ไม่พบผลการค้นหา
ข่าวอุบัติเหตุทางรถยนต์ในจังหวัดสีหนุวิลล์ ซึ่งสมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ พระราชโอรสลำดับที่สองในพระบาทสมเด็จนโรดมสีหนุ พระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนของกรุงกัมพูชา ทรงบาดเจ็บพระวรกายสาหัส และพระชายาโอค ปัลลา สิ้นชีพิตักษัย ทำให้ชื่อของกรมพระนโรดมรณฤทธิ์กลับมาอยู่ในหน้าข่าวไทยอีกครั้งหนึ่งหลังจากเงียบหายไปนาน

ผู้ที่ติดตามข่าวการเมืองในกัมพูชามาตั้งแต่ยุคการเลือกตั้งที่สหประชาชาติมาจัดขึ้นในปี 1993 คงจะพอจำกันได้ถึงการแย่งชิงอำนาจกันสองขั้ว ระหว่างสมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์แห่งพรรคฟุนซินเปก (FUNCINPEC) กับฮุนเซนแห่งพรรคชาติประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นที่สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเตโชในภายหลัง และสมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ก็ได้พ่ายแพ้ในการแย่งชิงอำนาจ จนต้องคดีและนิราศจากประเทศไปถึงสองหน

สมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ នរោត្ដម រណឬទ្ធិ ประสูติในฐานะพระองค์เจ้าทับ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหนุ กับเจ้าจอม ผาด กาญล ផាត់-កាញ៉ុល อันเป็นพระสนมคนแรก และเป็นนางรำในราชสำนัก เมื่อทรงพระเยาว์มิได้อยู่กับพระมารดา แต่ได้รับการเลี้ยงดูในราชสำนักเขมรินทร์โดยสมเด็จพระปิตุจฉานโรดม รัศมีโสภณ พร้อมกัับพระภคินีร่วมพระมารดา คือสมเด็จพระเรียมนโรดมบุปผาเทวี ในยุคที่ฝรั่งเศสยังเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองกัมพูชาอยู่

ทรงเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนนโรดมในกรุงพนมเปญ ก่อนจะศึกษาต่อชั้นมัธยมในลีเซ่ เดส์การ์ต์ และข้ามทะเลไปศึกษาในโรงเรียนกินนอนที่เมืองมาร์กแซยล์ ฝรั่งเศส และเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโปรวองซ์ จนเข้าสอบชั้นปริญญาเอกในสาขากฎหมายมหาชนได้

เมื่อเสด็จนิวัติกลับกรุงพนมเปญในปี 1970 พระองค์ทรงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐบาลของพระบิดาสีหนุชั่วครู่หนึ่ง ก่อนจะเกิดรัฐประหารของนายพลลอนนอล ที่อเมริกาสนับสนุนในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน พระองค์หนีเข้าป่าและพยายามจับอาวุธต่อต้านลอนนอล แต่ก็ถูกจับกุมและจำคุกอยู่หกเดือน และถูกเนรเทศไปยังฝรั่งเศสอีกครั้ง พระองค์ใช้เวลาช่วงนี้ทำปริญญาเอกต่อจนสำเร็จการศึกษาในปี 1975 ในช่วงความวุ่นวายของเขมรแดง พระองค์ทรงรับตำแหน่งนักวิจัยและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนของมหาวิทยาลัยโปรวองซ์และใช้ชีวิตอย่างสงบโดยสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญและสังคมวิทยาการเมือง

ในปี 1981 สมเด็จพระนโรดมสีหนุในขณะนั้น พยายามจัดตั้งพรรคแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา หรือ ฟุนซินเปก ขึ้น และเรียกให้กรมพระรณฤทธิ์กลับมาช่วยงาน เนื่องจากเป็นพระราชวงศ์ที่ทรงความสามารถ และมีวุฒิภาวะเหมาะสม รวมถึงไม่มีภาพลบเสียหายจากการบริหารในยุคก่อนสงครามกลางเมือง กรมพระรณฤทธิ์ทรงปฏิเสธพระบิดาในครั้งแรก เนื่องจากทรงรังเกียจการร่วมมือกับเขมรแดงของพระบิดา ก่อนที่สองปีถัดมาจะทรงยอมลาออกจากงานสอนกลับมานำพรรคในกัมพูชา และเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างช่วงเขมรสี่ฝ่ายในปี 1985-1991

สมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ ใช้ทักษะทางภาษา การเมืองและการทูต เข้าร่วมองค์กรสภาสูงสุดแห่งชาติที่สหประชาชาติกำหนด และลงนามในสัญญาสันติภาพปารีส หยุดสงครามเวียดนาม-กัมพูชา และดำเนินไปสู่การเลือกตั้งครั้งแรกของเขมรหลังสงครามกลางเมือง และได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง สถาบันกษัตริย์กัมพูชาได้รับการรื้อฟื้น สมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา

