สำนักข่าวรอยเตอร์โดยสตีเฟน เจ แอดเลอร์ ประธานและบรรณาธิการใหญ่ของสำนักข่าวออกแถลงการณ์วันนี้เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาปล่อยตัวนักข่าวในสังกัดของตน 2 คนที่ถูกจับกุม โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิสื่อ แถลงการณ์กล่าวว่าผู้สื่อข่าว 2 คนของรอยเตอร์คือวา โลน และจอ โซ อู ต่างเคยรายงานข่าวความเคลื่อนไหวสำคัญๆหลายเรื่องมาแล้ว
อีกด้านสถานทูตสหรัฐฯ ประจำย่างกุ้งมีแถลงการณ์สั้นๆ แสดงความวิตกในกรณีดังกล่าวพร้อมเรียกร้องให้ทางการเมียนมาชี้แจงรายละเอียดของการจับกุมและเปิดโอกาสให้คนทั้งสองได้พบปะกับคนภายนอก “ประชาธิปไตยจะเดินหน้าได้ ผู้สื่อข่าวต้องได้ทำงานของตนอย่างเป็นอิสระ” แถลงการณ์สถานทูตสหรัฐฯระบุ
ก่อนหน้านี้เว็บไซต์ฟรอนเทียร์เมียนมาให้รายละเอียดว่า ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ทั้งคู่ถูกจับกุมในกรุงย่างกุ้งเมื่อคืนวันอังคารที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา จากการค้นตัวพบรายงานของเจ้าหน้าที่ทหาร 2 ฉบับรวมทั้งแผนที่ของสถานที่แห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ ตามกฎหมายว่าด้วยความลับทางทหาร การครอบครองเอกสารลับมีโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุก 14 ปี
สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานในเรื่องการจับกุมซึ่งค่อนข้างสับสนในระยะแรก ฮัฟโพสต์รายงานว่าผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ได้รับเชิญให้ไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่กลับมาและรอยเตอร์ติดตามหาตัวตามสถานีตำรวจไม่ต่ำกว่าสามแห่งก่อนที่จะรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าคนทั้งสองหายไป จนกระทั่งในที่สุดโฆษกของรัฐบาลเมียนมายืนยันว่าพวกเขาถูกจับกุม
ฮัฟฟ์โพสต์รายงานอ้างเอเอฟพีที่ได้ข้อมูลจากกระทรวงกิจการข้อมูลข่าวสารของเมียนมาระบุว่า การจับกุมนักข่าวรอยเตอร์เกิดขึ้นเนื่องจากทั้งสองคนจะส่งเอกสารสำคัญที่เป็นความลับเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ให้กับสำนักข่าวต่างประเทศ แอดเลอร์ บรรณาธิการใหญ่ของรอยเตอร์ระบุด้วยว่า การจับกุมนักข่าวของรอยเตอร์ทั้งสองคนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานของพวกเขาโดยตรง ขณะที่อู มิน จอ ประธานสมาสภาการหนังสือพิมพ์เมียนมาก็แสดงความวิตก และเปิดเผยด้วยว่า ทางการเมียนมากำหนดให้เอกสารของตนถึง 80-90% เป็นความลับของทางราชการ ส่วนสำนักงานตัวแทนสหภาพยุโรปในเมียนมาก็แถลงเช่นกันว่ากำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สื่อหลายรายระบุว่า วา โลนอดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสของเมียนมาไทมส์เพิ่งเข้าทำงานกับรอยเตอร์เมื่อปี 2559 เขาทำรายงานเรื่องการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ทหารในทางตอนเหนือของรัฐยะไข่เรื่อยมา โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกับโรฮิงญา เช่นเดียวกันกับ จอ โซ อูที่ทำหน้าที่สนับสนุนในการทำรายงานที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของทหารในรัฐยะไข่เช่นกัน