ไม่พบผลการค้นหา
กทม. ลงพื้นที่เขตธนบุรีจับนกพิราบ เก็บตัวอย่างน้ำลาย มูล - เลือดไปตรวจหาเชื้อโรคไข้หวัดนก - เชื้อรา พร้อมกำชับประชาชนอย่าให้อาหารนก อาจโทษปรับสูงสุด 25,000 บาท

นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่จัดระเบียบนกพิราบ ณ วัดบุคคโล เขตธนบุรี กทม. หลังนายกรัฐมตรี และผู้ว่าฯ กทม. สั่งให้เร่งดำเนินการทั้ง 50 เขต เพื่อกำจัดแหล่งเพาะเชื้อโรคจากสัตว์สู่คน โดยสั่งการให้สัตวแพทย์ จับนกพิราบ พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำลาย มูล และเลือดของนก ไปตรวจหาเชื้อโรคไข้หวัดนก และเชื้อราบางชนิด ที่ทำให้เกิดโรคให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากนั้นล้างทำความสะอาดพื้น และเทยาฆ่าเขื้อโรคบริเวณศาลาริมน้ำ


นกพิราบ.jpg

อย่างไรก็ตาม กทม.วางมาตรการจัดระเบียบนกพิราบไว้ 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน และระยะยาว โดยมาตรการเร่งด่วน ได้ออกคำสั่งให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และสำนักอนามัย ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับอันตรายและโรคที่เกิดจากนกพิราบ ซึ่งเป็นพาหะเชื้อโรค โดยเฉพาะอุจจาระของนกที่ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ และระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังได้เร่งกำชับจุดที่เคยได้รับการร้องเรียนจากประชาชน รวมถึงในพื้นที่เขตโรงเรียน และวัด ที่มีการให้อาหารนกพิราบจำนวนมาก ต้องงดให้อาหาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค 


นกพิราบ.jpg

ส่วนมาตรการระยะยาว คือ การมอบหมายให้ 50 เขต สำรวจจำนวนนกพิราบในพื้นที่ หากจุดไหนพบมีปริมาณมาก ต้องหาวิธีป้องกัน พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับนกพิราบกลับคืนสู่ธรรมชาติ

สำหรับการให้อาหารนก จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มีโทษปรับเป็นเงินจำนวน 2,000 บาท และมีความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุ หลีกเลี่ยงนกพิราบ เสี่ยงติดโรคจากขี้นก

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มีฝนตก อากาศร้อนชื้น เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี อีกโรคหนึ่งที่น่าห่วงก็คือ โรคคริปโตคอกโคสิส จากการติดเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus Neoformans) ที่อยู่ในมูลนก โดยเฉพาะนกพิราบ ซึ่งมักอาศัยตามที่สาธารณะหรือมาเกาะอาศัย ทำรังอยู่บนหลังคา ฝ้าเพดานบ้าน และยังพบในมูลนกอื่น ๆ ที่ประชาชนมักเลี้ยงไว้ เช่น นกหงส์หยก นกแก้ว นกกระตั้ว นกแขกเต้า นกเอี้ยง นกเขา ไก่ อีกด้วย 

โดยเมื่อหายใจเอาสปอร์ราหรือเชื้อราในมูลนกที่ถูกพัดกระจายอยู่ในอากาศเข้าไป จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดและสมอง มีอาการไข้ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก มีปัญหาทางการมองเห็น มึนงง หากมีการติดเชื้อที่สมองจะมีอาการสับสน และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป

ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อง่ายคือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง คนที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ อาจมีอาการรุนแรงและรักษายากกว่าคนปกติ จึงขอให้ป้องกันตัวเอง โดยหลีกเลี่ยงนกพิราบและบริเวณที่นกอาศัยอยู่ หรืออยู่ใกล้กรงนกที่ไม่ได้ทำความสะอาด เพื่อลดความเสี่ยงติดโรคนี้ และขอให้ป้องกันตัว โดยสวมผ้าปิดจมูกและปากเมื่อต้องทำความสะอาดอาคารเก่า บริเวณที่นกอาศัยอยู่และล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง รวมทั้งไล่นกพิราบไม่ให้มาอาศัยอยู่ในบ้าน เช่น การกั้นด้วยตาข่าย การใช้เข็มขัดรัดสายไฟมัดที่ระเบียงที่นกชอบเกาะ กำจัดรังนก เป็นต้น