ไม่พบผลการค้นหา
ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูฯ ย้ำไม่ต้องการชักดาบหนี้ แต่ต้องหาทางต่อลมหายใจครูหลายแสนคนก่อน พร้อมชง 4 เรื่องแก้ปัญหาหนี้ครู 'พักชำระหนี้ 6 เดือน-ปรับโครงสร้างหนี้-สอบทุจริต-ตั้งแก้หนี้ครูเป็นวาระแห่งชาติ' ฟาก รมว.คลังไฟเขียวธนาคารออมสินฟ้องครูที่เกิดปัญหาเบี้ยวหนี้

นายอวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เครือข่ายครูฯ ไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อชักดาบ หรือ เพื่อเบี้ยวหนี้ แต่สิ่งที่ทำตอนนี้คือ เพื่อให้ครูหลายแสนคนที่กำลังจะถูกฟ้องล้มละลาย และอาจถึงขั้นต้องออกจากราชการ เหตุเพราะเป็นหนี้ธนาคารออมสินจากโครงการสินเชื่อของรัฐ ได้มีลมหายใจต่อไป ดังนั้น จึงมีข้อเสนอใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1) ให้พักชำระหนี้ครูเพื่อกู้วิกฤต แบ่งเป็น 2 ระยะๆ ละ 3 เดือน 2) ให้ปรับโครงสร้างหนี้ครู 3) ให้รัฐบาลเข้ามาตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในกรณีให้บริษัทประกันชีวิตเอกชนเข้ามาทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ และ 4) ให้เรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินครูเป็นวาระแห่งชาติ 

"โครงการสินเชื่อพิเศษโครงการนี้ไม่เหมือนกับโครงการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่เป็นโครงการของครูกว่า 5 แสนคน จากครูในระบบทั้งหมด 7-8 แสนคน ถ้าบวกครูนอกประจำการอีกก็ประมาณ 1.5 ล้านคน ดังนั้น การเคลื่อนไหวครั้งนี้ เราจึงต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เอาครูที่ติดอยู่ในถ้ำที่มีผีสิงชั่วร��ายมากมาย ที่กำลังมีคนปล่อยน้ำมาท่วม ได้ออกจากถ้ำก่อน" นายอวยชัย กล่าว

ส่วนประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่า ถ้าสัญญาเงินกู้ไม่เป็นธรรมจะเซ็นสัญญาทำไม นายอวยชัย ชี้แจงว่า ตามข้อตกลงที่เครือข่ายครูทำร่วมกับ สกสค. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา) คือให้คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 แต่ธนาคารออมสินกลับคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 และเป็น MLR หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทวีคูณทบต้นไปเรื่อยๆ ยิ่งถ้าครูลูกหนี้รายใดผิดนัดชำระหนี้ ก็จะมีค่าปรับเพิ่มอีกเกือบร้อยละ 10 ซึ่งอย่างนี้ถือว่าไม่เป็นธรรม ทั้งที่การผ่อนค่างวดควรลดเงินต้นเยอะ จ่ายดอกเบี้ยน้อย เหมือนการกู้กับ ธ.ก.ส. หรือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 

ชี้ข้อสังเกตความไม่ชอบมาพากลในโครงการสินเชื่อ

นายอวยชัย ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดโครงการสินเชื่อดังกล่าว ธนาคารออมสินจึงให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามารับทำประกันสินเชื่อให้กับครูผู้กู้ ทั้งที่สามารถใช้เงิน ช.พ.ค.- ช.พ.ส. มาค้ำประกันก็ได้ ข้อสังเกตต่อมา คือเหตุใดจึงให้ครูผู้กู้สินเชื่อทำประกันชีวิตเพียง 9 ปี ทั้งที่ถ้าทำ 10 ปี ผู้ซื้อประกันจะสามารถได้สิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าเบี้ยประกันได้ แต่เพราะบริษัทไม่ต้องการรับภาระภาษีตรงนี้แทนผู้กู้หรือไม่ แล้วเงินประกันชีวิตที่ได้ไปเกือบ 1 แสนล้านบาท ไปอยู่ที่ไหน มีใครมีส่วนได้ส่วนเสียกับเงินตรงนี้บาง จึงต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกรัฐมนตรีดูรายละเอียดตรงนี้ด้วย 


