ไม่พบผลการค้นหา
ปัตตานี ไม่ได้มีแต่ร้านน้ำชา แต่ยังมีร้านกาแฟที่ได้ไอเดียมาจากแนวคิดวาบิ ซาบิ และการรวมตัวของกลุ่มสถาปนิกในเมืองที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง
RAY_0350.jpg

ร้านกาแฟชั้นเดียวเปิดโล่งจากหน้าร้านสู่หลังร้าน ข้างหน้าเป็นพื้นที่มาจากพาเลทหรือแท่นไม้ที่ใช้วางของ มันคร่อมพื้นที่ห้องไว้ในขนาดมากแค่นั่งกันได้ไม่กี่คน พื้นที่ที่เหลือโรยด้วยกรวด ผนังด้านหน้าเป็นปูนเก่า รั้วด้านหลังเป็นสังกะสีและมีต้นไม้ใหญ่ มองทะลุออกไปพอจะเห็นว่าเป็นแม่น้ำปััตตานี

อาซีซี ยีเจะแว ชายหนุ่มร่างผอมบางผิวเข้มเล่าว่า ร้านอินตออาฟเป็นผลผลิตของเขากับเพื่อนๆที่เพิ่งกลับมาจากการใช้ชีวิตในเมืองกรุงและได้จัดตั้งกลุ่มอินตออาฟ สตูอิโอ พวกเขามองหาที่ทำงานเพื่อผลักดันโปรเจคพิเศษที่ทำร่วมกันนอกเหนือจากงานประจำของแต่ละคนหลังจากหาอยู่พักใหญ่ก็ได้พบบ้านว่างบนถนนปัตตานีภิรมย์ แต่เมื่อเจ้าของบ้านเปิดให้ดูนั้นเขาพบว่ามันมีสภาพเป็นเหมือนบ้านร้าง ด้านบนกลายเป็นบ้านนก ส่วนด้านล่างเป็นที่จอดรถ พวกเขาจ้างคนถางด้านหลังที่รกไปด้วยต้นไม้ก่อนที่จะพบว่ามันอยู่ติดริมน้ำจึงได้ขอเช่า และสุดท้ายร้านกาแฟผสมออฟฟิสและแกลเลอรีจึงเกิดขึ้นภายใต้ชื่ออินตออาฟ คาเฟแอนด์แกลเลอรี In_t_af Cafe & Gallery

RAY_0313.jpg

อาซีซีเล่าว่า การทำอินตออาฟนั้นพวกเขาตระหนักถึงจุดอ่อนของที่ตั้งว่าอยู่ห่างออกไปจากศูนย์กลางกิจกรรมในตัวเมืองปัตตานีซึ่งกระจุกตัวอยู่ในวงแคบๆ แถบหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แถมเป็นย่านที่เงียบเชียบไม่ค่อยมีคน แต่เขาก็ต้องแปลกใจเมื่อพบว่า มีลูกค้าแวะเวียนไปเป็นประจำไม่ได้ขาด ซึ่งถือว่าได้รับความนิยมทีเดียวสำหรับในเมืองที่ร้านกาแฟแนวใหม่กำลังผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด บางร้านหรูราวกับยกออกมาจากห้างสรรพสินค้า แทบทุกร้านมีเรื่องราวดึงดูด ไม่ว่าการตกแต่งเต็มพิกัดด้วยของเก่า บางร้านเสิร์ฟกาแฟแถมด้วยงานศิลปะผลงานเจ้าของร้าน แต่ละแห่งล้วนสะท้อนท่วงทำนองของคนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาลงทุนเองไม่ต่างไปจากร้านอินตออาฟซึ่งแทบจะไม่มีสีสรรใดๆยกเว้นสีของวัสดุตามที่มันเป็น เช่นสีเก่าขึ้นสนิมของสังกะสี ม้านั่งไม้ ที่นั่งปูนกับพื้นกรวดขาว ไม่มีเครื่องปรับอากาศ มันเป็นการทำร้านที่ดูเหมือนจะใช้เงินไม่มากทว่าน่าจะต้องอาศัยความคิดไม่น้อยเพื่อให้มันออกมาดูดีมีรสนิยม คนออกแบบเล่าว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากญี่ปุ่น

