ไม่พบผลการค้นหา
พลเอกประยุทธ์ ยืนยันรัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ทั้งกลุ่มหนี้ในระบบและนอกระบบ รวมถึงกลุ่มครูที่เป็นหนี้ช.พ.ค. เพื่อลดภาระประชาชน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า แม้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศจะดีขึ้น แต่ปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือน ในประเทศไทย ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 นั้น ยังถือว่าทรงตัว จากช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ตัวเลขสัดส่วนมูลค่าหนี้ครัวเรือน เมื่อเทียบกับ GDP หรือ รายได้รวมของประเทศ จะลดมาเพียงเล็กน้อย จากร้อยละ 78 เหลือร้อยละ 77.6 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับต่างประเทศ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของพี่น้องประชาชนนั้น ยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก เพราะสัดส่วนหนี้เสียยังไม่ปรับตัวลดลง ภาครัฐเองมีความห่วงใย ถือเป็นภาระในการดำรงชีวิตของประชาชน

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามประเด็นนี้ อย่างใกล้ชิดและได้เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มที่เป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินและ หนี้นอกระบบ ที่เป็นภาระและส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างมาก ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้น รัฐบาลและ คสช. ได้เร่งดำเนินการอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ได้จัดสร้างกลไกการทำงานแบบบูรณาการของ กอ.รมน. - ตำรวจ - ทหาร และส่วนราชการในพื้นที่ลงไปเพื่อจะลงไปช่วยแก้ไขปัญหา ให้ตรงจุดมากขึ้น 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับด้านหนี้ในระบบธนาคารปัจจุบันนั้น ภาครัฐมีโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย ที่มีปัญหาหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน จนกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ภายใน 90 วัน และเป็นหนี้เสียอยู่กับธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป สามารถมาขอรับความช่วยเหลือในการประนอมหนี้ เพื่อดูแลปัญหาให้ได้ข้อยุติในคราวเดียวได้ 

นอกจากนี้โครงการคลินิกแก้หนี้ดังกล่าวที่จะช่วยบรรเทาปัญหาภาระหนี้ของพี่น้องประชาชนทั่วไป รัฐบาลยังพยายามที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ของผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะอีกด้วย อาทิ หนี้ในกลุ่มครู ที่เป็นบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และ การปฏิรูปการศึกษา เพื่อจะลดความกังวล และภาระ ในการดำรงชีวิต เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีครูเป็นหนี้ ทั้งในและนอกระบบ และมีมูลค่าหนี้อยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งเป็นหนี้สิน ของโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่มีผู้กู้อยู่กว่า 5 แสนราย คิดเป็นเงินกว่า 4 แสนล้านบาท โดยเป็นหนี้เสีย มากกว่า 5,000 ล้านบาท

โดยรัฐบาลได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ และแบ่งเบาภาระ ให้กับครูที่มีหนี้ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการลดภาระหนี้ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2559 โดยการให้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 เพื่อนำไปชำระหนี้ โครงการ ช.พ.ค. เดิม และเพื่อนำไปชำระดอกเบี้ยเงินกู้รายเดือน แต่ยังมีผู้มาร่วมโครงการไม่มากนัก 

ในปี 2560 ที่ผ่านมา ก็มีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ให้โอกาสลูกหนี้ ที่มีปัญหาผ่อนชำระจนกลายเป็นหนี้เสีย สามารถผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ แล้วก็พักชำระเงินต้น ไม่เกิน 3 ปี แต่ยังชำระดอกเบี้ย บางส่วน หรือเต็มจำนวน เพื่อให้สามารถกลับมาเป็นหนี้ปกติได้ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ให้ธนาคารออมสิน นำเงินสนับสนุนที่เคยได้รับจากโครงการ ช.พ.ค. ไปช่วยลดอัตราดอกเบี้ย ให้แก่ผู้กู้ที่มีวินัยดี ไม่มีหนี้ค้างชำระ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงจากเดิม ร้อยละ 0.5 - 1.0 คิดเป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท ด้วย