"อย่าพยายามบิดเบือนข้อมูลและต้อนครูเป็นจำเลยสังคม เป็นผู้ร้าย และถ้ารัฐบาลไม่จัดการ ผมและเพื่อนครูจะฟ้องในกรณีการถูกลอบนำเงินประกันออกไป" นายอวยชัย กล่าว


พร้อมกับระบุว่า ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินต้องขอบคุณครู ไม่ใช่มาข่มขู่ และเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่่ผ่านมา ออกคำสั่งให้สาขาธนาคารออมสินทุกแห่งไล่ฟ้องครูที่ค้างชำระหนี้ ดังนั้น เรื่องนี้รัฐบาลต้องมาดูแล ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุว่า อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่นั้น แต่เรื่องนี้กำลังกลายเป็นเรื่องเล็กที่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะรัฐบาลต้องกำกับดูแลธนาคารของรัฐ ธนาคารออมสิน ดูแล สกสค. ไม่ให้มาเอาครูมาทำประโยชน์ เอาครูมาเป็นตัวประกัน แล้วบอกว่า ปรับหนี้ ลดหนี้ให้แล้ว ทั้งที่เพิ่งมาปรับลดหนี้เมื่อเดือน พ.ค. และให้ครูที่มีหนี้เสีย (เป็นหนี้เอ็นพีแอล) จ่ายดอกเบี้ยค่าปรับแพงขึ้น และไปลดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ให้กับลูกหนี้ที่เป็นครูผ่อนชำระดี ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่มีฐานะดีอยู่แล้ว 


"คุณรีดดอกเบี้ยลอยตัวจากครู เป็นเลือดหมดไปแล้ว และจะมาเชือดเนื้อไปแปะให้คนอ้วนท้วมสมบูรณ์อย่างนี้ คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมาดูแล กระทรวงการคลังต้องมาดูแล อยากรู้ก็มาขอเอกสารที่ผมได้" นายอวยชัย กล่าว


ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีครู 20,000 ราย ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ ส่วนปีนี้จะมีอีก 7,000 ราย และอยู่ระหว่างแจ้งเอกสารดำเนินคดีอีก 68,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีคนที่จะครบ 3 เดือนผิดนัดชำระหนี้อีกหลายแสนคน ดังนั้น จึงต้องการให้มีการพักชำระหนี้ เพื่อไม่ให้ครูเหล่านี้ต้องเข้าสู่กระบวนการเป็นบุคคลล้มละลาย ต้องมีปัญหาชีวิต ปัญหาทางสังคม 

รมว.คลังไฟเขียวออมสินดำเนินคดีครูผิดนัดชำระหนี้

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีปัญหาหนี้ครูว่า ธนาคารออมสินได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้รับทราบแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือไปหลายมาตรการ ดังนั้นหากลูกหนี้ครูรายไหนมีปัญหา ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย

อีกทั้งธนาคารออมสิน ยังรายงานว่า ที่ผ่านมามีมาตรการช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครูที่มีการชำระหนี้ดี ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1-2 ทำให้ภาระการชำระหนี้ต่องวดลดลง รวมถึงปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครูที่มีปัญหา ด้วยการพักชำระเงินต้นให้ 3 ปี และลดอัตราดอกเบี้ยให้น้อยลง ตามความสามารถในการผ่อนชำระของครูแล้ว

โดยปัจจุบันธนาคารออมสินมีลูกหนี้ครูจำนวน 4.5 แสนราย มีการผ่อนชำระดี 4 แสนราย และมีหนี้ครูที่ไม่สามารถชำระได้ หรือเป็นเอ็นพีแอล (Non Performance Loan) 2-3 หมื่นรายเท่านั้น ซึ่งออมสินอยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้อยู่แล้ว

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ออกหนังสือเวียนให้กับกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสำนักงาน ธนาคารออมสินทั่วประเทศ ให้เร่งดำเนินการฟ้องคดีกับลูกหนี้สินเชื่อครู และบุคลากรทางการศึกษา ตามขั้นตอนของธนาคาร โดยแบ่งการดำเนินการลูกหนี้เป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกหนี้ที่มีทวงถามและบอกเลิกสัญญา ให้เร่งดำเนินการฟ้องคดี ให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ค. นี้ ส่วนลูกหนี้ที่ยังไม่มีการยกเลิกสัญญาเงินกู้ ให้เร่งยกเลิกสัญญาและฟ้องคดีให้แล้วเสร็จในเดือน ส.ค. นี้