นักธุรกิจวัย 39 ปี ที่ผันตัวเองมาเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ฉายภาพอนาคตที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ ด้วยการกล่าวถึง ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยี เขาบอกว่า วันนี้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สามารถคิดและประมวลผลได้อย่างซับซ้อนและรวดเร็วมากขึ้น เมื่อปีที่ผ่านมา คอมพิวเตอร์สามารถเล่นโกะชนะมนุษย์ได้ ทุกวันนี้อัตราเร่งในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์รวดเร็วก้าวกระโดด เทคโนโลยีกำลังเข้าทำลายตัวกลางที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำลายงานที่ใครๆ ก็ทำได้
คนจำนวนหนึ่งกำลังจะตกงานเพิ่มขึ้น อย่างที่เห็นกันในอุตสาหกรรมสื่อ อุตสาหกรรมธนาคาร เมื่อปีที่่ผ่านมา ธนาคารในประเทศไทยปิดสาขาไปกว่า 200 แห่ง หรือในอุตสาหกรรมสื่อยิ่งได้รับความท้าทายหนัก จากการมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือจากแท็บเลตมากกว่าจากกระดาษ การผลิตเนื้อหาหรือคอนเทนต์ไม่ได้เป็นสายพานการผลิตอย่างแต่ก่อน ในวันนี้ใครๆ ก็สามารถสร้างคอนเทนต์ของตัวเองและโพสต์บนเฟซบุ๊กได้
คนรุ่นใหม่ไม่ได้ใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน ขนาดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีสมาร์ท เพย์ ในประเทศจีนทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่ ชาวจีนต่างใช้อาลีเพย์ หรือ วีแชตเพย์ชำระเงินแล้ว แทบไม่มีใครพกเงินสด ในโลกของยานยนต์ มีแต่การพัฒนารถยนต์ขับเอง รถยนต์ไฟฟ้า หรือบริการไรด์แชริ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เชื่อมกับเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet Of Things รวมถึงการออกแบบด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ บางบ้านพิมพ์ของเล่นจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ให้ลูกเล่นเองได้แล้ว หรือแม้แต่การทำเกษตรกรรม มีสมาร์ทฟาร์มมิ่งเกิดขึ้นมากมาย ผ่านการเขียนโปรแกรมบริหารจัดการเพื่อให้คอมพิวเตอร์ดูแลเรื่องการรดน้ำบำรุงพืชผล
ดังนั้น ในฐานะของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน สิ่งที่ต้องตระหนักคือ การมีความรู้ให้ถึง 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และภาษาคอมพิวเตอร์
"คนรุ่นผม พ่อแม่บอกว่า ถ้าจะเอาตัวรอดในสังคม ต้องได้ 2 ภาษา ส่วนคนรุ่นคุณ ต้องได้ 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และภาษาคอมพิวเตอร์ คุณต้องเขียนโปรแกรมเป็น เป็นเจ้านายอัลกอริทึมได้ และเขียนโค้ดได้"
ส่วนการจะพาตัวเองให้รอด และทำให้ประเทศไทยรอดจากกับดักรายได้ปานกลาง คือ การพัฒนาทักษะคน และการมีเทคโนโลยี
"ส่วนวัฒนธรรมจารีต วัฒนธรรมอนุรักษนิยม การให้นักเรียนท่องค่านิยม 12 ประการ ไม่ได้มีข้อใดที่พูดถึงจินตนาการ การตั้งคำถาม การกล้าคิดกล้าทำ และจะเป็นปัญหาของคนรุ่นใหม่ในโลกแบบนี้มาก ถ้าคุณไม่กล้าท้าท้ายครู ไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้าจินตนาการ มันจะทำให้สังคมไม่ก้าวหน้า"
อย่างไรก็ตาม การจะมีเทคโนโลยีอย่างเดียวยังไม่ตอบโจทย์ เพราะเทคโนโลยีเป็นเพียงหน้าฉากของโลกาภิวัตน์ แต่สิ่งที่สำคัญของโลกาภิวัตน์ คือ การเข้าใจในเรื่องเสรีภาพของการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของทุน สินค้า คน และการบริการ ซึ่งเป็น 4 เสา ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดการแบ่งงานกันทำในระดับโลก ในเวลาที่โลกมี 2 สิ่งที่ขับเคลื่อนไปคือ ระบบตลาดเสรี และ สิทธิมนุษยชนสากล ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดอื่นที่ท้าทายสองสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา เช่น แนวคิดชาตินิยม อนุรักษนิยม
ในตอนท้ายการบรรยาย เขามีคำแนะนำสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะต้องเผชิญหน้ากับโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ว่า อย่าละเลยที่จะฝึกใช้โปรแกรม Excel และ PowerPoint เพราะมันจะเป็นเครื่องมือที่มีพลังมหาศาลในการทำงาน แล้วอย่าหวาดกลัว หรือเดินหันหลังให้กับโลกาภิวัตน์ แล้วกลับไปโหยหาความหลัง หาวัฒนธรรมแบบเดิม นิยมออเจ้า แต่งตัวไทยนิยม
"คุณไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวโลกาภิวัตน์ขนาดนั้น คุณอยากเป็นไทย คุณก็สามารถเป็นไทยสากลได้ อย่าหวาดกลัว อย่ายอมแพ้ และกลับไปโหยหาอดีต เพราะสิ่งเหล่านี้จะไม่ช่วยให้เราเจริญก้าวหน้าได้"
"คุณสามารถเดินไปข้างหน้าด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ต้องเอาชนะความหวาดกลัว เอาชนะแนวคิดอนุรักษนิยมด้วยการกล้าจินตนาการและตั้งคำถาม" ธนาธรกล่าว
นอกจากนี้ ในห้องบรรยายยังได้รับความสนใจจากนักศึกษายกมือตั้งคำถาม กับนักการเมืองหน้าใหม่
นักศึกษาคนหนึ่งถามว่า : คนเรียนสายสังคมศาสตร์จะดำรงชีวิตอย่างไรในโลกาภิวัตน์ เพราะเขาอาจไม่ได้ถนัดที่จะเขียนโค้ดหรือใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ได้
ธนาธร : คนเรียนสายนี้เป็นคนมีคอนเทนต์ และจากประสบการณ์ส่วนตัว ก็ยั���เห็นหลายคนยังมีการงานทำ แม้ว่าจะทำงานสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำไม่ได้ ก็ตาม แต่ยิ่งในยุคที่มีเทคโนโลยี ยิ่งทำให้คอนเทนต์ของคนเรียนกลุ่มนี้ เช่น ถ้าคุณเป็นนักประวัติศาสตร์ ทำให้คุณเขียนอะไรๆ ทำให้มีช่องทางนำเสนอวาระของตัวเองให้กับสังคมมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
นักศึกษาคนต่อมาถามว่า : ถ้าวันหนึ่งเครื่องจักรทดแทนแรงงานคน และตลาดแรงงานไม่ต้องการแรงงานคนแล้ว จะเอาคนไปไว้ที่ไหน
ธนาธร : เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว สหภาพแรงงานในเยอรมนีบางแห่งเพิ่งเรียกร้องให้แรงงานเยอรมันทำงาน 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่กฎหมายไทยกำหนดให้แรงงานทำงานไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ดังนั้น ในอนาคตเมื่อระบบอัตโนมัติ หรือ automation เข้ามาทดแทนแรงงานคน ซึ่งตอนนี้โลกตะวันตกได้แก้ปัญหาด้วยการลดชั่วโมงการทำงาน และเกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปที่ให้มีชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
สำหรับประเทศไทยถ้าทำได้ต้องลดลงมาให้เหลือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (8 ชั่วโมงต่อวัน) ในเบื้องต้น และถ้าพวกคุณจบแล้วไปทำงานในที่ต่างๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักบัญชี นักกฎหมาย นักการเงิน หรืออะไรก็แล้วแต่ผมอยากฝากให้คุณผลักดันให้ประเทศไทยใช้กฎหมายสูตร 8-5-40 คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง-5 วัน -40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตแรงงาน
นักศึกษาคนที่สามถามว่า : เมื่อมี AI เข้ามาทำงานแทนมนุษย์ในหลายด้านแล้ว แล้วการเกณฑ์ทหารยังสำคัญอีกเหรอ
ธนาธร : สถาบันทหารเป็นสถาบันที่ทำให้ประเทศไทยล้าหลัง และถ้าคุณต้องไปเกณฑ์ทหาร คุณจะเสียเวลาในช่วงชีวิตที่ prime ที่สุด ที่กระตือรือร้นมากที่สุดของคุณ 6 เดือน ถึง 1 ปีสำหรับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นการเสียโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เป็นต้นทุนมหาศาลของสังคมไทย
แล้วพอผ่านการเกณฑ์ทหาร จากเดิมที่คุณเชื่องอยู่แล้วจากระบบการศึกษาไทย พอผ่านการเกณฑ์ทหารยิ่งเชื่องกว่าเดิม คิดไม่เป็นอีก เพราะถูกสอนเรื่องอำนาจนิยม ยอมรับสยบยอมต่ออำนาจ สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมที่คนรุ่นคุณต้องทำลายมัน อย่าสยบยอมกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และหากเรายังยอมให้วัฒนธรรมแบบนี้ยึดครองประเทศไทย ประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันเท่าทันกับประเทศอื่นได้ ดังนั้น สำหรับผม การแก้ปัญหานี้ มีวิธีเดียวที่ทำได้คือยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
นักศึกษาคนที่สี่ถามว่า : รัฐสวัสดิการใช้งบประมาณจำนวนมาก หากไทยต้องการสร้างรัฐสวัสดิการให้เทียบเท่าประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย แล้วในฐานะที่คุณธนาธรมีทรัพย์สินมาก จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้จ่ายภาษีให้กับคนอื่นๆ
