่านั้น เช่นเดียวกับที่จะยั้งเราไม่ให้กักตุนยารักษาโรคหรือส่งลูกที่กำลังป่วยไปโรงเรียน แต่สิ่งนี้จะบังคับให้เรายอมให้เรือลำหนึ่งที่มีผู้โดยสารติดค้างอยู่สามารถเข้าจอดในท่าเรือที่ปลอดภัยของเราได้ ไปจนถึงเดินไปเคาะประตูบ้านของเพื่อนบ้านสูงวัย
ขณะเดียวกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของสังคมยังนำไปสู่นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตที่ดีประชาชน แม้ว่าจะมีบางคนต้องรับค่าใช้จ่ายมากขึ้น เช่นการลาป่วยโดยที่ยังได้รับค่าจ้าง เมื่อรัฐบาลต่างๆ รับรองสิ่งนี้ (อย่างเช่นที่ประเทศประชาธิปไตยซึ่งพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ทำ) ก็อาจจะเป็นภาระสำหรับนายจ้างและธุรกิจ ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีการรับรองเรื่องการลาป่วยโดยยังได้รับค่าจ้าง ส่งผลให้แรงงานอเมริกันค่าแรงต่ำจำนวนมากยังต้องทำงานเมื่อพวกเขาจะกำลังเจ็บไข้ด้วยโรคที่ติดต่อกันได้ก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแม้แต่ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร
บทความนี้ตั้งคำถามปลายเปิดว่าสังคมอเมริกันมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพียงพอที่จะขจัดความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดของโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 หรือไม่ หากมองจากบริบทสังคมปัจจุบันที่แบ่งแยกทางการเมืองและสังคม ไปจนถึงการสงสัยต่อข้อเท็จจริงพื้นฐานและแหล่งข่าวของกันและกัน ขณะที่รัฐบาลกลางก็ล้มเหลวในการเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตนี้ โดยผู้เขียนระบุว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และทีมงานได้ปกปิดซ้ำๆ เกี่ยวกับอันตรายที่เพิ่มขึ้นต่อสุขภาพและความมั่นคงของประชาชน ปัญหาความไม่เชื่อใจและความสับสนจึงมีอยู่อย่างมาก ด้วยบริบทแบบนี้ส่งผลให้ประชาชนใช้มาตรการแรงสุดในการปกป้องตัวเองและครอบครัว ความห่วงใยต่อประโยชน์ส่วนรวมจึงลดลง
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความหวังว่าวิกฤตการณ์ต่างๆ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับรัฐต่างๆ และสังคม การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ทำให้สังคมอเมริกันได้ค้นพบใหม่ถึงตัวตนในมิติกลุ่มที่ดีขึ้นของตัวเอง โดยบทความนี้ของ The New York Times ได้เสนอว่าจากแนวโน้มที่ประชาชนอเมริกาไม่น่าจะได้รับภาวะการนำที่ดีขึ้นจากรัฐบาลทรัมป์ แต่ก็มีหลายอย่างที่ชาวอเมริกันสามารถทำได้เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนารายชื่ออาสาสมัครท้องถิ่นที่สามารถติดต่อกับเพื่อนบ้านที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ให้ความเป็นมิตรไมตรีกับพวกเขา ช่วยเหลือพวกเขาในการสั่งอาหารและยา รวมถึงเกณฑ์คนรุ่นใหม่และนักศึกษามหาวิทยาลัยมาช่วยสอนเรื่องทักษะการสื่อสารบนโลกดิจิตอลแก่คนสูงวัยที่อยู่ห่างไกลจากญาติพี่น้อง ส่งของชำให้กับคนที่อ่อนแอหรือกังวลในการออกไปซื้อ หรือโทรหาสถานพักพิงหรือครัวสำหรับคนไร้บ้านที่ใกล้ที่สุดเพื่อสอบถามว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง เป็นต้น