ผู้หญิงทั่วเอเชียเริ่มมีทัศนคติว่าการแต่งงานไม่ใช่เรื่องจำเป็นของชีวิตอีกต่อไป ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เปลี่ยนไป การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ผู้หญิงมีการศึกษาที่ดีขึ้นและมีโอกาสทางการงานอาชีพมากขึ้น ถือเป็นความสำเร็จของการส่งเสริมสิทธิสตรี ที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องแต่งงานเพื่อความมั่นคงในชีวิตของตัวเอง
เอวา เจิ้ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารสาธารณะวัย 33 ปี ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า เพราะฉันมีอาชีพที่มั่นคง มีอพาร์ตเมนต์ที่เหมาะสมในเมืองใหญ่ มีรถยนต์เป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้มีความสุขกับชีวิตแล้ว แม้จะไม่มีสามี
เธอกล่าวว่า ยังคงเปิดใจที่จะออกเดต มีความสัมพันธ์โรแมนติก และแต่งงาน แต่คนที่จะมาเป็นสามีจะต้องมีเป็นคนที่เหมาะสม มีความผูกพันกันทางใจ มากกว่าเป็นเพียงที่พึ่งทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อหนุ่มสาวแต่งงานกันช้าลงหรือเลือกที่จะเป็นโสดกันมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการเกิดลดลง โดยอัตราการเกิดเฉลี่ยในหลายประเทศเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ต่ำกว่าสหรัฐฯ และประเทศในสหภาพยุโรปแล้ว อัตราการเกิดที่ต่ำทำให้ในอนาคตขาดแคลนแรงงาน และค่าใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการต่างๆ ก็จะสูงขึ้นด้วย รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายที่เพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการสนับสนุนพ่อแม่วัยทำงานในการเลี้ยงลูกด้วย
มะโกโตะ ไซโตะ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอมองว่า ประเทศเศรษฐกิจใหม่ยังไม่มีการเตรียมพร้อมรับมืออัตราการเกิดที่ลดลงเรื่อยๆ เพราะประเทศเศรษฐกิจใหม่จะให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการออกแบบระบบประกันสังคม
จีนพยายามแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำด้วยการเปลี่ยนนโยบายลูกคนเดียวให้ประชาชนสามารถมีลูกได้ 2 คน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประชากรเพิ่มจากเดิมมากนัก โดยปี 2016 ที่มีการผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียว อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 1.31 ล้านคน มาอยู่ที่ 17.86 ล้านคน แต่ในปี 2017 อัตราการเกิดก็ลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 17.23 ล้านคน
สำนักข่าว People’s Daily ของจีนเผยแพร่ผลการสำรวจของหนุ่มสาวชาวจีนที่ยังไม่แต่งงาน พบว่า เหตุผลที่คนหนุ่มสาวไม่แต่งงาน 3 อันดับแรก ได้แก่ ยังหาคนที่ใช่ไม่เจอ ภาระทางบ้านที่หนักเกินไป และชีวิตโสดมีความสุขดีอยู่แล้ว
ช่วงก่อนปี 2013 อายุเฉลี่ยของชาวจีนที่แต่งงานครั้งแรกอยู่ที่ 20-24 ปี แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 25-29 ปี และในเมืองชายฝั่งที่เจริญกว่า อายุเฉลี่ยของคนที่แต่งงานครั้งแรกสูงเกิน 30 ปี คล้ายกับสิงโปร์ โดยปี 2017 ที่ผ่านมา ผู้หญิงแต่งงานครั้งแรกมีอายุเฉลี่ยประมาณ 25-29 ปีมีมากถึงร้อยละ 64.6 เพิ่มขึ้นจากปี 2007 ที่ร้อยละ 52.2 ส่วนผู้ชายที่แต่งงานช่วงอายุ 25-29 ปีก็เพิ่มจากร้อยละ 75 เป็นร้อยละ 78.8
ด้านหนุ่มสาวชาวไทยก็แต่งงานกันช้าลง ข้อมูลจากปี 2010 ระบุว่า อายุเฉลี่ยของคนที่แต่งงานครั้งแรกอยู่ที่ 28.3 ปี จากอายุเฉลี่ยประมาณ 25 ปีในช่วงปี 1960 โดยผู้หญิงแต่งงานครั้งแรกที่อายุเฉลี่ย 23.7 ปี ขึ้นมาจาก 22.1 ปีในปี 1960 และผู้หญิงมากกว่าครึ่งหนึ่งเรียนจบปริญญาตรี และอยู่ในตลาดแรงงาน จึงไม่จำเป็นต้องรีบแต่งงานนัก
