ไม่พบผลการค้นหา
ทฤษฎีรัฐประหารการเมืองไทย ต้องมี "พรรคทหาร" บวก "คนนอก" นั่งเก้าอี้นายกฯ ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งที่เพิ่งเกิด เมื่อ "ผู้นำรัฐประหาร" ฉีกตำราปฏิวัติลงเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

ย้อนไป 2 เหตุการณ์รัฐประหารก่อนรัฐประหารเมื่อปี 2557 ผู้นำคณะรัฐประหารที่เป็นรุ่นพี่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ที่มีพรรคการเมืองหนุนหลังและผลักดันจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีเพียง 1 คนเท่านั้น

คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ซึ่งมีตำแหน่งรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มาจากการยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534

โดยผ่านการสนับสนุนของ "พรรคสามัคคีธรรม" ซึ่งได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมาเป็นที่ 1 ของประเทศจำนวน 79 เสียง ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 หรือศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 1 ของปี 2535


samakkee tled.jpg


"บิ๊กสุ" มีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและ รสช. ถูกเชิญให้มานั่งในตำแหน่งนายกฯ แทน "ณรงค์ วงศ์วรรณ" หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ซึ่งถูกทางการสหรัฐฯปฏิเสธการให้วีซ่าเข้าสหรัฐฯ เพราะใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด

เมื่อดูประวัติ "พรรคสามัคคีธรรม" พบว่าได้รับการจดแจ้งเป็นพรรคการเมือง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2535 มี "ณรงค์"เป็นหัวหน้าพรรค และมี น.อ.ฐิติ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค

"มุ่งมั่นจะเสริมสร้างประชาธิปไตย ในทางปฏิบัติให้หยั่งรากไปสู่วิถีชีวิตของประชาชน โดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้ก้าวเข้าสู่ระบอบที่เข็มแข็ง"

เป็นคำประกาศนโยบายพรรคการเมืองของ "สามัคคีธรรม" เมื่อครั้งจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง

จุดจบของ "พรรคสามัคคีธรรม"ต้องปิดฉากลงไปพร้อมกับ "บิ๊กสุ"ที่ต้องก้าวลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในระยะเวลาอันสั้นเพียง 1 เดือนเท่านั้น หรือ 47 วัน (7 เมษายน 2535 - 24 พฤษภาคม 2535) หลังพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม คัดค้านอย่างหนัก กับวาทะ "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ของ "พล.อ.สุจินดา" และไม่ต้องการคนนอกที่ไม่ใช่ ส.ส.มาเป็นนายกฯ

บานปลายจนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 และเป็นการลงสนามการเลือกตั้งเป็นครั้งเดียวและหนสุดท้ายของ "พรรคสามัคคีธรรม"

เพราะหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 แกนนำพรรคสามัคคีธรรมหลายคนต้องลาออกจากคณะกรรมการบริหารพรรค 

ขณะที่ชื่อ "พรรคสามัคคีธรรม" ต้องเปลี่ยนแบรนด์เป็นชื่อ "พรรคเทิดไท" เมื่อก่อนมีการเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2535 

ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 คือจุดจบพรรคสามัคคีธรรม แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการปิดฉากนายกฯคนนอกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

การเลือกตั้งทุกครั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

ประเทศไทยมีนายกฯ ที่มาจาก ส.ส.ถึง 8 คน

และมีคนนอกที่ไม่ใช่ ส.ส.ถึง 2 คน คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

บันทึกอีกหน้าของประวัติศาสตร์การเมืองและรัฐประหารในไทย

เมื่อผู้นำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค) และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น)


000_Hkg312979.jpg

ตัดสินใจชิมลางสนามการเมืองอย่างเป็นทางการเมืองครั้งแรกในชีวิตในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 

ซึ่งเป็นการลงเลือกตั้งหลังผ่านเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2549

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ไร้ชื่อ "พล.อ.สนธิ"

แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 "พล.อ.สนธิ" ตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต เป็นผู้นำรัฐประหารที่ลงเลือกตั้งในนาม "พรรคมาตุภูมิ"

พล.อ.สนธิ ใช้ชีวิตหลังพ้นชีวิตราชการทหาร หลังเกษียณอายุราชการ จนสำเร็จการศึกษาปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งเรียนหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 1 ของสำนักงาน กกต.เมื่อปี 2552

อดีตประธาน คมช. ผู้นำรัฐประหาร ยอมฉีกตำราหลักสูตร "ยึดอำนาจ"ของรุ่นพี่รัฐประหาร สลัดภาพผู้นำปฏิวัติยึดอำนาจในอดีต

