จากกรณีเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561 นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ได้ลงนามในประกาศกรมศุลกากร 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศที่ 59/2561 เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติการศุลกากรในการตรวจปล่อยผู้โดยสารและหีบห่อสัมภาระระหว่างสนามบินภายในประเทศ โดยวิธีการ Check Through” ซึ่งใช้ในกรณีที่ผู้โดยสารเปลี่ยนเที่ยวบิน หรือโดยสารเที่ยวบินเดิม ระหว่างสนามบินในประเทศ เพื่อผ่านเข้ามาในหรือออกนอกราชอาณาจักร และ ประกาศที่ 60/2561 เรื่อง “การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน” ซึ่งใช้ในกรณีสัมภาระผู้โดยสารที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับผู้โดยสารให้เป็นไปตามหลักสากล
ล่าสุดวันนี้ (8 มี.ค.) นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร และโฆษกกรมศุลกากร ชี้แจง การสำแดงอุปกรณ์ต่างๆ เช่น นาฬิกา กล้อง โน็ตบุ๊ก ไม่ได้บังคับ ขึ้นอยู่กับตามสมัครใจ หากเป็นผู้โดยสารทั่วไปเดินทาง และนำติดตัวออกไปอย่างละ 1 ชิ้น ไม่ต้องสำแดง ไม่มีบทลงโทษ แต่หากมีการขนไปจำนวนมากด้วยวิชาชีพ เช่น นักข่าว ช่างภาพ หรือ ผู้ที่ต้องนำอุปกรณ์ออกไปจัดงานแสดงสินค้าต่างประเทศ ให้ทำเอกสารสำแดงอุปกรณ์เพื่อความสะดวกในขากลับเข้าประเทศ
ส่วนการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดภาษี หากมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท นำเข้าประเทศได้ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากเกิน 20,000 บาท เข้าข่ายต้องเสียภาษี ยกเว้น สุรา และ ยาสูบ ที่นำเข้าได้ตามปริมาณที่กำหนดเท่านั้น
โฆษกกรมศุลกากร ยอมรับว่า ถ้อยคำในประกาศทำให้ประชาชนสับสนและเข้าใจผิด จะไปพิจารณาแก้ไขโดยเร็วที่สุด
โฆษกกรมศุลกากร ย้ำว่า เนื้อหาของประกาศดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่กรมศุลกากรได้กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่โดยเหตุที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ได้ถูกยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 จึงจำเป็นที่จะต้องออกประกาศกรมศุลกากรฉบับใหม่ เพื่อให้แนวทางปฏิบัติยังคงมีผลบังคับใช้เช่นเดิม
อ่านเพิ่มเติม: