ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลนิวเดลีเชิญผู้นำอาเซียนร่วมงานวันชาติอินเดียเป็นครั้งแรก เสนอตัดถนนเชื่อมโยงผ่านไทย กระชับกรอบความร่วมมือแม่โขง-คงคา หวังทานอิทธิพลจีนที่แผ่ขยายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี จะเป็นเจ้าภาพรับรองผู้นำชาติอาเซียน 10 ประเทศ เข้าร่วมงานวันชาติของอินเดียในวันที่ 25 มกราคม เพื่อเฉลิมฉลองวาระกึ่งศตวรรษของความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามประเพณีแล้ว ในงานวันชาติแต่ละปีจะมีแขกเกียรติยศแค่คนเดียว อาคันตุกะจะได้ชมพิธีสวนสนามของทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อแสดงแสนยานุภาพของประเทศ

แต่ในปีนี้ แขกเกียรติยศจะประกอบด้วยผู้นำอาเซียนทั้งสิบ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่อินเดียเชิญแขกเป็นกลุ่ม และทั้งสิบประเทศได้ตอบรับคำเชิญแล้ว

เอเอฟพีรายงานว่า โมดีมุ่งมั่นเสนออินเดียเป็นตัวเลือกประชันกับจีนโดยใช้นโยบายที่เรียกว่า “มุ่งบูรพา” เพื่อขันแข่งกับอิทธิพลของจีนในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กระทรวงต่างประเทศของอินเดีย เปิดเผยว่า ในระหว่างการเยือนเป็นเวลา 2 วัน นายกรัฐมนตรีอินเดียจะพบกับบรรดาผู้นำอาเซียนเพื่อหารือกันในประเด็นต่างๆ รวมถึงเรื่องความมั่นคงทางทะเล อย่างไรก็ดี อินเดียไม่ได้ระบุว่า เวทีพูดคุยจะหยิบยกประเด็นทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนกำลังพิพาทกับสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ ด้วยหรือไม่

สำหรับความสัมพันธ์กับประเทศไทยนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย นางศุษมา สวราช เพิ่งเดินทางเยือนกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 4-5 มกราคม โดยมีการหารือกับฝ่ายไทยเกี่ยวกับการเตรียมการเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรีไทย ในโอกาสร่วมงานวันชาติของอินเดีย

กระทรวงต่างประเทศของไทย แถลงว่า บรรดาผู้นำชาติอาเซียนที่ไปเยือนอินเดียจะเข้าร่วมการประชุม ASEAN-India Commemorative Summit ณ กรุงนิวเดลี โดยจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น

• โครงการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย (India-Myanmar-Thailand Trilateral Highway Project)

• แนวคิด อินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง (Free and Open Indo-Pacific)

• กรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-คงคา (Mekong-Ganga Cooperation หรือ MGC) ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยอินเดีย เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

• ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือ BIMSTEC) ซึ่งไทยกับอินเดียเป็นสมาชิกก่อตั้ง

ชัยศรี แสงคุปตะ นักวิจัยของ Observer Research Foundation หน่วยงานคลังปัญญาในกรุงนิวเดลี ให้ความเห็นกับเอเอฟพี ว่า อินเดียกำลังเล่นบทเป็นตัวเลือกประชันกับจีน ฉายภาพของประเทศว่าเป็นปลายทางของการลงทุน.