“ผมเคยอ่านงานเขียนของญี่ปุ่น วาบิ ซาบิ เขาพูดถึงความงามของวัสดุที่ผ่านการใช้งาน เช่นไม้ที่ถูกฝนเซาะ มีร่องไม้ พูดถึงอายุของฝนที่เซาะไม้นั้น พูดถึงสังกะสีที่เป็นสนิมแล้ว มันมีเรื่องราวอยู่ มันมีความงามอยู่ วาบิ ซาบิ เป็นวิถีกินชาส่วนหนึ่ง มันพัฒนาไปถึงอาคาร กินชาต้องเป็นแบบนี้ ถ้วยชาต้องเป็นอย่างนี้ ขนาดกาชาที่บุบแล้วเขาว่ามันสวย มันมีเรื่องราวของการใช้งาน แต่เขาจะเน้นเรื่องความสะอาด”

เปิดดูข้อมูลเราจะพบคำอธิบายเพิ่มเติมว่า วาบิ ซาบิ wabi-sabi เป็นแนวคิดที่เกิดในญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 15 มันเป็นปฏิกิริยาโต้กลับต่อวิธีคิดที่ยึดติดกับความหรูหราฟุ่มเฟือย วาบิ ซาบิเน้นการเข้าถึงความงามของความไม่สมบูรณ์แบบ สิ่งที่ติดดินและความ“แท้” มันเป็นความคิดที่อยู่ตรงข้ามกับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม คือการมองเห็นความงามของภูมิทัศน์ขมุกขมัวในหน้าหนาว ของอาคารเก่าที่รกร้าง และผลของกาลเวลาที่ทิ้งไว้กับสิ่งต่างๆ คือการมองเห็นความงามในสิ่งที่ดูเหมือนจะน่าเกลียดและใกล้สิ้นอายุขัย อาซีซีใช้แนวคิดนี้ในการทำร้าน

“ทุกอย่างที่เห็น อย่างสังกะสีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นของเดิมหมด ผมเพียงแต่มาฉีดน้ำทำความสะอาดมัน ผนังตรงนี้ผมแทบจะไม่ต้องทำอะไรมันเลย ... จะมีก็ส่วนของพาเลทและกรวดที่ทำใหม่ แต่เราก็พยายามทำไม่ให้มันดูโดด ม้านั่งก็พยายามใช้วัสดุแบบเดียวกัน เรื่องของการทำให้เป็นแพทเทิร์นเดียวกันก็เป็นศาสตร์หนึ่งของสถาปัตยกรรม” เขาอธิบาย “เราสร้างสเปซให้คนได้มานั่ง ได้มาสัมผัสลมที่พัดผ่าน สัมผัสเสียงของนกที่ได้ยิน ไม่ใช่ว่ามาอยู่ในห้องห้องหนึ่ง ห้องแอร์เย็นเจี๊ยบ แล้วคุณไม่ได้ดูไม่ได้สัมผัสอะไรเลย”

RAY_0361.jpg

หลังเปิดร้านไม่นาน พวกเขาก็ได้กลุ่มมลายูลิฟวิ่งซึ่งก็เป็นกลุ่มสถาปนิกสามจังหวัดเช่นกันตามเข้ามาอยู่ในย่านนี้บ้าง บ้านว่างข้างๆ อินตออาฟได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสถานจัดวงานใหม่ของกลุ่มมลายูลิฟวิ่ง งานแรกก็คือการจัดแสดงภาพผลงานของช่างภาพในพื้นที่ ตามมาด้วยงานเทด ทอล์ค อาซีซีเชื่อว่า การจับมือกันภายใต้กลุ่มมลายูลิฟวิ่งเป็นการทำงานกันแบบเป็นทีมที่ใหญ่ขึ้นเพราะกลุ่มมลายูลิฟวิ่งเป็นกลุ่มสถาปนิกที่มีสมาชิกร่วมสามสิบคน จึงเชื่อได้ว่าจะสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่างตามมา