ธนาธร : เรื่องนี้ทำได้ง่ายคือการกระจายความมั่งคั่งผ่านภาษี เพราะปัจจุบันกลุ่มคนรวยในประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเยอะมาก หรือที่เรียกทางเทคนิคว่า การแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นคนรวยไม่ผิด หากคุณร่ำรวยด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำสินค้าที่มีราคาถูกลง มีคุณภาพมากขึ้น มีบริการดีขึ้นให้กับประชาชน ถ้าคุณสร้างนวัตกรรมมาสอดรับทำให้วิถีชีวิตประชาชนดีขึ้น รวยแบบนี้ไม่ผิด แต่กลุ่มทุนไทยหลายกลุ่มกลับรวยด้วยการผูกขาดเศรษฐกิจ ซึ่งเราไม่ต้องการการสะสมทุนแบบนี้ ไม่ต้องการการสะสมทุนด้วยการเอาเปรียบแบบนี้
ยิ่งถ้าคุณได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ คุณไม่ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลร้อยละ 20 และถ้าคุณได้เงินปันผลจากกำไรของบริษัท คุณก็ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินปันผลอีกร้อยละ 10 ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนรวย คุณหาได้ 100 บาท คุณได้ 100 บาท แต่ถ้าคุณเป็นคนทำงานทั่วไป เป็นธุรกิจเล็กๆ สตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ที่ไม่ได้สิทธิบีโอไอ ขั้นแรกคุณเสียภาษีนิติบุคคลร้อยละ 20 และถ้าคุณรับเงินปันผล ก็เสียภาษีอีกร้อยละ 10 คุณหาได้ 100 บาท คุณจะได้คืนเพียง 72 บาท
ดังนั้น การทำรัฐสวัสดิการคือ เก็บภาษีให้เท่ากัน คนธรรมดาจ่ายเท่าไหร่ กลุ่มทุนก็ควรจ่ายเท่านั้น เพราะที่ผ่านมา นี่คือความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งคนทั่วไปมองไม่เห็น
ดังนั้น สำหรับการทำรัฐสวัสดิการในประเทศไทยที่มีงบประมาณประจำปีประมาณ 3 ล้านล้านบาท การใช้เงินสำหรับรัฐสวัสดิการปีละ 6 แสนล้านบาท เป็นไปได้ ที่จะทำให้คนทุกคนในประเทศไทยมีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น เช่น เบี้ยคนชรา ที่รัฐให้คนละ 600 บาทต่อเดือน ถ้าอยู่กัน 2 สามีภรรยา 1,200 บาทต่อเดือน เงินเท่านี้อยู่ไม่ได้หรอก แต่เราสามารถจัดสรรงบประมาณใหม่ ทำให้เพื่อนในประเทศมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ด้วยการตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นบางอย่างลง เช่น งบทหาร ถ้าปีหนึ่งรัฐต้องจ่ายเงินเดือนทหารเกณฑ์ที่มีปีละ 1 แสนคน คนละ 10,000 บาทต่อเดือน รวมๆ แล้วก็ประมาณ 1.2 แสนล้านบาทต่อปี แล้วนำเงินตรงนี้ไปเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุในประเทศ ก็ทำได้
"เรื่องนี้จึงขึ้นกับปรัชญาและเจตจำนงความแน่วแน่ทางการเมือง หากคุณต้องการนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ปัญหาไม่ใช่เรื่องงบประมาณ แต่คนที่พูดว่า งบประมาณเป็นปัญหา ทำให้ประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการไม่ได้ คือคนที่ไม่อยากเห็นคนไทยแข็งแรง แต่ต้องการให้คนไทยอยู่ในระบบอุปถัมภ์ของรัฐ ทำให้คนไทยแบมือขอจากรัฐ ให้คนเหล่านี้อ่อนแอ ไม่เชื่อในศักดิ์และสิทธิ์ของตัวเอง และไม่เชื่อในศักยภาพของตัวเอง"
นักศึกษาคนที่ห้าถามว่า : แจ็ค หม่ามาช่วยประเทศไทย คนไทยจะรอดหรือไม่รอด ถ้าไม่รอดจะรอดได้อย่างไร
ธนาธร : กรณีแจ็ค หม่า กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบอันดับแรกคือ เกษตรกรรม เพราะจะมีการดึงสินค้าเกษตรไปขายประเทศจีน ด้วยปริมาณเยอะ ซึ่งอาจเกิดการกดราคาได้ ส่วนพวกคุณก็ต้องปรับตัวให้ทัน
แล้วคำแนะนำของผมคือ ก้าวออกจาก comfort zone ภาวะที่รู้สึกปลอดภัยของคุณซะ ให้คบเพื่อนต่างชนชั้น ต่างเพศ ต่างภูมิลำเนา ต่างประเทศ ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ให้มากขึ้น แล้วเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย เปิดใจยอมรับเพื่อนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เดินออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง สร้างตัวเองให้ยอมรับความหลากหลาย มีความเป็นพหุนิยม ยอมรับ Globalism การเป็นพลเมืองโลก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ
"ไปในที่ที่ไม่เคยไป ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ อย่ากลัวกับประสบการณ์ใหม่ อย่ากลัวกับอนาคต ถ้าจะต่อกรกับอนาคต ให้ทำสิ่งต่างๆ ที่ผมบอกนี้ ขอบคุณครับ" ธนาธรปิดท้าย