สำหรับบางคน การตัดสินใจไม่สร้างครอบครัวและมีลูกก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำโดยสมัครใจนัก แต่เป็นเพราะการสร้างครอบครัวต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากเกินไป หนุ่มสาวในฮ่องกงเลือกที่จะไม่แต่งงาน เพราะการจัดงานแต่งงานใช้งบสูงมากเกินไป โดยค่าใช้จ่ายในการแต่งงานในฮ่องกงรวมตั้งแต่ค่าเครื่องประดับ ค่าอาหาร ฮันนีมูน และการถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,500,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2017 ร้อยละ 9
นอกจากนี้ หนึ่งในสามของคู่แต่งงาน 1,400 คู่ที่แต่งงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ยังอยู่กับพ่อแม่ จำนวนเพิ่มขึ้นจากเมื่อสิบปีก่อน 2 เท่า โดยผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์สูงเกินไป การซื้อคอนโดมิเนียมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และการไปเช่าบ้านอยู่กันเองก็ทำให้เงินเก็บของพวกเขาร่อยหรอลง
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญวิกฤตอัตราการเกิดต่ำมาก โดย 1 ใน 3 ของผู้หญิงญี่ปุ่นวัย 30-34 ปียังเป็นโสด จากช่วงปี 1985 ที่มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ญี่ปุ่นมีความท้าทายสำคัญคือสังคมที่แบ่งแยกงานและบทบาทหน้าที่ของผู้ชายและผู้หญิงอย่างชัดเจน ผู้หญิงต้องเลือกระหว่างการทำงานกับการมีลูก
วิศวกรวัย 32 ปีในกรุงโตเกียวเปิดเผยว่า เธอกังวลว่าการแต่งงานมีลูกจะปิดโอกาสไม่ให้เธอได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เพราะในแผนกของเธอ ไม่มีผู้จัดการที่เป็นผู้หญิงมีลูกเลย
โยโกะ ยะจิมะ นักวิเคราะห์วิจัยนโยบายของบริษัทที่ปรึกษา Mitsubishi UFJ Research and Consulting ระบุว่า ญี่ปุ่นแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำไม่เร็วพอ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และการปฏิวัติวัฒนธรรมองค์กร ส่งผลให้ผู้หญิงที่อยู่ในระดับผู้บริหารและผู้จัดการมีเพียงร้อยละ 4 ขณะที่สหรัฐฯ มีประมาณร้อยละ 20 และในอียูมีประมาณร้อยละ 30 และแม้ตัวเลขผู้หญิงญี่ปุ่นที่ขึ้นมาอยู่ในระดับอาวุโสหรือระดับผู้บริหารจะสูงขึ้น แต่นั่นเป็นเพราะผู้หญิงเลือกที่จะเป็นโสดกันมากขึ้น ไม่ใช่เพราะมีการพัฒนาสวัสดิการที่ดีขึ้นสำหรับผู้หญิง
เจ้าหน้าที่รัฐของญี่ปุ่นกังวลว่า อัตราการเกิดที่ต่ำลงเรื่อยๆ จะส่งผลภาระค่าบำนาญสูงขึ้นจนเกินจะแบกรับ โดยเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลประเมินว่า สวัสดิการที่รัฐต้องจ่ายในปี 2040 น่าจะสูงถึง 190 ล้านล้านเยนหรือประมาณ 55.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 24 ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากปี 2018 ร้อยละ 2.5 และผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ผู้สูงอายุที่โสดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้องใช้ค่าเลี้ยงดูคนที่ป่วยจากโรคสมองเสื่อมและความเหงา
เวลาในการแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำในหลายประเทศเอเชียกำลังจะหมดลงแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์พยายามส่งเสริมให้พ่อแม่ลาไปเลี้ยงดูบุตรที่เพิ่งคลอดมากขึ้น และผู้ชายก็สามารถลาไปดูแลลูกได้ ซึ่งรวมบุตรบุญธรรมด้วย จีนก็กำลังพิจารณาว่าจะยกเลิกการคุมจำนวนการมีลูกของประชาชน ขณะที่ญี่ปุ่นก็พยายามผลักดันให้มีการลดชั่วโมงการทำงาน เพื่อให้ผู้หญิงมีสมดุลระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตครอบครัว
ที่มา : Nikkei