ยอมหันหลังให้กับวงจรรัฐประหาร เปิดหน้าเต็มตัว โดยก้าวเข้าสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ


matupum itled.png

"รักมาตุภูมิ เทิดทูนคุณธรรม" คือ สโลแกนของพรรคมาตุภูมิ

พล.อ.สนธิ ใช้เวลาในการเลือกตั้งเพียง 1 สมัย ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 ได้รับคะแนนเสียงทั่วประเทศ 251,674 คะแนน

ส่งผลให้ "พรรคมาตุภูมิ" ได้ ส.ส. 2 ที่นั่ง คือ พล.อ.สนธิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี

แม้ พล.อ.สนธิ จะก้าวเข้าสู่ "สภาผู้แทนราษฎร"เป็นครั้งแรกในชีวิต แต่ผู้นำยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องยอมนั่งในสภาฯในซีกของฝ่ายค้าน

การเป็นฝ่ายค้านของ "พรรคมาตุภูมิ" สร้างความประหลาดใจเมื่อครั้งการมีการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2556


000_Hkg5055740.jpg

28 พฤศจิกายน 2556 พล.อ.สนธิ พร้อม ส.ส.ในสังกัด รวม 2 เสียง แหกคอกฝ่ายค้าน ลงมติสนับสนุนไว้วางใจให้ "ยิ่งลักษณ์" - "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกฯ และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เป็น รมว.กลาโหม นั่งบริหารราชการแผ่นดินต่อไป

"ผมไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาล ผมไม่ใช่ฝ่ายค้าน มีอยู่กลุ่มหนึ่งไม่ได้เป็นฝ่ายไหน เป็นฝ่ายที่เห็นว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ก็บอกแต่ต้นพรรคฝ่ายค้านมีอยู่พรรคเดียว คือพรรคประชาธิปัตย์ พรรครัฐบาลมีพรรคร่วมรัฐบาล แต่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน พรรคภูมิใจไทย พรรครักษ์สันติและพรรคมาตุภูมิ เราถือว่าผลประโยชน์ของประชาชนอยู่ตรงไหนก็สนับสนุนตรงนั้น"

"บิ๊กบัง"บอกเหตุผลของการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาของพรรคมาตุภูมิผ่าน "มติชนสุดสัปดาห์" ฉบับเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555

สำหรับเหตุผลที่ลงมติไว้วางใจ "ยิ่งลักษณ์" อดีตประธาน คมช. บอกกับ "มติชนสุดสัปดาห์" ครั้งนั้นว่า การไปตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รัฐบาลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการทุจริต หรือประพฤติมิชอบจึงเป็นหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆที่จะต้องไปกำกับดูแล

"พล.อ.สนธิ" นั่งในตำแหน่ง ส.ส.สมัยแรกได้เพียง 2 ปีเศษก็ต้องลงจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะมีการยุบสภาในปลายปี 2556

ในวันนี้ พล.อ.สนธิ บอกกับ "ทีมข่าววอยซ์ทีวี" ถึงความพร้อมที่จะลงเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปี 2561 ว่า ขณะนี้ยังติดขัดปัญหาในกฎหมายพรรคการเมือง ที่ยังไม่เปิดทางให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมตามกฎหมายได้ เพราะยังติดขัดกับประกาศ คสช.ที่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนของพรรค ที่เป็นปัญหาใหญ่ของพรรคขนาดเล็กอย่าง "มาตุภูมิ" รวมทั้งจะต้องดูเรื่องความเป็นสมาชิกพรรคด้วย


a3.JPG

ครั้งหนึ่ง อดีตผู้นำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เคยบอกจุดเปลี่ยนในชีวิตที่กระโดดลงสนามเลือกตั้งเมื่อปี 2554ว่า

"ผมเข้ามาการเมืองด้วยมูลเหตุ คือ เราไปเรียนหนังสือ (ปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง) แล้วอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็บอกว่า สนธิ ไปช่วยการเมือง ก็จะเห็นการเมืองเป็นอย่างไร จะได้เป็นส่วนหนึ่งของนักการเมืองที่ดี ก็บังเอิญโชคดีได้เป็นก็ไม่ง่าย"

ทั้งหมดคือ ย้อนรอย อดีตผู้นำรัฐประหาร 1 คนจบเส้นทางในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่สวยงาม เพราะถ้อยคำ "เสียสัตย์เพื่อชาติ"

ขณะที่อดีตผู้นำรัฐประหาร 1 คนยอมฉีกตำราผู้นำปฏิวัติในอดีต กระโดดชิมลางสนามการเลือกตั้งในฐานะตัวแทนราษฎรด้วยมูลเหตุที่ไปเรียนหนังสือหลังเกษียณชีวิตราชการ

และยังไม่เป็นที่แน่ชัดด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีชื่อ "พล.อ.สนธิ" ปรากฎในสนามเลือกตั้งอีกครั้งหรือไม่