ไม่พบผลการค้นหา
"ไอคอนสยาม" โครงการมิกส์ยูสฝั่งธนฯ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของไทยและของโลก หวังกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และลดการแออัดในเมือง ขณะที่ราคาที่ดินบริเวณดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจากหลายสำนักทั้งไทยและต่างประเทศต่างมองไปในแง่ดีด้วยกันทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ต่างพาเหรดกันมองทิศทางเศรษฐกิจไทยในแง่บวก

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจประเทศในเดือนกันยายนที่ผ่านมาเห็นว่า การส่งออกของไทยในระยะนี้หดตัวต่ำลงและยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เรือเฟอร์รี่ล่มที่ภูเก็ตทำให้นักท่องเที่ยวจีนหาย ดังนั้นเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตต่ออย่างไม่หยุดชะงัก จะต้องพึ่งการบริโภคภาคเอกชนในประเทศรวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ

หากมองสิ่งที่แบงก์ชาติแนะนำ เห็นได้ชัดเจนว่าอภิมหาโครงการอย่าง "ไอคอนสยาม" เป็นคำตอบหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อ ในขณะที่จุดแข็งที่เคยแข็งแรงอย่างการส่งออกและการท่องเที่ยวกำลังประสบปัญหา

ผลพวงเศรษฐกิจจาก "ไอคอนสยาม"

จากการประเมินพบว่า ที่ดินในแถบฝั่งธนนั้นมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากเทียบจากช่วง 10 ปีก่อน มีราคาเฉลี่ยเพียง 1 แสนบาทต่อตารางวา เนื่องจากไม่มีความเคลื่อนไหวการลงทุนในพื้นที่แถบนี้ ต่อมาเมื่อมีการลงทุน โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่อย่าง 'ไอคอนสยาม' ราคาที่ดินจึงเริ่มขยับสูงขึ้น บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยตัวเลขว่า ในปี 2557 ที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาซื้อขายที่ราคา 450,000 บาท/ตร.ว. หรือปรับขึ้นมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับปี 2554 ที่อยู่ที่ 265,000 บาท/ตร.ว. ขณะที่ราคาขายของที่ดินไม่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 300,000-400,000 บาท/ตร.ว. ยิ่งเมื่อโครงการใกล้กำหนดเสร็จและเปิดตัวราคาที่ดินในแถบนี้ยิ่งพุ่งแรงขึ้นเกือบแตะที่ 1,000,000 บาท/ตร.ว. ถือว่าสูงมากหากเทียบกับฝั่งพระนคร โดยตัวเลขสรุปราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินของกรมธนารักษ์ รอบบัญชีปี พ.ศ. 2559-2562 ที่ดินแถวถนนสีลม มีราคาประเมินอยู่ที่ 700,000 - 1,000,000 บาท/ตร.ว. ในขณะที่ ถนนเพลินจิตอยู่ที่ 900,000 บาท/ตร.ว. 

นอกจาก "ไอคอนสยาม" จะลงทุนสร้างโครงการมิกส์ยูสขนาดใหญ่แล้ว ยังมีการพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสาธารณะ โดย "ไอคอนสยาม" ทุ่มเงินกว่า 2,080 ล้านบาท ในการสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสกรุงธนบุรีและมาสิ้นสุดบริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน มี 3 สถานี ได้แก่ 1.สถานีกรุงธนบุรี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส 2.สถานีเจริญนคร (ไอคอน สยาม) อยู่บริเวณเจริญนคร 6 บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง และ 3.สถานีคลองสาน อยู่เยื้องกับโรงพยาบาลตากสิน มีทางเดินหรือ sky walk เดินทางเข้าสู่โรงพยาบาลตากสินได้โดยตรง ซึ่ง 3 สถานีนี้อยู่ในเฟสแรกของรถไฟฟ้าสายสีทอง และจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย) ในอนาคต

ส่วนระยะที่ 2 เริ่มจากโรงพยาบาลตากสิน-วัดอนงคารามวรวิหาร ระยะทาง 0.9 กม. มี 1 สถานี ได้แก่ สถานีประชาธิปก อยู่บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8 อนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 

นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า มีการเร่งการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีหน้า (2562) และจะเป็นการสร้างรถไฟฟ้าที่เร็วที่สุดในประเทศไทยด้วย

การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการสัญจรไปมา ยังสร้างความเป็นไปได้ในการกระจายความแออัดของการมุ่งตัวเข้ามาทำงานในเมืองของคนกรุงเช่นกัน หากพื้นที่ย่านฝั่งธนมีการลงทุนด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องง่ายที่จะมีบริษัทหันมาเปิดในที่ดินแถบนี้โดยเฉพาะริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะได้เปรียบในแง่ทัศนียภาพ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นั้น คือปัญหารถติดที่ปกติก็มีมากอยู่แล้วโดยเฉพาะถนนฝั่งธนที่ไม่ได้มีพื้นที่ถนนกว้างนัก เมื่อต้องปิดพื้นผิวจราจรเพื่อทำการก่อสร้าง ปัญหารถติดจึงตามมาเป็นเงาตามตัว ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจาก "ไอคอนสยาม" แต่อย่างใด นอกจากการเตรียมรถรับส่ง Shuttle Bus จากสถานีรถไฟฟ้า และ บริการเรือข้ามฟาก