แต่ทว่าชะตาของเจ้ารณฤทธิ์กลับไม่จบอย่างสวยงามเช่นนั้น

ด้วยกลทางการเมืองที่จะขู่แยก 7 จังหวัดชายแดนเวียดนามออกเป็นเอกราช ฮุนเซนใช้อำนาจทางการเมืองและกองทัพบีบบังคับให้ตนได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคู่กับกรมพระนโรดมรณฤทธิ์

รัฐบาลพรรคฟุนซินเปกถูกครหาเรื่องการทุจริต โดยเฉพาะเรื่องการตัดไม้ส่งออก และสินบนจัดซื้อเครื่องบิน โดยแกนนำประท้วงหลักคือสม รังสี และรวมถึงกรมพระนโรดมสิริวุฒิ พระมาตุลาที่ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพราะยอมรับการทุจริตไม่ได้ ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์กับฮุนเซนก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยที่พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหนุ พระบิดาในฐานะพระมหากษัตริย์ กลับไม่ทรงช่วยเหลือใดๆ ในทางการเมือง

กรมพระนโรดมรณฤทธิ์เคยทรงเปรยว่า ระหว่างพระองค์กับพระบิดา ไม่เคยมีความรักฉันพ่อลูกด้วยกันเลย มีแต่งานของประเทศเท่านั้นที่จะทรงวิสาสะด้วยกันได้

ในปี 1997 ฮุนเซนก่อรัฐประหารอ้างความสัมพันธ์กับเขมรแดงของพรรคฟุนซินเปก และการคอร์รัปชัน แต่เบื้องหลังหนึ่งคือ การที่กรมพระรณฤทธิ์สั่งยกเลิกสัมปทานสนามกอล์ฟของรํฐมนตรีในปีกของฮุนเซนที่ขายให้แก่นักธุรกิจมาเลย์ กรมพระรณฤทธิ์ต้องลี้ภัยไปฝรั่งเศส เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 1998 พรรคชาติประชาชนของฮุนเซนก็ได้ชัยชนะเด็ดขาด และปกครองประเทศมายาวนานจนถึงปัจจุบัน

แต่ละครชีวิตของเจ้ารณฤทธิ์ยังไม่จบสิ้น พระองค์กลับมาได้รับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาในปี 1998 ได้ขึ้นเป็นประธานองคมนตรี และเป็นหนึ่งในคณะผู้คัดสรรผู้สืบราชบัลลังก์เมื่อพระบาทสมเด็จฯ นโรดมสีหนุสละราชสมบัติ

พระองค์เคยเป็นหนึ่งในตัวเลือกของการสืบราชสันตติวงศ์ แต่ทรงเลือกอาชีพทางการเมืองมากกว่า และทรงมองว่าพระนิสัยที่พูดจาตรงไปตรงมาขวานผ่าซากไม่เหมาะกับการเป็นกษัตริย์ จึงประกาศสละสิทธิ์การเป็นรัชทายาท แม้ว่าเจ้าสีหนุจะมองว่าพระองค์จะเป็นกษัตริย์ที่ดี และแนะนำให้เจ้าสีหนุพิจารณาพระอนุชาต่างมารดา คือนโรดมสีหมุนีเป็นผู้สืบตำแหน่ง แม้ว่าพระบิดาจะทรงมองว่าอ่อนแอไป และเจ้าสีหมุนีเองก็ไม่อยากรับขัตติยราชภาระก็ตาม

หลังปี 2006 สมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ประสบมรสุมในชีวิตอีกครั้ง พระองค์ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินของพรรค และคบชู้ ซึ่งกฎหมายใหม่ของกัมพูชาขณะนั้นถือเป็นความผิดอาญา หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ในสังกัดฮุนเซนตีข่าวซุบซิบเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นความจริงที่พระองค์ทรงคบหากับโอค ปัลลา นางรำอัปสราคนงามระหว่างที่ยังไม่ทรงหย่าขาดจากพระชายาเอ็ง มารี พระองค์ต้องโทษจำคุก 18 เดือน และทรงลี้ภัยไปยังมาเลเซีย ก่อนที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษแลกกับการยอมรับผลการเลือกตั้งและรัฐบาลฮุนเซนในปี 2008

ระหว่างปี 2008-2015 เจ้ารณฤทธิ์สนับสนุนรัฐบาลฮุนเซน และประกาศเกษียณจากการเมืองหลายครั้ง แต่ในที่สุด ก็กลับมารับตำแหน่งประธานพรรคฟุนซินเปก และเมื่อพรรคสงเคราะห์ชาติของสมรังสีถูกยุบในปี 2017 พรรคฟุนซินเปก ก็ได้รับเอา ส.ส. เดิมของพรรคสงเคราะห์ชาติมาอยู่ร่วม 41 คนจนกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงกลายเป็นเสียงที่กล่าววิจารณ์ต่อต้านฮุนเซนที่เข้มแข็ง เนื่องจากฮุนเซนไม่สามารถใช้ข้อหายอดฮิตอย่างปลุกปั่นยุยง หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเล่นงานได้ง่ายๆ

ก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปของเขมรจะเกิดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม ก็มาเกิดอุบัติเหตุรุนแรงกับพระองค์เสียก่อน