ไม่พบผลการค้นหา
ปมดราม่าเรื่องการจอดรถกีดขวางทางเข้าบ้านผู้อยู่อาศัยนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไปดูกันว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายอย่างไร และควรหาทางออกให้กับปัญหานี้อย่างไร จึงจะดีที่สุด

จากประเด็นร้อนแรงในโซเชียลมีเดีย กรณีหญิงสูงวัย 2 คน ใช้ขวานทุบรถกระบะคันหนึ่งที่จอดขวางบริเวณประตูทางเข้าออกหน้าบ้านของตนเอง จนได้รับความเสียหาย ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม 

หากจะย้อนดูแล้ว เรื่องดราม่าในประเด็นการจอดรถกีดขวางหน้าบ้าน หรือแม้กระทั่งการนำกระถางต้นไม้ สิ่งของต่างๆ มาวางบนถนนหน้าบ้าน นั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยในเว็บไซต์สังคมออนไลน์พันทิป มีประชาชนเข้าไปตั้งกระทู้เกี่ยวกับปัญหาการจอดรถกีดขวางหน้าบ้านผู้อยู่อาศัยจนทำให้เกิดความเดือดร้อน และถามหาวิธีแก้ว่าจะสามารถทำอะไรกับผู้ที่จอดรถขวางหน้าบ้านได้บ้าง ซึ่งในขณะนั้นมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทั้งวิธีแบบละมุนละม่อม เช่นการเจรจา จนถึงวิธีโหดร้ายอย่างขูดรถให้เป็นรอย เป็นต้น

หากเรียงลำดับกระทู้ตั้งแต่ปี 2556 - 2560 มีราว 7 กระทู้ได้ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาในหมู่บ้านจัดสรร ที่เจ้าบ้านมีรถมากกว่า 1 คัน แล้วต้องจอดรถอีกคันหน้าบ้าน ซึ่งบางทีล้ำไปหน้าบ้านคนอื่น สร้างความลำบากในการนำรถเข้า-ออกของเจ้าของบ้าน  

ตัวอย่างกระทู้ในพันทิป โดยสมาชิกที่ให้ชื่อว่า "หมอก้อนหิน" ตั้งกระทู้ชื่อ "เพื่อนบ้านจอดรถขวางหน้าบ้าน ผิดไหม" พร้อมเล่าว่า "เพื่อนบ้านจอดรถขวางหน้าบ้าน ในหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งการจอดไม่ได้จอดขวางทางเข้า-ออกบ้าน แต่จอดบริเวณรั้วหน้าบ้าน และได้มีการพูดคุยไปแล้วซึ่งได้ผลเพียง 2-3 สัปดาห์เท่านั้นก็เอารถกลับมาจอดหน้าบ้านเหมือนเดิม กรณีนี้เจ้าของรถทำผิดไหม?" ซึ่งมีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนหนึ่งบอกว่าเรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับมารยาทและความเกรงใจ (ที่มา : https://pantip.com/topic/35620161) 

นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความอิสระ กล่าวกับทีมข่าว "วอยซ์ออนไลน์" ว่าผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิที่จะจอดรถขวางทางเข้า-ออกบ้านคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เอกชน หรือ ทางสาธารณะ เพราะถือเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 55 (6) ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ

(1) ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง

(2) บนทางเท้า

(3) บนสะพานหรือในอุโมงค์

(4) ในทางร่วมทางแยก

(5) ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ

(6) ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ

(7) ในเขตปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ สามารถร้องทุกข์ดำเนินคดีได้

ส่วนกรณีที่มีเหตุจำเป็นฉุกเฉินไม่สามารถขอความขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐได้ สามารถเคลื่อนย้ายรถด้วยกำลังได้ เพราะเป็นข้อยกเว้นของนิรโทษกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 450 

นายเกิดผล กล่าวว่า กรณีอยู่ในหมู่บ้านแล้วมีคนมาจอดรถหน้าบ้านแต่ไม่ขวางทางเข้า-ออกบ้านนั้นสามารถจอดได้ เพราะไม่ได้สร้างความเดือดร้อน หรือเสียหาย แม้จะทำให้เจ้าของบ้านรู้สึกรำคาญก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถไปดำเนินการอะไรได้

สำหรับแนวทางการแก้ไขหากพบปัญหาดังกล่าวนั้น หากเป็นหมู่บ้านเอกชน ควรพูดคุยกับนิติบุคคลในเรื่องการใช้พื้นที่ส่่วนกลาง ที่ส่งผลทำให้คนอื่นเสียเปรียบ ไม่ได้รับประโยชน์ แต่หากเป็นพื้นที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่เทศกิจสามารถดำเนินคดีได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมีใครร้องเรียน

"ส่วนใหญ่แล้วปัญหาการจอดรถกีดขวางมักเป็นเรื่องของเพื่อนบ้าน คนใกล้ชิด ที่ชอบจอดรถมักง่าย แล้วคุยกันไม่รู้เรื่อง เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นมองว่าควรจะหาทางแก้ไขมากกว่า ถ้ามีหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าอยู่ในหมู่บ้าน ก็ควรให้นิติบุคคลหาทางแก้ไข อาจจะหาที่จอดรถที่เหมาะสม แต่ถ้ามีการพูดคุยกันแล้วตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องฟ้องร้องศาล ไม่ควรใช้กำลังบังคับเพราะจะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา อีกทั้งยังเป็นการเสียเวลาอีกด้วย" นายเกิดผล กล่าว

หมายเหตุ - ภาพประกอบข่าว ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์จริง