หลายคนมีคำถามว่า การเข้าไปอยู่ในย่านของคนจีนนั้นพวกเขาจะได้รับการต้อนรับอย่างไร เพราะภาพที่ออกมาจากเวลากว่าสิบปีของความรุนแรงทำให้ผู้คนเข้าใจว่าคนต่างกลุ่มจะอยู่ร่วมกันยาก อาซีซีเล่าว่าเขาได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านรอบข้างเพราะคนในย่านนี้อยู่กับมุสลิมอยู่แล้ว และการเข้ามาของพวกเขาก็ไม่ใช่การมาแข่งขันเพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางธุรกิจในขณะที่คนเชื้อสายจีนในพื้นที่ย่านเมืองเก่าเป็นกลุ่มคนที่มีเงินและมีธุรกิจอยู่แล้วพวกเขาจึงไม่ใช่คู่แข่ง ในความรู้สึกของเขา การก้าวเข้าไปในพื้นที่นี้จึงเสมือนหนึ่งเป็นการทำความรู้จักกัน ในขณะที่ตัวเขาเองและเพื่อนๆได้ประสบการณ์อย่างมากทั้งในการทำงาน การเรียนรู้เรื่องธุรกิจ ได้เพื่อนกลุ่มใหม่และยังได้โอกาสมีงานเพิ่ิม

skywalkcap1.png

อาซีซีออกแบบงานอีกหลายชิ้น บางชิ้นเป็นของใหม่มากในเมืองเช่นการสร้างสกายวอล์คที่ผู้ว่าจ้างคือเทศบาลเมืองต้องการให้ผู้คนได้เห็นทั้งทะเล ป่าโกงกาง ตลอดจนพื้นที่ใกล้เคียง ในขณะที่ได้ความรู้สึกผจญภัยผสมผสานกันไป ทางเดินยกระดับสูงขนาดอาคารสามชั้นจึงปรากฎตัวขึ้นหลังสวนสาธารณะริมทะเลด้วยสภาพวัสดุก่อสร้างที่โปร่งมองเห็นพื้นด้านล่างตลอด เราจึงได้เห็นภาพผู้คนที่ขึ้นไปเดินค่อยๆเกาะราวสองข้างด้วยความหวาดเสียวเพราะทางเดินที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า “ลอยฟ้า” มันเป็นงานที่สาธารณะจับต้องได้นอกเหนือไปจากการออกแบบบ้าน ฯลฯ

skywalkcap3.png

ในระหว่างนี้ร้านอินตออาฟก็ได้เพื่อนใหม่เพิ่มอีกหลายร้าน มันทำให้อาซีซีเชื่อว่า ร้านอินตออาฟมีส่วนสำคัญในการฟื้นคืนชีวิตของย่านนี้ เพราะร้านของเขาเป็นร้านแรกที่เปิดขึ้นเมื่อสามปีที่แล้วในย่านที่ผู้คนไม่ค่อยจะสนใจ สภาพที่เคยเงียบสงบจึงเริ่มมีความเคลื่อนไหว แม้แต่ทางจังหวัดก็พยายามจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าโดยที่กลุ่มมลายูลิฟวิ่งมีส่วนร่วมเช่นเดียวกันกับคนปัตตานีเชื้อสายจีนในย่านดังกล่าว

“ผมมาทำที่นี่ เราได้รู้ว่า เรามาทำได้แค่หลังเดียว ที่เหลือมันจะเคลื่อนไปของมันเอง มันอยู่ที่เงื่อนไขของความสำเร็จ เช่นเราเปิดแล้วคนมาเยอะ ทำไมคนถึงมาเยอะ คนก็เริ่มพูดถึง คนก็มาไม่จำเป็นต้องอยู่ในแหล่งใกล้ๆกับสถานที่ที่คนเยอะ ถ้าเราสร้างบรรยากาศให้คนอยากจะมาได้ เขาก็มากัน ก็ทำให้เกิดเมืองเก่าที่เริ่มมีชีวิตขึ้น อันนี้คือดีไซน์ผังเมืองที่ผมไม่ต้องไปขีดเส้นอะไรมากมาย ผมแค่สร้างสเปซเล็กๆ แล้วสามารถให้คนปัตตานี หรือในสามจังหวัดได้รู้ว่ามีสเปซแบบนี้อยู่ คนก็มาทำให้เกิดเมืองขึ้นมาใหม่”

RAY_0343.jpg