ไม่พบผลการค้นหา
ไต้หวันเดินหน้าแก้วิกฤตขยะ ด้วยการออกมาตรการคุมเข้มบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สาเหตุหลักขยะพลาสติกทั่วโลก โดยตั้งเป้าลดปริมาณขยะพลาสติกให้กลายเป็นศูนย์ภายในปี 2030

หลังจากรัฐบาลไต้หวันเดินหน้านโยบายพลังงานสีเขียว ปลูกฝังแนวคิดการแยกขยะแบบเคร่งครัด ตลอดจนให้ความสำคัญกับการรีไซเคิล จนกระทั่งสื่อสหรัฐฯ 'เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล' ยกย่องให้ไต้หวันเป็นมหาอำนาจการรีไซเคิล เนื่องจากปริมาณขยะมากกว่า 55% สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

พร้อมกับออกมาตรการให้ผู้บริโภคต้องเสียเงินเพิ่ม หากต้องการใช้ถุงพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต

โดยที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันได้ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมาเป็นอันดับต้นๆ จึงพยายามผลักดันเรื่องการลดมลพิษด้วยวิธีจำกัดการใช้ธูปตามวัดวาอาราม และเทศกาลต่างๆ เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน 

และล่าสุด นโยบายการกำจัดของเสียบนเกาะไต้หวันก็เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยสื่อต่างประเทศรายงานว่า ทางการไต้หวันเตรียมแผนล้างบางบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยผุดมาตรการห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก ถ้วยชามพลาสติก และถุงพลาสติก ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลก 

มาตรการใหม่บังคับให้บรรดาร้านอาหารเชนชื่อดัง ต้องยกเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกให้ได้ภายในปี 2019 (พ.ศ. 2562) ก่อนขยายขอบเขตมาตรการออกไปทุกร้านอาหารทั่วประเทศภายในปี 2020 และตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มหากต้องการใช้หลอดพลาสติก และภาชนะพลาสติก ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับการพยายามบอกลาถุงพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ จากนั้นในปี 2030 ทางรัฐบาลจะดำเนินการห้ามใช้วัสดุพลาสติกใช้ครั้งเดียวแบบเคร่งครัด ตามโรดแมปของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือ EPA (Government’s Environmental Protection Administration) ไต้หวัน


"เราตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2030 ต้องบอกลาขยะพลาสติก ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางทะเล และเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร จนส่งผล กระทบต่อสุขภาพมนุษย์" ไล หยิง-หยิง เจ้าหน้าที่ EPA กล่าว


นอกจากนี้ มีข้อมูลจาก EPA เพิ่มเติม ว่าปัจจุบันคนไต้หวันใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ย 700 ใบต่อคนต่อปี ขณะที่ภาครัฐมีเป้าหมายลดจำนวนตัวเลขลงให้เหลือ 100 ใบ ภายในปี 2025 และกลายเป็นศูนย์ภายในปี 2030